'ปฏิวัติห้องน้ำจีน' ทำไม่ง่าย แม้ 'สี จิ้นผิง' มีดาบอาญาสิทธิ์ในมือ

'ปฏิวัติห้องน้ำจีน' ทำไม่ง่าย แม้ 'สี จิ้นผิง' มีดาบอาญาสิทธิ์ในมือ

เมื่อจีนตั้งเป้า “ปฏิวัติห้องน้ำสาธารณะ” ทั้งประเทศ เพื่อลบล้างภาพจำห้องน้ำอันสกปรกและไม่มีประตูปิด ให้เป็นห้องน้ำที่สะอาดและหาง่าย แต่การขับเคลื่อนนโยบายดังกล่าวไม่ใช่เรื่องง่าย โดยเฉพาะในย่านชนบท

Key Points

  • ในปี 2536 ชาวจีนในชนบทที่เข้าถึงห้องน้ำสะอาดของรัฐบาลมีน้อยกว่า 8% แต่ภายในปี 2557 สัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 ใน 4 แทน
  • รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งพยายามเร่งขยายห้องน้ำให้ได้ตามเป้าของส่วนกลาง โดย “เน้นปริมาณและความรวดเร็ว” เพื่อเอาใจส่วนกลาง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป คุณภาพจริงก็เผยโฉมออกมา
  • ในปี 2564 ซินหัวรายงานว่า ห้องน้ำ 80,000 ห้องที่อัปเกรดใหม่ในเสิ่นหยางโดยใช้งบประมาณ 100 ล้านหยวน มี 50,000 ห้องถูกเลิกใช้ เพราะการออกแบบที่ผิดพลาด


สมัยก่อน “ห้องน้ำสาธารณะ” ในจีน ถูกจัดว่ามีคุณภาพแย่เป็นอันดับต้น ๆ ของโลกและหายาก อีกทั้งภาพเหล่านี้เมื่อออกสู่สายตาชาวต่างชาติ ก็ไม่เป็นผลดีต่อภาพลักษณ์จีน ด้วยเหตุนี้ สี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีนจึงประกาศลุยนโยบาย “ปฏิวัติห้องน้ำจีน” ในปี 2558 ด้วยงบประมาณหลายพันล้านหยวน เพื่อปรับปรุงห้องน้ำจีนให้สะอาด มีมาตรฐานและครอบคลุมทั่วประเทศ

ผลปรากฏว่า นับจากนั้นมา คุณภาพห้องน้ำจีนเริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ โดยในปี 2536 ชาวจีนในชนบทที่เข้าถึงห้องน้ำสะอาดของรัฐบาลมีน้อยกว่า 8% แต่ภายในปี 2557 สัดส่วนดังกล่าวได้เพิ่มขึ้นเป็น 3 ใน 4 แทน

ในปัจจุบัน บริเวณย่านการท่องเที่ยวและศูนย์กลางคมนาคมของจีน ห้องน้ำได้เปลี่ยนจากส้วมหลุมที่คนจีนเคยชิน เป็นส้วมชักโครกตามสากลแล้ว บางแห่งมีการตกแต่งอย่างสวยงามจนน่าใช้บริการ บางที่ล้ำหน้าในขั้นที่สามารถใช้ระบบสแกนใบหน้า เพื่อเอากระดาษชำระ

\'ปฏิวัติห้องน้ำจีน\' ทำไม่ง่าย แม้ \'สี จิ้นผิง\' มีดาบอาญาสิทธิ์ในมือ - ห้องน้ำสาธารณะในเมืองและย่านท่องเที่ยวของจีนได้เปลี่ยนโฉมใหม่ (เครดิต: Xinhua/Zhang Bowen) -

นอกจากนั้น ห้องน้ำในชนบทมากกว่า 50 ล้านห้องถูกปรับปรุงให้ดีขึ้นในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาด้วยเงินอุดหนุนจากรัฐบาล และรัฐบาลตั้งเป้าว่า จะทำให้ห้องน้ำในชนบททุกแห่งถูกสุขอนามัยภายในสิ้นทศวรรษนี้

