จับตา 2567 ปีแห่งการเลือกตั้งเปลี่ยนโลก
ปี 2567 ประชากรครึ่งโลกจะได้ใช้สิทธิเลือกตั้ง ในจำนวนนี้ราว 30 ประเทศเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี หนึ่งในนั้นคือการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐและรัสเซีย ซึ่งเป็นที่จับตากันมากว่า โดนัลด์ ทรัมป์ จะได้กลับมาหรือไม่ หรือใครจะมาท้าทายวลาดิมีร์ ปูติน
นี่คือการเลือกตั้งบางส่วนที่จะมีขึ้นในปี 2567 ที่ถือเป็นการเลือกตั้งเปลี่ยนโลก ด้วยเป็นการแข่งขันที่ดุเดือดและมีนัยสำคัญเบื้องหลัง
13 ม.ค.ไต้หวัน
การเลือกตั้งแรกของปีและถือเป็นการแข่งขันร้อนแรงที่สุดแห่งหนึ่งคือการเลือกตั้งไต้หวันในวันที่ 13 ม.ค. ดินแดนที่เป็นผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์สำคัญต่อทั้งสหรัฐและจีน โพลล่าสุดยกให้รองประธานาธิบดีไล่ ชิงเต๋อ จากพรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (ดีพีพี) วัย 64 ปี มีคะแนนนิยมเป็นอันดับหนึ่ง ตามด้วยนายโหว โหย่ว อี้ นายกเทศมนตรีนิวไทเปจากก๊กมินตั๋ง พรรคฝ่ายค้านใหญ่ และนายโค เวินเจ๋อ จากพรรคประชาชน (ทีพีพี) ซึ่งค่อนข้างเป็นหน้าใหม่ในการเมืองระดับชาติ ผู้หวังได้คะแนนเสียงจากโหวตเตอร์ที่เบื่อทั้งสองพรรค
14 ก.พ. อินโดนีเซีย
การที่ประชาชนกว่า 200 ล้านคนหย่อนบัตรเลือกตั้งในวันที่ 14 ก.พ. ถือเป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดีโดยตรงครั้งใหญ่สุดของโลก
ผู้สมัครสามคนประกอบด้วย ปราโบโว สุเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม, กันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าราชการชวากลาง และแอเนียส บัสเวดัน อดีตผู้ว่าราชการกรุงจาการ์ตา ต่างอยากขึ้นมาแทนที่ประธานาธิบดีโจโก วิโดโด “โจโกวี” ผู้ดำรงตำแหน่งครอบสองเทอมแล้วมูฮัมหมัด วาฟฟา คาริสมา นักวิจัยจากศูนย์ยุทธศาสตร์และการระหว่างประเทศศึกษาในจาการ์ตา เผยกับนิกเคอิเอเชียว่า การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นเรื่องของ “อนาคตประชาธิปไตยและวัฒนธรรมการเมืองในอินโดนีเซีย เป็นเรื่องของการได้อำนาจ สิทธิมนุษยชน และเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น”
เมื่อวิโดโดลงเลือกตั้งอีกไม่ได้ ญิบราน รากาบุมิง บุตรชายคนโตของเขาจึงลงชิงรองตำแหน่งประธานาธิบดีคู่กับปราโบโว ไม่กี่วันหลังจากศาลพิพากษาเปิดช่องให้เจ้าตัวในวัย 36 ปีลงเลือกตั้งได้ ทั้งๆ ที่กฎหมายกำหนดอายุขั้นต่ำไว้ที่ 40 ปี จุดประกายให้เกิดเสียงวิจารณ์อย่างหนัก และกังวลว่าสาธารณชนจะไม่เชื่อมั่นในสถาบันทางการเมืองของอินโดนีเซีย
17 มี.ค. รัสซีย
ประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินของรัสเซีย ที่เพิ่งมั่นใจมากว่ายังครองฐานที่มั่นในยูเครนได้หลังสงครามผ่านไปสองปี กำลังมีความหวังครองอำนาจต่อไปอีก 6 ปีในการเลือกตั้งเดือนมี.ค. หลังจากเป็นผู้นำรัสเซียมาแล้ว 24 ปี โดยเมื่อวันที่ 8 ธ.ค.เขาประกาศลงเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสมัยที่ 5 ที่จะทำให้อยู่ในอำนาจได้ถึง พ.ศ.2573ก่อนหน้านี้เมื่อปี 2563 ปูตินแก้ไขรัฐธรรมนูญที่เปิดให้เขาอยู่ในอำนาจในทางทฤษฎีได้ถึงปี 2579 ถ้าเป็นเช่นนั้นจริงๆ ก็อาจได้เห็นปูตินปกครองประเทศนานกว่าโจเซฟ สตาลิน
