ถึงเวลาค่ายรถอีวีจัดโปร ‘ลดกระหน่ำ’ รับตลาดรถยนต์ไฟฟ้าซบเซา
บรรดาผู้ผลิตรถยนต์ในตลาดตะวันตกชั้นนำ กำลังเดินหน้าปรับลดราคารถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) และขยายแคมเปญลดราคา เพื่อฝ่าฟันกับมรสุมยอดขายที่ลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 3 ปี
สำนักข่าวไฟแนนเชียลไทม์ส อ้างอิงข้อมูลทางการเงินและยอดขายที่ธนาคารเอชเอสบีซีรวบรวม ระบุว่า บรรดาค่ายรถยนต์อีวีต่างเสนอโปรโมชันลดราคารถหลายรายการเป็นครั้งแรก เพื่อกระตุ้นยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้า
โดยในประเทศอังกฤษ มีการลดราคารถยนต์อีวีเฉลี่ยให้ต่ำกว่าราคาขายปลีกที่บริษัทแนะนำ 11% ขณะที่ผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในสหรัฐลดราคาอีวีราว 10% และตอนนี้บริษัทหลายแห่งในเยอรมนีลดราคาลงประมาณ 7% เพื่อดึงดูดลูกค้า ทั้งที่เมื่อปีก่อน เยอรมนีแทบไม่มีการลดราคาเลย
การขึ้นราคา ข่าวสารเชิงลบเกี่ยวกับการชาร์จเครื่องยนต์และความปลอดภัย การโจมตีทางการเมืองที่มีต่ออีวี รวมถึงคำเตือนจากผู้ซื้อในตลาดขนาดใหญ่ ทำให้การเติบโตของยอดขายชะลอตัวอย่างเห็นได้ชัด และถือเป็นการชะลอตัวครั้งแรกของตลาดอีวีโลก นับตั้งแต่ยอดขายเริ่มเติบโตขึ้นเมื่อ 3 ปีก่อน จนสร้างความกังวลว่าบริษัทรถยนต์อาจสูญเสียกำไรจากการปรับลดราคา
“ไมค์ ทินดอลล์” นักวิเคราะห์ยานยนต์จากเอชเอสบีซี บอกว่า “มีสัญญาณที่ชัดเจนว่า ผู้ผลิตรถยนต์กำลังเร่งจำหน่ายอีวี ซึ่งเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงเลยถ้าลองย้อนกลับไปช่วงต้นปีนี้”
ข้อมูลจากออโต้ เทรดเดอร์ เผยว่า ยอดจำหน่ายรถยนต์ไฟฟ้าใหม่จำนวน 2 ใน 3 ของอังกฤษ มีการเสนอลดราคาหรือลดอัตราดอกเบี้ยอย่างกระหน่ำ ขณะที่สหรัฐเสนอลดราคาถึง 3 เท่าในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่การลดราคาในเยอรมนียังคงที่ประมาณ 7% ในช่วงสองสามเดือนที่ผ่านมา แต่ก็มีผู้ผลิตบางรายที่เสนอส่วนลดสูงสุดถึง 20% ในรุ่นขายดี
เมื่อเดือนก่อนเยอรมนีมีการลดราคาบีเอ็มดับเบิลยูรุ่น i4 ลง 20%, รถ MG4 11.5% และลดราคารถยนต์เรโนลต์ รุ่น Dacia Spring 11% ซึ่งเป็นรถรุ่นเริ่มต้นราคาประหยัดของเรโนลต์
ด้านเทสลาซึ่งเป็นค่ายรถไฟฟ้ารายใหญ่ก็ปรับลดราคาในตลาดยุโรป สหรัฐ และจีนอย่างต่อเนื่อง เพื่อหนุนยอดขายและฉุดราคาขายต่อของบรรดาค่ายรถยนต์คู่แข่งลงมาด้วย