อย่างไรก็ตาม สำนักข่าว “The Economist” รายงานว่า แม้ว่าสี จิ้นผิงจะมีดาบอาญาสิทธิ์ในมือ และมีความตั้งใจอันแรงกล้าที่จะพลิกโฉมห้องน้ำจีน แต่เมื่อนโยบายจาก “ส่วนกลาง” ถูกถ่ายทอดลงมาสู่ “รัฐบาลท้องถิ่น” โดยเฉพาะใน “ย่านชนบท” ก็พบปัญหาและความท้าทายดังต่อไปนี้

\'ปฏิวัติห้องน้ำจีน\' ทำไม่ง่าย แม้ \'สี จิ้นผิง\' มีดาบอาญาสิทธิ์ในมือ

- ห้องน้ำในย่านชนบทบางแห่งของจีน (เครดิต: beibaoke) -

  • 1. ห้องน้ำที่สร้างไม่ได้มาตรฐาน

ในเอกสารวิชาการหรือแม้ในสื่อทางการจีน รายงานว่า ในขณะที่ห้องน้ำในย่านร่ำรวยกว่านั้นมีคุณภาพ แต่ห้องน้ำในย่านที่ยากจนกว่ากลับสร้างไม่ได้มาตรฐาน เช่น ช่วงการประชุมเดือนที่แล้วในเมืองกว่างเหยียน มณฑลเสฉวน เจ้าหน้าที่ได้รับแจ้งว่าห้องน้ำสร้างใหม่บางแห่งใช้งานไม่ได้ อีกทั้งมีคลิปสัมภาษณ์ของคนในหมู่บ้านมณฑลหูหนานที่ตั้งคำถามว่า เจ้าหน้าที่เร่งสร้างห้องน้ำที่ไม่ได้คุณภาพเหล่านี้ เพื่อเอาหน้าหรือไม่

นอกจากนั้น เหล่าเกษตรกรต่างตำหนิรัฐบาลท้องถิ่นที่สร้างห้องน้ำไม่มีคุณภาพ ใช้ท่อพลาสติกอันบอบบางซึ่งภายนอกอาจดูดี แต่เมื่อเข้าไปตรวจสอบจริง กลับพบว่าไม่ได้มาตรฐาน

สิ่งนี้สะท้อนว่า รัฐบาลท้องถิ่นบางแห่งพยายามเร่งขยายห้องน้ำให้ได้ตามเป้าของส่วนกลาง โดย “เน้นปริมาณและความรวดเร็ว” เพื่อเอาใจรัฐบาลกลาง แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไป คุณภาพจริงก็เผยโฉมออกมา

  • 2. แบบห้องน้ำไม่เหมาะกับพื้นที่

ในระบอบการปกครองจีน เมื่อรัฐบาลกลางสั่งการลงมา จะมาพร้อมกำหนดเส้นตายและตัวชี้วัดที่ท้องถิ่นต้องทำให้ได้ แม้การปกครองที่เด็ดขาดของจีนจะผลักดันประเทศให้เจริญในหลายด้าน และขับเคลื่อนนโยบายได้อย่างรวดเร็ว แต่ขณะเดียวกัน ความยืดหยุ่นในแผนก็ทำได้ยาก จนเกิดห้องน้ำที่ไม่เข้ากับพื้นที่ขึ้นมา

ดังจะเห็นจากเดิมนั้น ห้องน้ำจีนเป็นแบบ “ส้วมนั่งยอง” ที่ชาวจีนคุ้นเคย ต่อมาส่วนกลางต้องการให้ปฏิวัติห้องส้วม เป็นแบบ “ชักโครก” เหมือนสากล ท้องถิ่นจึงน้อมรับด้วยการขยายส้วมแบบชักโครก แม้จะไม่เข้ากับภูมิประเทศบางพื้นที่ก็ตาม เช่น ในพื้นที่อันหนาวเหน็บอย่าง เสิ่นหยาง เมืองเอกของมณฑลเหลียวหนิง มีห้องน้ำชนบทจำนวนมากที่สร้างใหม่ในปี 2559-2562 ใช้งานไม่ได้ เพราะน้ำในท่อจับตัวเป็นน้ำแข็ง