ส่วนคู่แข่งคงเกิดยาก เนื่องจากการใช้สงครามในยูเครนสกัดหรือปิดปากผู้ท้าทายและฝ่ายตรงข้าม จึงมีโอกาสน้อยมากที่จะมีใครขึ้นมาท้าทายเส้นทางอำนาจของปูติน แม้แต่อเล็กซี นาวัลนี ศัตรูยาวนานขณะนี้ต้องโทษจำคุก 19 ปี ล่าสุดเยคาเทรินา ดันต์โซวาอดีตผู้สื่อข่าวโทรทัศน์ วัย 40 ปี ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้งตัดสินขาดคุณสมบัติลงเลือกตั้งประธานาธิบดีรัสเซีย เท่ากับว่าเส้นทางนี้มีไว้ให้ปูตินแต่เพียงผู้เดียว
10 เม.ย. เกาหลีใต้
การเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของชาวเกาหลีใต้ในเดือน เม.ย. จะเป็นหัวใจสำคัญในการตัดสินชะตากรรมของรัฐบาลประธานาธิบดียุน ซ็อกยอลนับตั้งแต่เป็นประธานาธิบดีในปีที่ผ่านมา ยุนผ่านกฎหมายไม่ได้เพราะพรรคประชาธิปไตยฝ่ายค้าน ครองเสียงข้างมากในสภาแห่งชาติ 167 เสียงจากทั้งหมด 298 เสียง พรรคพลังประชาชนของเขาจะต้องได้เสียงเพิ่ม เพื่อทำงานให้สำเร็จในช่วงเวลาที่เหลืออยู่จากการดำรงตำแหน่งได้เพียงวาระเดียว 5 ปี
การเมืองเกาหลีใต้มีแนวโน้มเปลี่ยนแปลงรวดเร็วมาก จากวันนี้กว่าจะถึงเดือน เม.ย. อะไรๆ ก็อาจเปลี่ยนไปมาก แต่สัญญาณเบื้องต้นไม่เข้าข้างพรรคของยุนเลย คะแนนนิยมของเขาติดอยู่ที่ราว 35% ไม่ไปไหนตลอดเวลาที่เป็นประธานาธิบดี เขาไม่มีผลงานอันโดดเด่นที่จะเรียกคะแนนเสียงเพิ่มจากโหวตเตอร์ได้
เม.ย.-พ.ค. อินเดีย
การเลือกตั้งทั่วไปในประเทศที่มีประชากรมากที่สุดในโลกและประชาธิปไตยใหญ่สุดของโลกกินเวลาหลายสัปดาห์ในเดือน เม.ย.และพ.ค.
อินเดียมีประชากร 1.4 พันล้านคน ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 950 ล้านคนยังคงนิยมนายกรัฐมนตรีนเรนทราโมดี วัย 73 ปีและพรรคภราติยะชนะ (บีเจพี) ของเขาอยู่มาก ขณะที่ฝ่ายค้านดิ้นรนให้ได้เสียงมากขึ้น ถึงขนาดต้องผนึกกำลังกันต้านบีเจพี ฝ่ายค้านกว่า 24 พรรครวมตัวเป็นพันธมิตรร่วมพัฒนาชาติอินเดีย (Indian National Developmental Inclusive Alliance:INDIA) ซึ่งรวมถึงคองเกรสแห่งชาติอินเดีย พรรคฝ่ายค้านใหญ่ที่หวังจะกลับไปสู่ยุครุ่งเรืองในฐานะพรรคการเมืองเด่นพรรคเดียวของประเทศ (ราหุล คานธี ผู้นำพรรคฝ่ายค้านคองเกรส)
แต่สัญญาณล่าสุดกลับไม่เป็นใจ การเลือกตั้งห้ารัฐในเดือน พ.ย. พรรคบีเจพีกวาดไปสามรัฐซึ่งเป็นฐานเสียงประชาชนพูดภาษาฮินดี พันธมิตรฝ่ายค้านร่วมมือกันได้เพียงเล็กน้อย และยังคงขาดยุทธศาสตร์ชัดเจนในการรับมือแนวคิดชาตินิยมฮินดูของบีเจพี รวมถึงโครงการสวัสดิการสังคมมากมายที่รัฐบาลโมดีนำออกมาใช้
แนวร่วม INDIA ที่พรรคจำนวนหนึ่งเชือดเฉือนกันอย่างดุเดือดในการเลือกตั้งบางรัฐ ยังไม่เสนอชื่อผู้ท้าชิงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีด้วยซ้ำไป นักวิเคราะห์มองว่า พรรคบีเจพีมีโอกาสชนะเลือกตั้งปี 2567 อย่างมาก โมดีจะได้เป็นนายกฯ สมัยที่ 3
