บททดสอบครั้งใหญ่ ‘รัฐบาลทหารเมียนมา’ ปะทะพันธมิตรกบฏ เสี่ยงประเทศแตกสลาย
พันธมิตรกบฏรวมตัว บุกโจมตีทางตอนเหนือเมียนมา ซึ่งเป็นพื้นที่รัฐฉาน ติดกับจีน นับเป็นปฏิบัติการครั้งใหญ่ สั่นคลอนอำนาจมิน อ่อง หล่าย สร้างความเสียหายให้ประเทศทุกด้าน
Key of Points
- ประเทศเมียนมาเสี่ยงแตกสลาย หากไม่สามารถจัดการกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลงได้
- เหตุการณ์นี้ส่งผลกระทบการค้าชายแดน โดยเฉพาะที่เมืองชิงชเวห่อ และเมืองมูเซอ ติดชายแดนของรัฐฉาน ปกติมีมูลค่ามากกว่า 1 ใน 3 ของการค้าเมียนมากับเพื่อนบ้านที่มีมูลค่าอยู่ราว 5.32 พันล้านดอลลาร์
- ขณะนี้ มีผู้พลัดถิ่นจากรัฐฉานข้ามยังประเทศจีน แล้วราว 90,000 คน ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่และโจมตีทางอากาศต่อเนื่อง
- การรุกรานครั้งล่าสุด นำโดยกลุ่มภราดรภาพ ซึ่งประกอบด้วยกองทัพอาระกัน กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง ทั้งนี้ จะไม่อาจดำเนินการได้หากไม่มีปักกิ่ง
เหตุการณ์สู้รบที่ดุเดือด ได้เกิดขึ้นใกล้ชายแดนเมียนมาติดกับจีน พื้นที่ตอนเหนือของรัฐฉาน ที่กลุ่มชาติพันธุ์ที่ติดอาวุธและทรงอิทธิพล 3 กลุ่มได้รวมตัวกัน หวังนำการโจมตีเพื่อยึดครองเมืองและด่านทหารหลายแห่ง ในช่วงไม่กี่สัปดาห์ผ่านมา
สถานการณ์เช่นนี้ ผู้บัญชาการทหารที่ได้รับการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารเมียนมา ถึงหลุดปากพูดออกมาว่า ประเทศมีความเสี่ยงแตกสลาย หากไม่สามารถจัดการกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบลงได้
รายได้การค้าชายแดนดิ่งกว่าครึ่ง
ภายใต้สถานการณ์ไม่สงบในเมียนมา และมีแนวโน้มย่ำแย่ลง แต่ทำไมกระทรวงการต่างประเทศจีนแถลงในวันศุกร์ (10 พ.ย.) ยืนยันว่า “ปักกิ่งรับประกันความมั่นคง และเสถียรภาพพื้นที่ชายแดนที่ติดกับเมียนมา พร้อมเรียกร้องทุกฝ่ายหยุดสู้รบทันที”
นักการทูต และนักวิเคราะห์หลายคน พูดเสียงเดียวกันว่า กลุ่มกบฏต่อต้านรัฐบาลเมียนมาได้รวมตัวกันก่อปฏิบัติการอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน โดยได้ทำการบุกรุกด่านทหารถึง 100 แห่ง
ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมายืนหยัดจะปราบปรามกลุ่มพันธมิตรที่ก่อความไม่สงบในพื้นที่ ซึ่งสถาบันสันติภาพแห่งสหรัฐ ชี้ว่าจะทำให้เมียนมาสูญรายได้ประมาณ 50% ของการค้าในพื้นที่ชายแดนและแหล่งรายได้เพื่อเก็บภาษีที่สำคัญ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานอ้างข้อมูลกระทรวงพาณิชย์เมียนมาว่า การค้าตามแนวชายแดนที่เมืองชิงชเวห่อ และเมืองมูเซอ ติดชายแดนของรัฐฉาน ซึ่งตั้งแต่เดือนเมษายน - ต้นเดือนพฤศจิกายนปีนี้ มีมูลค่ามากกว่า 1 ใน 3 ของการค้าเมียนมากับเพื่อนบ้านที่มีมูลค่าอยู่ราว 5.32 พันล้านดอลลาร์
นักวิเคราะห์ต่างชาติชี้ว่า การค้าประมาณมูลค่า 1 พันล้านดอลลาร์ มาจากก๊าซธรรมชาติที่ส่งผ่านท่อจากเมืองมูเซอไปยังจีน
ชะตากรรมผู้ผลัดถิ่นเกือบแสน
