‘ตัวเรือด’ ลามถึงเอเชีย ส่องวิธีการป้องกันแต่ละประเทศ
“ตัวเรือด” (Bed Bug) ทำป่วนทั่วโลก จากยุโรป ลามสู่สหรัฐ ล่าสุดบุกเอเชีย ทำให้หลายประเทศรีบออกมาตรการกำจัดให้สิ้นซาก ส่วนประชาชนไม่อยู่เฉย แห่ซื้อ “ยาฆ่าแมลง” จนยอดขายพุ่งหลายร้อยเท่า
“ตัวเรือด” (Bed Bug) แมลงตัวเล็กที่ดูดเลือดคนเป็นอาหาร มักอาศัยอยู่ตามเตียงนอน กลายเป็นภัยคุกคามที่ยากต่อการรับมือไปทั่วโลก หายนะทั้งหมดเริ่มต้นมาจากการระบาดในกรุงปารีส ฝรั่งเศส ก่อนจะลุกลามไปทั่วทั้งยุโรป และสหรัฐ และขณะนี้ตัวเรือดก็ระบาดมาถึงหลายประเทศ และดินแดนในเอเชีย อาทิ เกาหลีใต้ ฮ่องกง ไต้หวัน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ สร้างความหวาดกลัวในหมู่ประชาชน และต้องการให้รัฐบาลกำจัดพวกมันอย่างเร่งด่วน
- “เกาหลีใต้” ยกระดับการกวาดล้าง
นับตั้งแต่ต้นเดือนพ.ย. ที่ผ่านมา “เกาหลีใต้” พบผู้ป่วยที่เกิดอาการแพ้จากการโดนตัวเรือดกัดแล้วอย่างน้อย 13 คน และยังมีอีกหลายสิบรายที่กำลังอยู่ในระหว่างการคัดกรอง ซึ่งก็เพียงพอแล้วที่จะกระตุ้นให้รัฐบาลเริ่มดำเนินการกวาดล้างตัวเรือดครั้งใหญ่ ด้วยการจัดตั้งหน่วยงานพิเศษขึ้นมาเพื่อทำการจัดการตัวเรือด พร้อมรณรงค์ให้ประชาชนตื่นตัว เร่งส่งเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้าทำฆ่าแมลงในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงสูง เช่น โรงอาบน้ำ ระบบขนส่งสาธารณะ หอพัก ตลอดระยะเวลา 4 สัปดาห์
“ความวิตกกังวลของสาธารณชนเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ เนื่องจากมีรายงานเข้ามาอย่างต่อเนื่อง” พัค กูยอน เจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบการรณรงค์กล่าว
ขณะที่ชาวเกาหลีใต้สร้างเว็บไซต์เพื่อติดตามสถานการณ์การระบาดทั่วประเทศ และการจัดการตัวเรือดของภาครัฐ และทางหาป้องกันด้วยตนเอง สำนักข่าว Yonhap ของเกาหลีใต้ รายงานว่า ยอดขายยาฆ่าแมลงในห้างสรรพสินค้าแห่งหนึ่งเพิ่มขึ้นมากกว่า 800% ในช่วงสัปดาห์แรกของเดือนพ.ย. เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนสำนักข่าว Bloomberg รายงานว่าราคาหุ้นของบริษัทกำจัดแมลงในเกาหลีใต้หลายแห่งเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 30% หลังจากรายงานข่าวเกี่ยวกับตัวเรือด
- “ฮ่องกง” พยายามกำจัดตัวเรือดจากต่างประเทศ