ที่ผ่านมา การเติบโตของตลาดรถยนต์อีวีถูกอั้นเอาไว้จากศักยภาพในการผลิต แต่เมื่อบริษัทรถยนต์พร้อมใจกันเพิ่มกำลังการผลิตเพื่อรับกับทิศทางที่เติบโต กลับสร้างภาวะ “โอเวอร์ซัพพลาย” ตามมา และเมื่อรวมกับปัจจัยความต้องการซื้อที่ขยายตัวลดลงแล้ว จึงทำให้บริษัทผู้ผลิตต้องลดราคา ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการกำหนดราคารถอีวีในระยะยาวตามมา
โฟล์คสวาเกน ชะลอแผนสร้างโรงงานแบตเตอรี่แห่งที่ 4 ลง โดยอ้างว่าความต้องการรถยนต์ไฟฟ้าในยุโรปซบเซา ขณะที่เมอร์เซเดส เบนซ์ โทษว่าเป็นเพราะสงครามราคารุนแรงในจีนทำให้ผลกำไรบริษัทน้อยลง
นอกจากนี้ ตลาดอีวีชะลอตัวเป็นเพราะผู้ผลิตรถยนต์โน้มน้าวใจลูกค้ากลุ่มใหม่ ให้เปลี่ยนการใช้รถยนต์พลังงานน้ำมันไปเป็นรถยนต์ไฟฟ้าได้ยากลำบาก
“อเล็กซ์ สมิท” กรรมการผู้จัดการโฟล์คสวาเกนในอังกฤษ กล่าวว่า “เราใกล้ถึงจุดที่การเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้าช่วงเริ่มต้นกำลังสิ้นสุด และคุณต้องปรับธุรกิจรองรับการเปลี่ยนแปลงการใช้รถยนต์อีวีจำนวนมาก ซึ่ง ณ จุดนั้น ความคิดของลูกค้าจะแตกต่างจากช่วงเริ่มต้นเล็กน้อย ผู้คนอยากได้เหตุผลในการมีรถอีวีที่น่าเชื่อถือจริงๆ และตั้งกำแพงเงื่อนไขความต้องการของตนเองไว้ค่อนข้างสูง ก่อนตัดสินใจเปลี่ยนไปใช้รถยนต์ไฟฟ้า”
กำแพงเงื่อนไขของลูกค้าดังกล่าว มีทั้งเงื่อนไขด้านราคา ความกังวลเกี่ยวกับโครงสร้างพื้นฐานชาร์จรถยนต์ และข้อมูลเชิงลบเกี่ยวกับการชาร์จและความปลอดภัย
“โทมัส เบกเคอร์” หัวหน้าฝ่ายความยั่งยืนของบีเอ็มดับเบิลยู เผยว่า “ความกังวลเบื้องต้นคือ โครงสร้างพื้นฐานด้านการชาร์จ”เมื่อผู้คนมีความเชื่อมั่นว่าโครงสร้างดังกล่าวไม่เป็นอุปสรรคต่อการตัดสินใจซื้อ เมื่อนั้นปัจจัยกังวลอื่นๆ จะเข้ามามีบทบาท"
"ราคา" ก็เป็นปัญหาสำหรับรถยนต์อีวีเช่นกัน เพราะรถยนต์ไฟฟ้ามักมีราคาแพงกว่ารถยนต์สันดาป แม้ว่าค่าใช้จ่ายระหว่างการใช้งานจะถูกกว่าก็ตาม
ก่อนหน้านี้ ราคาแบตเตอรี่ที่ถูกลงและการพัฒนาเทคโนโลยีต่างๆ ผลักดันให้อีวีสามารถแข่งกับรถยนต์เครื่องสันดาปได้อย่างโดดเด่น แต่อัตราดอกเบี้ยที่สูงขึ้น ทำให้ต้นทุนทางการเงินเพิ่มขึ้นและทำให้ลูกค้าไม่ตัดสินใจซื้อ แม้ราคารถยนต์ทุกชนิดเพิ่มขึ้นสูงก็จริง แต่ราคารถอีวีเพิ่มขึ้นเร็วกว่า เพราะเจอดอกเบี้ยเช่าซื้อรถยนต์ที่แพงกว่ารถสันดาป เนื่องจากราคาขายต่อยังสู้รถสันดาปไม่ได้
“ฟีโอนา โฮวาร์ธ” ผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ออกโตพุส อีวี ธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ในสหรัฐและอังกฤษ ยอมรับว่า อัตราดอกเบี้ยและมูลค่ารถยนต์คงเหลือ ทำให้การชำระงวดรถรายเดือนเพิ่มขึ้น
