รถไฟขนเคมีภัณฑ์ขบวนพิเศษ “ซีอาน-อ่าวเป่ยปู้-แหลมฉบัง” เดินทางมุ่งสู่ไทย
รถไฟขบวนพิเศษสำหรับขนส่งเคมีภัณฑ์โดยเฉพาะในเส้นทาง “ซีอาน-ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้-ท่าเรือแหลมฉบัง” ออกเดินทางแล้ว โดยมีเป้าหมายปลายทางที่ท่าเรือแหลมฉบัง ประเทศไทย
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. รถไฟหมายเลข X9592 รถไฟขบวนพิเศษสำหรับขนส่งเคมีภัณฑ์โดยเฉพาะในเส้นทาง “ซีอาน-ท่าเรืออ่าวเป่ยปู้-ท่าเรือแหลมฉบัง” ที่ได้บรรทุกตู้คอนเทนเนอร์ขนาด 40 ฟุต เต็มอัตราจำนวน 50 ตู้ เริ่มออกเดินทางจากด่านสินค้าระหว่างประเทศซีอาน
สินค้าล็อตนี้เดินทางมาจากรัสเซีย เมื่อเดินทางมาถึงซีอานด้วยรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรปแล้ว จะถูกลำเลียงสู่รถไฟขบวนพิเศษในเส้นทางขนส่งสินค้าทางบก+ทางทะเลเส้นทางใหม่ เพื่อมุ่งตรงไปยังท่าเรืออ่าวเป่ยปู้ในกว่างซี แล้วจึงเดินทางต่อไปยังท่าเรือแหลมฉบังของประเทศไทย ด้วยเรือขนส่งสินค้าในเส้นทางเดินเรืออ่าวเป่ยปู้ และนี่ก็คือประสิทธิผลของการเชื่อมถึงกันระหว่างเส้นทางขนส่งทางบก+ทางทะเลเส้นทางใหม่ และเส้นทางรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป
จากข้อมูลพบว่า เคมีภัณฑ์ที่ขนส่งในครั้งนี้ เป็นการส่งสินค้าขากลับของรถไฟบรรทุกสินค้าจีน-ยุโรป หลังจากที่ได้เดินทางมาจากเมืองซาเรปตา ประเทศรัสเซียและมาถึงนครซีอาน จากนั้นบริษัทโลจิสติกส์เป๋ยก่างจะรับช่วงต่อในการขนส่ง ซึ่งจะใช้การขนส่งแบบไร้รอยต่อของ “ซีอาน-อ่าวเป่ยปู” ในเส้นทางรถไฟช่องทางใหม่ เพื่อไปยังท่าเรืออ่าวกวางซีเป่ยปู้โดยตรง ซึ่งใช้เวลาเดินทางประมาณ 3-4 วัน แล้วจึงขนส่งทางทะเลไปยังท่าเรือแหลมฉบังในประเทศไทยภายใน 5 วัน
เมื่อเปรียบเทียบกับเส้นทางเดิมสายอื่น ๆ การเดินทางทางทะเลผ่านท่าเรืออ่าวเป่ยปู้สามารถประหยัดเวลาในการขนส่งได้ประมาณ 8 วัน ซึ่งช่วยลดต้นทุนด้านโลจิสติกส์และการขนส่งได้อย่างมีประสิทธิภาพ
ความสำเร็จในการเดินทางขนส่งครั้งนี้ เป็นผลลัพธ์ในความพยายามอย่างสูงของกว่างซี ในการร่วมสร้างเส้นทางขนส่งสินค้าทางบก+ทางทะเลเส้นทางใหม่ การมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจทางทะเล และการผลักดันความร่วมมือแบบเปิดกว้างระหว่างจีน-อาเซียน กระทั่งปัจจุบัน อ่าวเป่ยปู้ได้เปิดเส้นทางเดินเรือรวม 76 เส้นทาง มีเส้นทางการขนส่งตู้คอนเทนเนอร์สินค้าทั้งในและต่างประเทศที่ครอบคลุมท่าเรือสำคัญ ๆ ตามแทบชายฝั่งของจีนและประเทศในกลุ่มอาเซียน
รถไฟขนส่งทางบก+ทางทะเลเส้นทางใหม่ มีปริมาณการเดินรถรวมกว่า 31,000 ขบวน ซึ่งได้ขนส่งสินค้าโดยเชื่อมต่อกับรถไฟขนส่งสินค้าจีน-ยุโรป รวมกว่า 18,000 ตู้คอนเทนเนอร์ ถือเป็นการสนับสนุนที่มีศักยภาพในการผลักดันข้อริเริ่ม “หนึ่งแถบหนึ่งเส้นทาง” รักษาและพัฒนาโครงสร้างทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ รวมถึงความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจที่หลากหลายและมั่นคง