ในปี 2564 สำนักข่าวซินหัวรายงานว่า ห้องน้ำ 80,000 ห้องที่อัปเกรดใหม่ในเสิ่นหยางโดยใช้งบประมาณ 100 ล้านหยวน มี 50,000 ห้องถูกเลิกใช้ เพราะการออกแบบที่ผิดพลาด และการบำรุงรักษาที่ไม่เพียงพอ

\'ปฏิวัติห้องน้ำจีน\' ทำไม่ง่าย แม้ \'สี จิ้นผิง\' มีดาบอาญาสิทธิ์ในมือ

- ห้องน้ำ 80,000 ห้องที่อัปเกรดใหม่ในเสิ่นหยางโดยใช้งบประมาณ 100 ล้านหยวน มี 50,000 ห้องถูกเลิกใช้ (เครดิต: 新华) -

นอกจากนั้น เนื่องจากผู้สูงอายุชาวจีนมักจะคุ้นเคยกับส้วมนั่งยอง แม้มีส้วมชักโครกเข้ามา แต่ความไม่คุ้นเคยก็ทำให้พวกเขาหันกลับไปใช้ส้วมนั่งยองอีก ขณะที่คนหนุ่มสาวไม่น้อยได้อพยพจากชนบทไปในเมืองเพื่อหางาน กลายเป็นว่าในย่านชนบท ไม่ค่อยมีใครใช้งานส้วมแบบใหม่ บางคนยังมองว่าส้วมแบบใหม่นี้เหมือนเป็นสิ่งประดับมากกว่า ทั้งที่พื้นที่บางแห่งไม่จำเป็นต้องสร้างส้วมเป็นแบบสากลก็ได้

  • 3. งบไม่เพียงพอและใช้ผิดวัตถุประสงค์

เมื่อส่วนกลางให้งบสนับสนุนห้องน้ำใหม่แก่ส่วนท้องถิ่น หลังจากก่อสร้างไปแล้ว งบอุดหนุนจากส่วนกลางไม่เพียงพอ ทางท้องถิ่นจึงต้องออกเงินส่วนที่เหลือเพิ่ม ยิ่งหากเป็นมณฑลที่มีประชากรยากจนที่สุดอย่างหูหนาน โครงการบูรณะห้องน้ำใหม่ก็เป็นอันต้องหยุดชั่วคราวไว้ก่อน ตามข้อมูลในนิตยสาร Journal of Smart Agriculture ของจีนที่ตีพิมพ์ในเดือน ก.ค. ปีนี้

ในมณฑลยูนนาน เมื่อเจ้าหน้าที่รัฐบาลกลางเข้าตรวจสอบการใช้งบประมาณใน “โครงการปฏิวัติห้องน้ำ” และประกาศผลตรวจสอบในเดือน ก.ค. พบว่า มีเกือบ 330,000 ครัวเรือนไม่ได้เงินเต็มจำนวนในการปรับปรุงห้องน้ำ และงบประมาณมากกว่า 4.5 ล้านหยวนที่ถูกระบุว่า “ใช้เพื่อการพัฒนาห้องน้ำ” แต่แท้จริงแล้ว กลับถูกนำไปใช้ในกิจกรรมอื่นแทน

จากปัญหา 3 ข้อนี้ คุณภาพห้องน้ำ ลักษณะห้องน้ำที่สร้างไม่เข้ากับภูมิประเทศ และการใช้งบประมาณที่ไม่เป็นไปตามแผน เป็น 3 ปัญหาที่ส่วนกลางจีนอาจจำเป็นต้องเร่งแก้ไข อุดช่องโหว่ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้งบประมาณ พลิกโฉมห้องน้ำชนบทจีนให้มีมาตรฐานและมีทั่วถึงทั้งประเทศ  

อ้างอิง: economistchinadailynikkeisohu