บริษัทอสังหาฯ จีนไปอีกหนึ่งราย China Aoyuan ยื่นล้มละลายในสหรัฐ
บริษัทอสังหาฯ ในจีน 'ไชน่า อาวหยวน' ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ต่อศาลล้มละลายสหรัฐในวันนี้ หลังหนี้ท่วมกว่า 2 แสนล้านบาท
บริษัทไชน่า อาวหยวน กรุ๊ป จำกัด (China Aoyuan Group) ได้ยื่นขอพิทักษ์ทรัพย์ตามมาตรา 15 ของศาลล้มละลายสหรัฐ ในนครนิวยอร์ก เมื่อวันพุธที่ 20 ธ.ค. ตามเวลาในสหรัฐ ซึ่งนับเป็นบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนรายล่าสุดที่ต้องยื่นศาลล้มละลายในสหรัฐเพื่อขอพิทักษ์ทรัพย์และฟื้นฟูกิจการในต่างประเทศ
ไชน่า อาวหยวน ซึ่งมีสำนักงานใหญ่ในกว่างโจว มีรายการหนี้สินในต่างประเทศทั้งหมดราว 6,000 ล้านดอลลาร์ (กว่า 2 แสนล้านบาท) ณ สิ้นปี 2565 และกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการขอปรับโครงสร้างฟื้นฟูกิจการต่อศาลในฮ่องกง หมู่เกาะเคย์แมน และหมู่เกาะบริติช เวอร์จิน หลังจากที่บริษัทเริ่มผิดนัดชำระหนี้หุ้นกู้ตั้งแต่ปีที่แล้ว
ทั้งนี้ อาวหยวนถือเป็นบริษัทที่มียอดขายอสังหาฯ ในอันดับที่ 110 ในจีน ในช่วงครึ่งแรกของปีนี้ และบริษัทได้ตัดสินใจหยุดชำระหนี้เพื่อรักษาสภาพคล่องเงินสดที่มีอย่างจำกัด และเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมต่อเจ้าหนี้ทั้งหมดระหว่างที่รอแผนการปรับโครงสร้างที่ชัดเจน
ก่อนหน้านี้ บริษัทไชน่า เอเวอร์แกรนด์ กรุ๊ป (China Evergrande Group) และบริษัทซูแนค ไชน่า โฮลดิงส์ (Sunac China Holdings) ซึ่งเป็นกลุ่มท็อปบริษัทอสังหาฯ ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ก็ได้ยื่นศาลล้มละลายในสหรัฐไปแล้วเช่นกัน เนื่องจากบริษัทอสังหาฯ รายใหญ่เหล่านี้ล้วนมีสินทรัพย์ในต่างประเทศและเจ้าหนี้ต่างประเทศจำนวนมาก ทำให้บริษัทต้องยื่นกระบวนการขอพิทักษ์ทรัพย์นอกจีนและฮ่องกงด้วย
ทั้งนี้ มาตรา 15 ภายใต้กฎหมายล้มละลายสหรัฐ คือการเปิดทางให้บริษัทต่างประเทศที่มีกิจการในหลายประเทศ และกำลังอยู่ระหว่างกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ในต่างประเทศ สามารถยื่นขอการพิทักษ์ทรัพย์จากศาลล้มละลายในสหรัฐได้ โดยการยื่นคำร้องดังกล่าวจะช่วยป้องกันไม่ให้กลุ่มเจ้าหนี้ในสหรัฐทำการยึดทรัพย์สินของบริษัทในช่วงเวลาที่บริษัทกำลังดำเนินการปรับโครงสร้างหนี้
นับตั้งแต่วิกฤตหนี้สินในภาคอสังหาริมทรัพย์ของจีนเกิดขึ้นในช่วงกลางปี 2564 บริษัทอสังหาริมทรัพย์หลายแห่งที่มียอดขายบ้านรวมกันในสัดส่วน 40% ของยอดขายบ้านทั้งหมดในจีน ได้เผชิญกับการผิดนัดชำระหนี้ โดยส่วนใหญ่เป็นบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของเอกชน
สถานะทางการเงินของบริษัทอสังหาริมทรัพย์จีนถูกสั่นคลอน หลังจากรัฐบาลจีนได้ออกมาตรการควบคุมภาวะร้อนแรงของภาคอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งสกัดการก่อหนี้ของบริษัทขนาดใหญ่ในภาคอสังหาริมทรัพย์ โดยภาคอสังหาริมทรัพย์ถือเป็นเสาหลักสำคัญในการขยายตัวของเศรษฐกิจจีน และมีสัดส่วนผลผลิตทางเศรษฐกิจสูงเกือบ 30% ซึ่งการล้มละลายของเอเวอร์แกรนด์อาจจะส่งผลกระทบลุกลามไปยังบริษัทอื่น ๆ ในภาคอสังหาริมทรัพย์ และสร้างความเสี่ยงต่อระบบธนาคารของจีน