'ไทย'หนุน EV เติบโตต่อเนื่อง พาประเทศบรรลุ Net Zero
ทั่วโลกต้องดำเนินการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน และรถยนต์ EV หรือรถยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรลุเน็ตซีโร่ได้
ดร.คาทริน ลูเกอร์ หัวหน้าฝ่ายการคมนาคม จากคณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (UN-ESCAP) ร่วมบรรยายในหัวข้อ E-Mobility - The Road to Zero Emissions ในงาน Climate Talk ที่จัดขึ้นโดยสถานเอกอัครราชทูตเยอรมนีประจำประเทศไทย เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 7 ธ.ค. ย้ำว่า ทั่วโลกต้องดำเนินการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกอย่างเร่งด่วน และรถยนต์ไฟฟ้าเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยบรรลุเน็ตซีโร่ได้
ทำไมต้องเป็น EV?
ข้อมูลที่ ดร.ลูเกอร์ นำเสนอ ระบุว่า สัดส่วนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั่วโลก 25% มาจากภาคการคมนาคม และคาดว่าการปล่อยมลพิษจากภาคคมนาคมจะเพิ่มขึ้นเกือบ 50% ภายในปี 2593 หากไม่มีการดำเนินการด้านนี้อย่างเร่งด่วน
ขณะที่การใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกมีแน้วโน้มเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ นับตั้งแต่ปี 1990-2020 และภูมิภาคนี้ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้นราว 2 เท่า ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา แต่ไม่เป็นที่น่าแปลกใจมากนัก เพราะเชื้อเพลิงชนิดนี้เป็นส่วนขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจในภูมิภาค
ขณะที่ข้อมูลของธนาคารพัฒนาเอเชีย (เอดีบี) เผยว่า สัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 90% ของภาคขนส่งในเอเชียแปซิฟิก มาจากการขนส่งทางถนน ซึ่ง 90% มาจากการใช้เชื้อเพลิงฟอสซิล
"ถ้าการขนส่งทางถนนไม่ดำเนินการสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน การดำเนินการด้านสภาพอากาศที่ยั่งยืนคงไม่อาจเกิดขึ้นได้" ดร.ลูเกอร์ กล่าว และมองว่าไทยเป็นประเทศที่เริ่มผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น
ด้านพิชิต พงษ์ประเสริฐ หัวหน้าฝ่ายโซลูชันธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า จากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (EGAT) ผู้ร่วมบรรยายหัวข้อดังกล่าว อธิบายถึงสาเหตุที่คนไทยเริ่มหันไปใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้นนั้น เป็นเพราะ ปัญหาฝุ่น PM2.5 ที่มีมากโดยเฉพาะช่วงฤดูหนาว และคาดว่าจะรุนแรงมากขึ้นในอนาคต ซึึ่ง PM2.5 ส่วนหนึ่งก็มาจากภาคคมนาคม
สาเหตุที่ 2 รัฐบาลไทยประกาศในที่การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศปี 2558 หรือ COP21 ว่าประเทศไทยจะบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี 2050 เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ทั่วโลก
สาเหตุที่ 3 อุตสาหกรรมการผลิตของไทย เปรียบเสมือนเมืองดีทรอยด์ของสหรัฐ เพราะเป็นศูนย์กลางการผลิตรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยในปี 2562 ยอดส่งออกรถยนต์และชิ้นส่วนประกอบของไทยหนุนผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ราว 6.4%
ไทยหนุนใช้ EV ต่อเนื่อง
รัฐบาลมีวิสัยทัศน์ให้ประเทศไทยเป็นหนึ่งในฐานผลิตรถยนต์ไฟฟ้าและชิ้นส่วนรถอีวีที่สำคัญของที่สุดของโลก ดังนั้น ที่ผ่านมาไทยได้ดำเนินการหลายอย่างเพื่อผลักดันการใช้รถยนต์ไฟฟ้า ทั้งเริ่มจากการสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เช่น สถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า และในปี 2559 เริ่มให้เงินอุดหนุนโครงการสร้างสถานีชาร์จกับภาคเอกชน ต่อมาในปี 2563-2565 ไทยได้วางระบบชาร์จรถยนต์ที่รองรับรถยนต์ทุกแบรนด์ และได้จัดตั้งคณะกรรมการอีวีแห่งชาติเพื่อสนับสนุนผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้า
ขณะนี้รัฐบาลไทยให้เงินอุดหนุนผู้ซื้อรถยนต์ไฟฟ้ามูลค่าเกือบ 150,000 บาท นอกจากนี้ยังมีการลดหย่อนภาษีและนโยบายอื่น ๆ ร่วมด้วย
ประเทศไทยยังได้ตั้งเป้ามีสถานีชาร์จรถอีวี 12,000 แห่ง และมีศูนย์เปลี่ยนแบตเตอรี่ 1,450 แห่งภายในปี 2573 และคาดว่าสัดส่วนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าทุกประเภทจะสูงถึง 30% ของการผลิตรถยนต์ทั้งหมด รวมถึงการผลิตแบตเตอรี่ในประเทศ
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีสถานีชาร์จรถอีวีราว 2,156 แห่งแล้ว แต่สถานีชาร์จแต่ละแห่งมีแอปพลิเคชันให้บริการเป็นของตนเอง ผู้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าจึงประสบปัญหาต้องโหลดหลายแอปฯ
เครือข่ายไฟฟ้าคือ "หัวใจสำคัญ"
ถ้าไทยใช้รถยนต์ไฟฟ้าจำนวนมาก พลังงานไฟฟ้าจะเพียงพอต่อการใช้งานหรือไม่ พิชิตให้คำตอบว่า หากไทยใช้รถอีวีเป็นสัดส่วน 30% ของรถยนต์ส่วนบุคคลทั้งหมด ความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าของผู้บริโภคไม่ใช่ปัญหา แต่ปัญหาคือผู้ใช้งานต้องเปลี่ยนมิเตอร์ไฟฟ้าในบ้าน และหากมีสถานีชาร์จส่วนตัวในบ้านเพิ่มมากขึ้น ประเทศอาจต้องสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าเพิ่มตามมา หรืออาจต้องสร้างโรงงานผลิตไฟฟ้าในจังหวัดที่เป็นแหล่งท่องเที่ยวสำคัญ เช่น เชียงใหม่
พิชิตย้ำในช่วงท้ายว่า “ตอนนี้รถอีวีไม่ใช่แค่เทรนด์ แต่เป็นความต้องการใช้งานจริง และสถานีชาร์จเป็นหนึ่งในธุรกิจที่ให้ผลตอบแทนในระยะยาว แตกต่างจากปั๊มน้ำมัน เพราะสถานีชาร์จตั้งที่ใดก็ได้”