องค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุเมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา มีผู้พลัดถิ่นจากรัฐฉานข้ามยังประเทศจีน แล้วราว 90,000 คน ท่ามกลางเสียงปืนใหญ่และโจมตีทางอากาศต่อเนื่อง
“สถานการณ์นี้ส่งสัญญาณที่สำคัญมาก” นักการทูตท่านหนึ่งกล่าวถึงกลุ่มต่อต้านฯ ที่ทำการโจมตีที่เรียกว่าเป็น “ปฏิบัติการ 1027”
“หม่อง สงคา” ผู้นำกองทัพปลดปล่อยประชาชนเบอร์มา กล่าวกับรอยเตอร์ว่า กลุ่มพันธมิตรกบฏใช้เวลามากกว่าหนึ่งปี วางแผนเตรียมเข้าโจมตีกองทัพที่มีอาวุธที่เหนือกว่า
ปฏิบัติการดังกล่าวถือเป็น “การปฏิวัติครั้งใหญ่ที่สุด และสร้างความสำเร็จมากที่สุด นับตั้งแต่ประชาชนได้รวมตัวกัน เพื่อเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลทหารที่ทำการรัฐประหาร โค่นล้มรัฐบาลที่มาจากเลือกตั้ง เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564
“กลุ่มต่อต้านรัฐบาลทหารเมียนมา กำลังทำงานอย่างใกล้ชิดเพื่อโจมตีกองทัพอย่างต่อเนื่อง” ที่ปรึกษาฝ่ายบริหารพลเรือน หรือที่รู้จักในชื่อ รัฐบาลเอกภาพแห่งชาติ ซึ่งเป็นกลุ่มสนับสนุนการโจมตีในเมืองต่างๆ ของเขตสะกายกล่าว และย้ำว่า โอกาสนี้จะไม่มีวันกลับมาอีก หากไม่เดินหน้าเต็มกำลัง
ภายใต้เงา ‘จีน’
“การโจมตีของพันธมิตรกบฏได้ส่งแรงกดดันต่อพลเอกอาวุโสมิน อ่อง หล่าย ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมามากขึ้น ซึ่งเดิมเผชิญกับมาตรการคว่ำบาตรทางเศรษฐกิจ ขาดแคลนเงินตราต่างประเทศ และวิกฤติการทุจริตที่เชื่อมโยงกับคนใกล้ชิดอยู่ก่อนแล้ว” นักการทูตท่านหนึ่งที่ไม่ประสงค์ออกนาม กล่าว
ความสัมพันธ์ระหว่างเมียนมากับจีน เกิดความตึงเครียดจากปัญหาชายแดน และการรุกรานครั้งล่าสุด นำโดยกลุ่มภราดรภาพ ซึ่งประกอบด้วยกองทัพอาระกัน กองทัพพันธมิตรประชาธิปไตยแห่งชาติเมียนมา และกองทัพปลดปล่อยแห่งชาติตะอาง ทั้งนี้ จะไม่อาจดำเนินการได้หากไม่มีปักกิ่ง
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา ปักกิ่งกดดันเมียนมาให้ปราบปรามกลุ่มอาชญากรที่ดำเนินกิจการโทรคมนาคมขนาดใหญ่ และหลอกลวงเหยื่อเพื่อร่วมกับกลุ่มแก๊งซ์คอลเซ็นเตอร์
แต่ทางกลับกัน จีนก็พยายามปกป้องการลงบทุนทางเศรษฐกิจที่สำคัญๆในพื้นที่ชายแดน และยังได้เรียกร้องให้หยุดยิง โดยชี้ว่า มีชาวจีนได้รับบาดเจ็บจากการปะทะสู้รบระหว่างทหารเมียนมากับพันธมิตรกบฏที่ลุกลามข้ามชายแดนมา
ผลลัพธ์ใช้กำลังเด็ดขาด VS สู้รบยืดเยื้อ
ส่วนแนวโน้มที่รัฐบาลทหารเมียนมาจะแผ่วอำนาจและกำลังลงหรือไม่ นักการทูตรายเดิมมองว่า ความเป็นไปได้ที่อำนาจกองทัพจะล่มสลายคงไม่เกิดขึ้นในเร็วๆนี้ แต่ที่กลุ่มต่อต้านฯ จะเข้ายึดพื้นที่ในเมืองต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งมีความเป็นไปได้ที่สถานการณ์จะยืดเยื้อ บั่นทอนความมั่นคง และโอกาสการพัฒนาเศรษฐกิจไปเรื่อยๆ
“ริชาร์ด ฮอร์ซี” ที่ปรึกษาอาวุโส International Crisis Group ของเมียนมา กล่าวว่า หากรัฐบาลทหารเมียนมาใช้กำลังตอบโต้พันธมิตรกบฏอย่างเด็ดขาด ก็เป็นไปได้ที่เมียนมาจะเปิดเส้นทางการค้าไปยังจีนอีกครั้ง หากไม่เป็นเช่นนั้น นี่จะเป็นสัญญาณความอ่อนแออย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน