จากใจ‘จูเลียสแบร์-ยูโอบี’ บทบาทธนาคารต่องานศิลปะ
การจัดนิทรรศการศิลปะระดับนานาชาติอย่างยิ่งใหญ่ต่อเนื่องมานานถึง 13 ปีอย่าง “อาร์ต จาการ์ตา” (Art Jakarta) ของอินโดนีเซียจำเป็นต้องได้พันธมิตรเหนียวแน่นสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจูเลียส แบร์ และยูโอบี ธนาคารชั้นนำจากสวิตเซอร์แลนด์และสิงคโปร์ทำหน้าที่นี้เป็นอย่างดี
จะว่าไปแล้วศิลปะกับธนาคารดูเหมือนจะห่างไกลกันแต่ธนาคารทั้งสองแห่งกลับมุ่งมั่นทุ่มเทให้กับอาร์ต จาการ์ตา การสนับสนุนกิจกรรมศิลปะอย่างต่อเนื่องยาวนานชวนให้หาคำตอบ ถึงประโยชน์หรือแรงบันดาลใจที่ธนาคารมองเห็น เริ่มต้นจาก ยัง วีซัน หัวหน้าฝ่ายการตลาดอินโดนีเซีย และหัวหน้ากลุ่มไพรเวตแบงกิงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของจูเลียสแบร์ กล่าวกับ World Pulse ถึงความสัมพันธ์ระหว่างศิลปะกับธุรกิจธนาคารในแง่ที่ศิลปะนำชุมชนมาอยู่ด้วยกัน
"ดิฉันคิดว่าจริงๆ แล้วศิลปะนำชุมชนมาอยู่ด้วยกัน หลายครั้งที่ดิฉันทำงานจัดการความมั่งคั่ง พบว่า เมื่อคนเราประสบความสำเร็จพวกเขาต้องการให้อะไรกับชุมชน ดังนั้นศิลปะกับการบริหารจัดการความมั่งคั่งจึงคล้ายกันมาก เพราะแสดงให้เห็นถึงแพสชั่นที่ต้องการให้อะไรกลับคืนแก่ชุมชน"
จากปากคำของหัวหน้าฝ่ายการตลาดอินโดนีเซีย จูเลียส แบร์ เกี่ยวข้องกับศิลปะมาตั้งแต่ปี 2524 ให้การสนับสนุนศิลปะร่วมสมัยเพื่อเป็นการตอบแทนชุมชน ในรูปของการเข้าไปมีส่วนร่วมกับงานแฟร์ เช่น อาร์ต จาการ์ตา เพื่อให้ชุมชนศิลปะนำพาผู้คนมารู้จักกัน ในมุมมองของเธอศิลปะคือการทำงานเพื่อสังคม นักสะสมงานศิลปะและนักธุรกิจจำนวนมากได้รู้จักประเด็นทางการเมืองและสังคมล่าสุด จากความคิดที่ถ่ายทอดออกมาผ่านจินตนาการ
อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่เศรษฐกิจโลกถดถอยส่งผลกระทบไปทั่วอุตสาหกรรมศิลปะของอินโดนีเซียย่อมโดนกระทบด้วย แต่ตัวแทนของจูเลียส แบร์ มองว่า การมีส่วนร่วมกับศิลปะทำได้หลายวิธี
"เมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวคุณสามารถ contribute ให้ศิลปะด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไป เช่น ซื้องานชิ้นเล็กลง ไปร่วมงานนิทรรศการมากขึ้น ช่วยประชาสัมพันธ์ให้มากขึ้น ทั้งหมดนี้ไม่ใช่แค่เรื่องของเงิน แต่เป็นการแสดงการสนับสนุนโดยการช่วยสร้างเครือข่ายให้ผู้คนที่สมควรเจอได้เจอกัน"
