‘ออสเตรเลีย’กางยุทธศาสตร์เศรษฐกิจ ขยายลงทุนในไทย-มองไกลถึงปี83
การทูตเศรษฐกิจเชิงรุกสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลไทยและออสเตรเลียต้องการบรรลุผลสำเร็จ และ‘มัวร์’เห็นว่ารัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนต่างชาติมาก
ออสเตรเลีย เป็นประเทศจุดหมายปลายทางด้านการศึกษา การท่องเที่ยว และการหาประสบการณ์ทำงานที่น่าสนใจอันดับต้น ๆ สำหรับคนไทยและผู้คนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่นอกจากความสัมพันธ์ใน 3 ด้าน ออสเตรเลียยังถือเป็นคู่ค้ารายใหญ่สำหรับภูมิภาคนี้เช่นกัน
ขณะที่โลกเผชิญวิกฤติเศรษฐกิจ และอุปสรรคมากมายที่ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่อุปทาน ออสเตรเลียเล็งเห็นถึงความสำคัญด้านการค้าและการลงทุนกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จึงจัดทำแผน “ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจเอเชียตะวันออกเฉียงใต้สู่ปี 2583” เพื่อเป็นแนวทางสานสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างออสเตรเลียและเอเชียตะวันออกเฉียงให้ครอบคลุมและต่อเนื่องมากขึ้น
“นิโคลัส มัวร์” ผู้แทนพิเศษออสเตรเลียสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เผยรายละเอียดและความสำคัญของรายงานกับกรุงเทพธุรกิจ ว่า รายงานจัดทำแนวทางดำเนินงานที่สำคัญ 4 ด้าน ได้แก่ การสร้างความตระหนักรู้ การขจัดอุปสรรค การสร้างขีดความสามารถ และการลงทุนอย่างเข้มข้น
หลังจากยื่นรายงานนี้ให้ทางการ รัฐบาลของ‘แอนโทนี อัลบานีส’ นายกรัฐมนตรีออสเตรเลียก็ประกาศแนวคิดริเริ่มการลงทุน 3 ด้านที่สำคัญแก่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านที่ประชุมสุดยอดอาเซียน ณ ประเทศอินโดนีเซีย เมื่อเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา
แนวคิดริเริ่มอันดับแรกคือ การแลกเปลี่ยนทางธุรกิจกับเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (Southeast Asia Business Exchange) เพื่อส่งเสริมการค้าทวิภาคีระหว่างภูมิภาค และมัวร์เห็นว่ารัฐบาลไทยก็ให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกับรายงานดังกล่าว เช่น เศรษฐกิจดิจิทัล การเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ การเกษตร เป็นต้น
ผู้บริหารระดับสูงของธุรกิจไทยและออสเตรเลีย ต่างอยากร่วมลงทุนระหว่างกัน ขณะที่ออสเตรเลียก็มีคนไทยอาศัยอยู่ในประเทศมากกว่า 80,000 คน รวมถึงชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ประเทศอื่น ๆ ซึ่งถือเป็นทรัพยากรที่สำคัญต่อออสเตรเลีย จึงเป็นสาเหตุที่รัฐบาลอยากสนับสนุนให้คนออสเตรเลียและคนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สร้างธุรกิจและทำการค้าระหว่างกันให้มากขึ้น
หลังเกิดการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 หลายประเทศต่างหาแหล่งซัพพลายเชนที่สำคัญ นอกเหนือจากประเทศจีน ออสเตรเลียจึงมองหาพันธมิตรในเอเชีย และไทยก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ออสเตรเลียอยากส่งเสริมการค้าแบบสองทาง (Two-Way Trade)