ฮ่องกงขึ้นที่ชื่อว่าเป็นเมืองที่มีความหนาแน่นมากที่สุดของโลก เริ่มกังวลกับปัญหาของตัวเรือดด้วยเช่นกัน เจ้าหน้าที่สนามบินแจกใบปลิวข้อมูลการระบาดของตัวเรือดให้กับนักท่องเที่ยวทันทีที่เดินทางมาถึงสนามบิน โดยกรมอนามัยด้านอาหารและสิ่งแวดล้อมระบุว่า หน่วยงานกำลังทำงานอย่างแข็งขันเพื่อลดโอกาสแพร่พันธุ์ตัวเรือดจากต่างประเทศสู่ท้องถิ่น
ด้านการรถไฟฮ่องกงเร่งทำความสะอาดรถไฟสายด่วนเชื่อมท่าอากาศยาน หลังมีภาพตัวเรือดบนรถไฟปรากฏบนโซเชียลมีเดียจนกลายเป็นไวรัล
นอกจากนี้ฝ่ายนิติบัญญัติเรียกร้องให้รัฐบาลออกแนวปฏิบัติในการทำความสะอาดพื้นที่ที่มีความเสี่ยงการแพร่ระบาดตัวเรือดสูง ในส่วนของประชาชนก็เริ่มหาทางป้องกันตัวเรือดบุกบ้าน โดยสั่งซื้อยาฆ่าแมลงผ่านอีคอมเมิร์ซในช่วงแคมเปญ 11.11 จนทำให้ยอดขายผลิตภัณฑ์ป้องกันตัวเรือดเพิ่มขึ้น 172 เท่า
อย่างไรก็ตาม จิ่ว ซิ่ว-ไว ศาสตราจารย์ด้านชีววิทยาออกโรงเตือนว่า ตัวเรือดกลายเป็นแมลงดูดเลือดที่มีมากที่สุดในฮ่องกงเป็นอันดับ 2 รองจากยุง เนื่องจากตัวเรือดสามารถเจริญเติบโตได้ดีในพื้นที่กึ่งร้อนชื้นอย่างฮ่องกง ซึ่งมีทั้งมุมมืดและความอบอุ่น
ความตื่นตัวของประชาชนสร้างผลดีให้แก่บริษัทกำจัดแมลง ฟรานซิสโก ปาโซส ผู้อำนวยการ NoBedBugs HK ธุรกิจกำจัดตัวเรือด กล่าวว่า ในเดือนพ.ย. เขามีงานเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า มีงานเข้ามากว่า 400 งานแล้ว
- ประชาชนวิตกกังวลกับตัวเรือด
ประชาชนใน “ไต้หวัน” ตื่นตัวไม่แพ้กันหลังจากกระทรวงสิ่งแวดล้อมออกประกาศเตือนให้สำรวจหาตัวเรือดที่อาจแฝงอยู่ตามเฟอร์นิเจอร์ และกระเป๋าเดินทางหลังจากกลับมาจากต่างประเทศ
หลิน เจียน-เหลียง โฆษกของ Johnson Group บริษัทกำจัดสัตว์รบกวนในเมืองนิวไทเป กล่าวว่าธุรกิจมีลูกค้าเพิ่มขึ้นสองเท่านับตั้งแต่ช่วงฤดูร้อน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะทางการไต้หวันยกเลิกข้อจำกัดการเดินทางตั้งแต่เดือนต.ค.2565
แต่ลูกค้าบางคนก็เกิดความวิตกกังวล ขอให้บริษัทเข้ากำจัดตัวเรือดซ้ำ แม้ว่าจะพึ่งจ้างพวกเขาไปทำงานก็ตาม
“ถึงเราจะรับรองว่าทุกอย่างผ่านการฆ่าเชื้อแล้ว แต่บางคนก็ยังรู้สึกหวาดกลัว” หลินกล่าว
ส่วน “สิงคโปร์” และ “ญี่ปุ่น” เริ่มมีการรายงานข่าวการพบตัวเรือดในประเทศมากขึ้น ทำให้ประชาชนตื่นตระหนก และหันมาทำความสะอาดบ้าน โดยเดเรียน ลี เจ้าของบริษัทกำจัดแมลงในสิงคโปร์ระบุว่า มีผู้ใช้บริการเพิ่มขึ้น 10-15% นับตั้งแต่มีข่าวตัวเรือดถล่มฝรั่งเศส พร้อมระบุว่า