อาชีพการเมืองและความสำเร็จของโมดีมาจากการสนับสนุนของชาวฮินดูกว่า 1 พันล้านคน นักวิจารณ์กล่าวว่า แนวทางของโมดีกระตุ้นความเป็นศัตรูให้กับชาวมุสลิมในอินเดีย
อย่างไรก็ตาม แม้ภายใต้การบริหารของเขาเสรีภาพพลเรือนจะถูกปราบปรามอย่างมาก แต่โมดีกลับเป็นที่นิยม ผู้สนับสนุนให้เครดิตกับการทำให้อินเดียผงาดบนเวทีโลก
2 มิ.ย. เม็กซิโก
คลอเดีย ชายน์บอม อดีตนายกเทศมนตรีฝ่ายซ้ายของเม็กซิโกซิตีและนักธุรกิจหญิง ผู้มีเชื้อสายชนเผ่ากำลังจะสร้างประวัติศาสตร์แห่งเม็กซิโกในเดือน มิ.ย.นี้ ด้วยการเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรกของประเทศที่ีผู้ชายเป็นผู้นำมาโดยตลอด เธอจะลงสมัครในนามพรรคโมเรนาของประธานาธิบดีแอนเดรส มานูเอล โลเปซ โอบราดอร์ ส่วนฝ่ายค้านคนสำคัญอย่างโชชิตล์ กัลเวซ ได้รับเลือกเป็นตัวแทนแนวร่วมฝ่ายค้านthe Broad Front for Mexico
6-9 มิ.ย. สหภาพยุโรป
การเลือกตั้งข้ามชาติใหญ่สุดของโลกเปิดให้ประชาชนกว่า 400 ล้านคนได้ใช้สิทธิเลือกสมาชิกรัฐสภายุโรปถือเป็นบทพิสูจน์การสนับสนุนผู้สมัครฝ่ายขวาประชานิยม ซึ่งเป็นกระแสอันต่อเนื่องหลังจากพรรค PVV Freedom ที่มีแนวคิดต่อต้านอียูและต่อต้านอิสลามของเกียร์ต ไวล์เดอร์ ชนะเลือกตั้งเนเธอร์แลนด์ในเดือน พ.ย. และชัยชนะของ “พี่น้องแห่งอิตาลี” พรรคขวาจัดของจิออร์เจีย เมโลนี
อย่างไรก็ตาม บรัสเซสส์อาจได้ใจจากโปแลนด์ เมื่อโดนัลด์ ทัสก์ อดีตประธานสภายุโรป ได้รับเลือกจากรัฐสภาให้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีโปแลนด์ เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. เป็นรัฐบาลใหม่ที่สนับสนุนอียู หลังจากรัฐบาลอนุรักษนิยมครองอำนาจมานาน 8 ปี
5 พ.ย.สหรัฐ
วันที่ 5 พ.ย. ชาวอเมริกันจะได้เลือกประธานาธิบดีที่อาจเป็นการรีแมทช์ระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน กับอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์
ผลที่ออกมาอาจทำให้ไบเดนนั่งในทำเนียบขาวต่อไปจนกระทั่งอายุ 86 ปีผลสำรวจความคิดเห็นโพลแล้วโพลเล่าชี้ว่า โหวตเตอร์ส่วนใหญ่คิดว่า ไบเดนจากพรรคเดโมแครตชราเกินกว่าจะมาเป็นผู้บัญชาการกองทัพ ขณะที่ว่าที่คู่แข่งอย่างอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ก็อายุมากถึง 77 ปี
การหาเสียงรอบนี้น่าจะเต็มไปด้วยข้อมูลบิดเบือน อารมณ์ค้างจากการเลือกตั้งครั้งก่อนซึ่งจบลงด้วยการที่ผู้สนับสนุนทรัมป์บุกอาคารรัฐสภา เพื่อพยายามสกัดกั้นการรับรองชัยชนะของไบเดน
ถึงขณะนี้ทรัมป์เป็นที่ชื่นชอบให้เป็นตัวแทนพรรครีพับลิกันลงเลือกตั้งประธานาธิบดี แม้ตัวเขาต้องเผชิญคดีอาญามากมาย
ส่วนการหาเสียงของไบเดนต้องเจอกับอุปสรรคอีกครั้ง เมื่อสภาผู้แทนราษฎรนำโดยพรรครีพับลิกันลงมติเมื่อเดือน ธ.ค. เปิดสอบสวนเพื่อถอดถอนอย่างเป็นทางการว่า เขาได้กำไรอย่างมากจากข้อตกลงธุรกิจต่างชาติของลูกชายขณะเป็นรองประธานาธิบดีสมัยบารัก โอบามาหรือไม่