สำหรับธุรกิจอื่นๆ ที่สนใจอยากสนับสนุนงานศิลปะ ตัวแทนจูเลียส แบร์ ย้ำ
"ทำเลยค่ะ สำหรับดิฉัน ศิลปะกับความมั่งคั่งเป็นเรื่องเดียวกัน เพราะศิลปะเป็นเรื่องของชีวิต ความมั่งคั่งก็เป็นเรื่องของชีวิต ทำเลย ทั้งสองอย่างล้วนคอนเนคผู้คน เป็นเรื่องของการสร้างคอนเนคชัน" ตัวแทนจูเลียส แบร์ สรุป
ส่วนอีกหนึ่งมุมมองมาจากซอนนี ซามูเอล ผู้อำนวยการฝ่ายการตลาดโลก ยูโอบี อินโดนีเซีย เล่าว่า โดยปกติธนาคารดูแลเรื่องการทำธุรกรรมของลูกค้า ทำให้มั่นใจได้ว่าธุรกิจดำเนินไปอย่างราบรื่น สนับสนุนลูกค้ารายย่อย
“แต่อีกด้านหนึ่งเราไม่ได้คำนึงแค่กระบวนการทำงานในฐานะธนาคาร เรายังรับผิดชอบเสริมสร้างพลังชุมชน ปรัชญาของยูโอบีกรุ๊ปตั้งแต่ 40 กว่าปีมาแล้วคือการสนับสนุนเด็ก ศิลปะ และการศึกษาเพราะนี่คือสามเสาหลักที่เชื่อมโยงกันและพัฒนาชาติไปสู่อีกระดับหนึ่ง ยิ่งบ่มเพาะ ยิ่งเรียนรู้ผ่านศิลปะก็ยิ่งได้ประโยชน์ สุดท้ายก็นำประเทศไปสัมผัสกับโลกผ่านความรุ่มรวยของชุมชนศิลปวัฒนธรรมของเรา”
คำตอบของซามูเอลน่าสนใจตรงที่ เธอบอกว่านี่คือความเชื่อมโยงระหว่างศิลปะกับธุรกิจธนาคาร
"ความเชื่อมโยงอยู่ตรงนี้แหละค่ะ การโน้มน้าวจูงใจลูกค้าก็เป็นศิลปะใช่มั้ยคะศิลปะของความเป็นธนาคารก็คือการทำให้มั่นใจได้ว่าผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ลูกค้า จะสบายใจกับข้อเสนอที่คุณมีให้ แล้วพวกเขาจะมีชีวิตที่ดีขึ้นในอนาคต” ตัวแทนยูเอบีกล่าว พร้อมเสริมถึงผลอันเป็นรูปธรรมในการสนับสนุนงานศิลปะ
“เรามองว่าศิลปะคือมรดกของบรรพบุรุษ แม้แต่ในอดีตบรรพบุรุษของเราก็แข็งขันในทุกอย่างที่พวกเขาทำ ไม่ว่าจะเป็นมหรสพ การวาดภาพบนผนัง การร้องรำทำเพลง สิ่งเหล่านี้คือชีวิตอันรุ่มรวย เราจึงเชื่อว่าทุกชุมชนต้องใกล้ชิดกับความอุดมสมบูรณ์ทางศิลปวัฒนธรรม ในฐานะธนาคารเราต้องเติมสิ่งนี้เข้าไปในระบบเศรษฐกิจเรียกว่า 'เศรษฐกิจสร้างสรรค์' (creative economy)' เพราะศิลปะจะนำความมั่งคั่งมาสู่การทำธุรกรรมด้วย” กล่าวคือนักสะสมมีโอกาสเข้ามาซื้องานมากขึ้น เป็นวงจรแห่งการหมุนเวียนที่จะส่งผลต่อเศรษฐกิจ
ซามูเอลยกตัวอย่างงานอาร์ต จาการ์ตา ที่ยังส่งผลต่อการท่องเที่ยว เห็นได้จากผู้คนจากต่างประเทศและจากนอกกรุงจาการ์ตาเข้ามาจับจ่ายใช้สอยซื้อน้ำซื้ออาหารภายในงาน เม็ดเงินจากเศรษฐกิจจุลภาคเข้าสู่มหภาค ภาคการขนส่งก็ได้ประโยชน์ ทั้งหมดนี้เป็นผลจากงานศิลปะที่เชื่อมโยงไปถึงเรื่องการเงิน