"ที่จริงตัวเรือดแฝงตัวอยู่รอบตัวมาโดยตลอด แต่คนพึ่งมาสนใจกับพวกมันตอนที่เป็นข่าวแล้ว"
- ตัวเรือดฆ่ายากขึ้น
คนทั่วโลกเพิ่งกลับมาเดินทางเป็นปกติหลังจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ซึ่งปฏิเสธไม่ได้ว่าการแพร่กระจายของตัวเรือดจนลุกลามไปทั่วโลกนั้นเกิดขึ้นจากการเดินทางข้ามโลกของมนุษย์ เนื่องจากแมลงชนิดนี้มีขนาดเล็ก สามารถซ่อนตัวอยู่ได้ในทุกซอกทุกมุม ทั้งเสื้อผ้าและกระเป๋าเดินทาง เมื่อมนุษย์เดินทางไปในพื้นที่ที่มีตัวเรือดชุกชุม จึงทำให้พวกมันสามารถกระโดดเกาะ ติดตามพวกเขาไปยังที่ต่างๆ
ลี ชาว-หยาง ศาสตราจารย์ด้านกีฏวิทยาในเมือง จากมหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย ริเวอร์ไซด์ กล่าวกับ New York Times ว่าไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจเลยที่จะมีการระบาดของตัวเรือดเพิ่มขึ้นในเอเชีย-แปซิฟิก เช่นเดียวกับที่แพร่กระจายไปทั่วยุโรป
“ลองคิดดูว่ามีใครไปเช็กอินโรงแรมในกรุงเทพฯ ที่มีตัวเรือด แล้วตัวเรือดก็เข้าไปในกระเป๋าเดินทาง พอคนนั้นเดินทางไปสิงคโปร์ต่อ ตัวเรือดที่ตามมาด้วยก็จะแพร่ระบาดในสถานที่ใหม่”
ศ.ลี ยังกล่าวว่า ตัวเรือดเริ่มกลับมาเป็นปัญหาอีกครั้ง ตั้งแต่เมื่อประมาณ 25 ปีที่แล้วในยุโรป และค่อยๆ แพร่กระจายไปยังสหรัฐ และเอเชีย ที่น่ากังวลคือ ตัวเรือดพัฒนาสายพันธุ์ตนเองเพื่อความอยู่รอด ไม่ว่าจะเป็นการขยายพันธุ์อย่างรวดเร็ว และการปรับตัว
ตัวเรือดที่พบได้ทั่วไปมีด้วยกัน 2 สายพันธุ์ สายพันธุ์หนึ่งพบได้ในเขตอบอุ่น ในขณะที่อีกชนิดอาศัยในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อน แต่เนื่องจากสภาพแวดล้อมภายในอาคารมีความสม่ำเสมอมากขึ้นจากระบบปรับอากาศ ทำให้ตัวเรือดทั้งสองสายพันธุ์สามารถเติบโตได้ในสถานที่เดียวกัน
แนวโน้มอีกประการหนึ่งคือ ตัวเรือดทนทานต่อยาฆ่าแมลงมากขึ้น ซึ่งเป็นปัญหาที่พบในไทย มาเลเซีย เกาหลีใต้ และประเทศอื่นๆ จึงจำเป็นต้องการใช้ความร้อนจัดในการกำจัดตัวเรือดที่ทนทานยาฆ่าแมลง แต่เนื่องจากการใช้ความร้อนมีค่าใช้จ่ายแพงกว่าการใช้ยาฆ่าแมลงมากถึง 10 เท่า ทำให้บริษัทกำจัดแมลงส่วนใหญ่ยังใช้ยาฆ่าแมลงต่อไป จนกว่าจะมีวิธีใหม่ที่กำจัดตัวเรือดได้ดีกว่าเดิมในราคาไม่สูงเกินไป
ที่มา: BBC, New York Times, Times, Vox
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์