แนวคิดริเริ่มที่ 2 การจัดตั้งทีมงานเพื่อส่งเสริมการลงทุนระหว่างกัน (Investment deal teams) โดยทำงานร่วมกับธุรกิจและรัฐบาลในภูมิภาค เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักลงทุนออสเตรเลีย
ขณะเดียวกัน ไทยก็ลงทุนในออสเตรเลียจำนวนมาก รัฐบาลจึงอยากให้ความสำคัญกับการทำข้อตกลงในโครงการต่าง ๆ ระหว่างกัน เช่น โครงการด้านโลจิสติกส์ โครงสร้างพื้นฐาน ท่าเรือ และเหมือง เป็นต้น โดยทางการจะจัดหาทีมผู้เชี่ยวชาญเพื่อช่วยพัฒนาโครงการ และแนะนำการลงทุนแก่นักลงทุนและธุรกิจในออสเตรเลียต่อไป
แนวคิดสุดท้ายที่รัฐบาลให้ความสำคัญคือ โครงการนำร่องจัดหางานและฝึกงานให้คนรุ่นใหม่ที่มีทักษะสูง(Placements and Internships Pilot Program for Young Professionals) เพื่อให้เกิดแลกเปลี่ยนแรงงานมืออาชีพระหว่างกัน เช่น อาชีพวิศวกร ทนายความ ผู้เชี่ยวชาญด้านไอที เป็นต้น
มัวร์ เผยว่า รัฐบาล รัฐมนตรี และหน่วยงานต่าง ๆ กำลังทำงานร่วมกัน และตอบสนองคำแนะนำ 75 ข้อจากรายงานยุทธศาสตร์ฯ ออสเตรเลียแล้ว และมัวร์เชื่อว่า แนวคิดริเริ่มทั้ง 3 ข้อดังกล่าวจะช่วยส่งเสริมการค้าการลงทุนระหว่างกันมากขึ้น
เมื่อถามถึงนโยบาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ของไทย มัวร์มองว่า นโยบายดังกล่าว ช่วยส่งเสริมยุทธศาสตร์ฯออสเตรเลียได้เป็นอย่างดี เพราะการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกสอดคล้องกับเป้าหมายที่รัฐบาลไทยและออสเตรเลียต้องการบรรลุผลสำเร็จ ทั้งสองฝ่ายต่างให้ความสำคัญกับการเปิดรับการลงทุนต่างประเทศ และมัวร์เห็นว่ารัฐบาลไทยเปิดโอกาสให้กับนักลงทุนต่างชาติมาก
จากการจัดลำดับความสำคัญยุทธศาสตร์กับไทยในรายงานดังกล่าว มัวร์มองว่าค่อนข้างตรงกับรายงานของรัฐบาลไทย โดยพบสิ่งที่ทั้งสองฝ่ายให้ความสำคัญมาก คือ การเปลี่ยนผ่านพลังงาน นอกจากนี้ ไทยและออสเตรเลียยังให้ความสำคัญด้านโลจิสติกส์ และการเกษตร โดยออสเตรเลียเป็นประเทศที่ผลิตและส่งออกสินค้าเกษตรรายใหญ่ไปยังไทย และเป็นผู้นำเข้าสินค้าเกษตรรายใหญ่จากไทยเช่นกัน
ดังนั้น การให้ความสำคัญทางเศรษฐกิจที่สอดคล้องกัน จะช่วยหนุนความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจทั้งสองฝ่ายให้ใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น
ความตกลงการค้าเสรี ก็เป็นอีกปัจจัยที่ช่วยหนุนการนำเข้า-ส่งออกสินค้าระหว่างกัน ให้มีความหลากหลายและเพิ่มปริมาณมากขึ้น
ซึ่งเห็นได้จากการเฉลิมฉลองการนำเข้าแฮสอะโวคาโดออสเตรเลีย ขณะเดียวกันผลิตภัณฑ์เป็ดของไทยก็ได้รับอนุญาตให้นำเข้าออสเตรเลียแล้วเช่นกัน
นอกจากนี้ การศึกษาก็เป็นอีกโอกาสที่ไทยและออสเตรเลียจะได้ส่งเสริมความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด เนื่องจากมีคนไทยไปเรียนในออสเตรเลียจำนวนมาก
ส่วนการค้าและการลงทุนที่เซอร์ไพรส์สำหรับมัวร์คือ ปริมาณการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคจากไทยไปออสเตรเลียที่ค่อนข้างมาก เพราะออสเตรเลียมีโรงงานผลิตในไทยหลายแห่ง ขณะเดียวกันไทยก็มีสินค้าออสเตรเลียในซูเปอร์มาเก็ตจำนวนมาก แสดงให้เห็นถึงการแลกเปลี่ยนซัพพลายอาหาร ระดับการค้า และศักยภาพความร่วมมือทางธุรกิจระหว่างทั้งสองประเทศ