ด้วยเหตุนี้ ผู้ผลิตรถยนต์จึงต้องเลือกทางเลือกที่กลืนไม่เข้าคายไม่ออก ด้วยการยอมลดกำไรตัวเองเพื่อให้ยอดขายถึงเป้า หรือยึดกำไรเป็นหลักแล้วชะลอการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าให้ช้าลง แต่ทางเลือกอย่างหลังก็มีความเสี่ยงมากขึ้นด้วยว่าอาจสูญเสียฐานลูกค้าให้คู่แข่ง โดยเฉพาะผู้ผลิตรถยนต์สัญชาติจีน
'นโยบายรัฐเปลี่ยน' อีกหนึ่งอุปสรรคสำคัญ
นโยบายรัฐบาลเป็นอีกปัจจัยสำคัญที่ทำให้ลูกค้ายังไม่ตัดสินใจซื้อรถยนต์ไฟฟ้า เพราะจากเดิมที่รัฐบาลหลายประเทศในยุโรปเคยส่งสัญญาณว่ากำลังจะหมดยุคของรถยนต์สันดาป และอีวีคืออนาคตของวงการรถยนต์ แต่ปัจจุบัน กลับมีทางเลือกใหม่ๆ เพิ่มขึ้นมา
การตัดสินใจของของสหภาพยุโรป (อียู) ช่วงต้นปีนี้ ที่อนุญาตให้จำหน่าย “รถยนต์สันดาปรุ่นใหม่ที่ใช้เชื้อเพลิงสังเคราะห์” หรือ E-fuels หลังปี 2578 เป็นต้นไป ซึ่งถือเป็นการยอมจำนนต่อแรงกดดันของเยอรมนี ส่งผลให้เกิดคลื่นสะเทือนไปทั่วทั้งอุตสาหกรรมยานยนต์ เมื่อรัฐบาลเปิดทางให้ลูกค้ามีทางเลือกอื่นนอกจากรถยนต์อีวี
“ลินดา แจ็กสัน” ประธานกรรมการบริหารแบรนด์รถยนต์เปอร์โยต์ บอกว่า “ผู้คนสับสนมาก เพราะพวกเขาได้ยินข่าวสารที่แตกต่างกันในยุโรป”
ขณะที่การตัดสินใจ “เลื่อน” การห้ามจำหน่ายรถยนต์เชื้อเพลิงน้ำมันจากปี 2573 ไปเป็นปี 2578 ในอังกฤษ ได้เปลี่ยนอารมณ์คนซื้อรถยนต์อีวีเช่นกัน
“ดาร์เรน อาร์ดรอน” กรรมการผู้จัดการบริษัทเพอร์รีส ซึ่งเป็นกลุ่มตัวแทนจำหน่ายรถยนต์ในอังกฤษ เผยว่า “คนที่เกือบจะซื้อรถยนต์ไฟฟ้า กลับคิดว่าเขามีเวลาตัดสินใจเพิ่มอีก 5 ปีนับจากนี้”
นอกจากนี้ ลูกค้าที่สนใจรถยนต์อีวียังได้รับรู้ประสบการณ์การใช้รถอีวีในแง่ลบ ทั้งการรอคิวชาร์จรถยนต์นาน และข้อกล่าวอ้างที่ว่าแบตเตอรี่เสี่ยงไฟไหม้ จากสื่อต่อต้านรถยนต์ไฟฟ้าในหลายประเทศ
เบกเคอร์จากบีเอ็มดับเบิลยู บอกว่า “สิ่งที่ผู้คนเห็นตามที่สื่อรายงานตลอดเวลาว่ารอคิวชาร์จรถยนต์นานนั้น เป็นเรื่องไม่ดีเอาเสียเลย” และยกตัวอย่างว่าตอนที่ขับรถยนต์ไฟฟ้าเดินทางทั่วฝรั่งเศสช่วงต้นฤดูร้อนที่ผ่านมา ตนไม่ได้รอคิวชาร์จรถยนต์นานแม้แต่น้อย
แต่แม้ว่าอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าจะเผชิญข่าวร้ายมากขึ้น ผู้บริหารบริษัทยานยนต์บางคนก็ยังคงยืนหยัดกับอีวีโดยมองไปยังทิศทาง “ระยะยาว” มากกว่า
“ลักษมี มูร์ธี” กรรมการผู้จัดการกลุ่มธุรกิจเช่าซื้อรถอาร์วาล ในเครือธนาคารบีเอ็นพี พาริบาส์ในอังกฤษ เผยว่า ลูกค้าต้องใช้เวลาสร้างความเชื่อมั่นในการเปลี่ยนไปใช้รถยนต์อีวี
“เราต้องจำไว้ว่า นี่เป็นช่วงเริ่มต้นของการเดินทางที่ยาวนาน” มูร์ธี กล่าว