เมื่อพิจารณาในภาพรวมที่ศิลปะมีส่วนต่อเศรษฐกิจของประเทศ ซามูเอลกล่าวว่า อินโดนีเซียมีกระทรวงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ นั่นคือเหตุผลว่าทำไมศิลปะจึงเกี่ยวข้องอย่างมากในการสนับสนุนเศรษฐกิจของประเทศ
“เพราะทุกสิ่งถูกตีความ ศิลปะและวัฒนธรรมเป็นสินค้า ทันทีที่คุณจัดแพ็กเกจให้มันในแบบที่ลูกค้าสนใจ ก็จะกลายเป็นสินค้าแห่งความสนใจ แล้วลูกค้าก็จะซื้อ อยากเป็นเจ้าของภาพวาด” ตัวแทนยูโอบีอธิบายคำว่าเศรษฐกิจสร้างสรรค์ได้อย่างน่าสนใจ
ส่วนสถานการณ์ที่เศรษฐกิจโลกชะลอตัวอาจส่งผลกระทบธุรกิจนั้น สำหรับยูโอบี ถือว่าค่อนข้างระมัดระวังตัวมาก
"เราพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจมหภาคอย่างจริงจัง ดูว่าพัฒนาการไปทางไหน เพื่อสร้างหลักประกันว่าลูกค้าของเราจะได้รับการดูแลอย่างดี เราต้องรู้โปรไฟล์ของลูกค้าว่าเป็นคนสายกลางหรือสายลุย เพราะพวกเขาจำเป็นต้องได้รับการให้ความรู้ด้วย ดังนั้นผู้จัดการฝ่ายลูกค้าสัมพันธ์ของเราจึงได้รับการฝึกฝนอยู่เสมอเรื่องผลกระทบเหล่านี้"
ก่อนจากกันยูโอบีทิ้งท้ายถึงธุรกิจอื่นที่อยากสนับสนุนงานศิลปะ ว่ามีไม่กี่ธุรกิจที่เห็นความสำคัญของศิลปะ ด้วยอาจจะมองว่าไม่ทำเงิน ไม่เหมือนกับสินค้าอุปโภคบริโภคที่ซื้อขายได้ นำเข้าส่งออกได้เกิดธุรกรรมทางการเงิน
"แต่จริงๆ แล้วศิลปะเป็นสินค้าเลื่อนไหล คุณต้องชอบจริงๆ ต้องหลงใหล แต่ถ้าทุกอุตสาหกรรมหรือทุกสถาบันเชื่อในศิลปะ เราก็ร่วมมือกันได้ อย่างจูเลียสแบร์และบิบิต (สตาร์ทอัพการเงินอินโดนีเซีย) ที่มาเป็นพันธมิตรของงานนี้แม้เราไม่รู้จักกัน แต่อาร์ตจาการ์ตาได้เชื่อมโยงพันธมิตรทั้งสามเข้าด้วยกัน ดังนั้นเราสามารถสนับสนุนแวดวงศิลปะให้เบ่งบานยิ่งขึ้นได้ ถ้าทุกคนเชื่อในศิลปะ และดิฉันเชื่อมั่นว่าอินโดนีเซียเองก็เป็นประเทศที่รุ่มรวยทางศิลปวัฒนธรรมมาก จะได้ประโยชน์และเติบโตรวดเร็วยิ่งกว่าเดิม"
ได้ยินได้ฟังสองมุมมองเล็กๆ จากธนาคารใหญ่ระดับโลก ช่วยให้เห็นภาพว่าทำไมเศรษฐีมีเงินและธุรกิจธนาคารจึงต้องสนับสนุนงานศิลปะ เพราะนั่นคือการเชื่อมโยงผู้คนเข้าหากัน แม้แต่คนเล็กคนน้อยการได้เข้าร่วมนิทรรศการศิลปะอย่างอาร์ต จาการ์ตา ก็นับว่าเป็นอีกหนึ่งกำลังใจให้ศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน สุดท้ายปลายทางของทุกอย่างที่ว่ามาเรียกว่า “เศรษฐกิจสร้างสรรค์” จะส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยรวม แล้วซอฟต์พาวเวอร์ก็จะตามมาเอง