จับตา 7 ความขัดแย้งโลกปี 67 สะเทือนศก.-ความมั่นคงมนุษย์
จับตา 7 ความขัดแย้งโลกปี 67 สะเทือนศก.-ความมั่นคงมนุษย์ โดยการโจมตีบริเวณชายแดนเลบานอน อิรัก ซีเรีย ทะเลแดง หรืออ่าวเปอร์เซีย ที่คร่าชีวิตคนจำนวนมาก อาจนำไปสู่การโจมตีแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเป็นวงกว้าง
เว็บไซต์ไครสิสกรุ๊ป สรุปประเด็นความขัดแย้งทั่วโลกที่น่าจับตาในปี 2567 ทั้งยังคาดการณ์แนวโน้มความขัดแย้งในภูมิภาคต่าง ๆ ร่วมด้วย ซึ่งความขัดแย้งที่น่าจับตามองอันดับแรกของปีนี้คงหนีไม่พ้น “สงครามอิสราเอล-ฮามาส”
อิสราเอล-ฮามาส
ไครสิสกรุ๊ป ระบุว่า ในความเป็นจริงแล้ว มีความเป็นไปได้น้อยที่อิสราเอลจะสามารถกำจัดฮามาสให้สิ้นซากตามคำกล่าวของ'เบนจามิน เนทันยาฮู' นายกรัฐมนตรีอิสราเอล การต่อต้านด้วยการใช้อาวุธจะดำเนินต่อไป ขณะที่การยึดครองพื้นที่ยังคงอยู่ และรัฐบาลวอชิงตันอาจผลักดันให้สงบศึกอีกครั้ง นำไปสู่การปล่อยตัวตัวประกันแลกเปลี่ยนกับนักโทษชาวปาเลสไตน์
ส่วนข้อตกลงพักรบอาจนำไปสู่การถอนกำลังของกลุ่มฮามาส ผ่อนปรนการปิดล้อมพื้นที่ และฮามาสอาจสละตำแหน่งทางการเมืองใด ๆ ให้กับผู้มีอำนาจชาวปาเลสไตน์ ขณะที่เจ้าหน้าที่อาหรับบางคนคาดว่าผู้นำกลุ่มฮามาสหรือนักรบอาจออกจากฉนวนกาซา
อย่างไรก็ตาม การปฏิบัติการต่าง ๆ อาจกินเวลาหลายสัปดาห์หรือหลายเดือน กองกำลังอิสราเอลยังคงยึดพื้นที่และจู่โจมต่อเนื่อง ทำให้ชาวปาเลสไตน์เหลือที่หลบภัยน้อยลง และสถานการณ์อาจแย่กว่านั้น ถ้าอียิปต์ยังมุ่งมั่นให้ชาวปาเลสไตน์ติดอยู่ในกาซาใกล้พรมแดนประเทศ ขณะที่อิสราเอลยังคงโจมตีบริเวณจุดผ่านแดนราฟาห์
ตะวันออกกลาง
สงครามอิสราเอล-ฮามาสเกิดขึ้นในช่วงเวลาที่เลวร้ายสำหรับอิหร่าน เพราะรัฐบาลเตหะรานกำลังพัฒนาความสัมพันธ์กับสหรัฐ อาทิ ชะลอการพัฒนาอาวุธนิวเคลียร์ และให้ความร่วมมือในด้านการตรวจสอบ แลกกับการให้สหรัฐผ่อนปรนการใช้มาตรการค่ำบาตร แต่สงครามในฉนวนกาซาทำให้อิหร่านเข้าสู่ภาวะตกต่ำ
รัฐบาลเตหะรานไม่ต้องการให้กลุ่มฮิซบอลเลาะห์เป็นอันตราย ซึ่งมีรายงานว่าอิหร่านไม่พอใจกลุ่มฮามาสที่ก่อเหตุโจมตีเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 66 ขณะที่ฮามาสก็ไม่พอใจที่อิหร่านไม่ช่วยเหลือมากกว่านี้ และอิหร่านก็ได้รับแรงกดดันจากชาวปาเลสไตน์ด้วย
นอกจากนี้ ความตึงเครียดที่น่ากังวลอีกอย่างคือ กลุ่มติดอาวุธในซีเรียและอิรักเข้าโจมตีฐานทัพสหรัฐหลายครั้ง รวมถึงกบฎฮูตีในเยเมนที่โจมตีอิสราเอลและเรือพาณิชย์ในทะเลแดง
แม้ไม่มีใครอยากทำสงคราม แต่การโจมตีบริเวณชายแดนเลบานอน อิรัก ซีเรีย ทะเลแดง หรืออ่าวเปอร์เซีย ที่คร่าชีวิตคนจำนวนมาก อาจนำไปสู่การโจมตีแบบตาต่อตาฟันต่อฟันเป็นวงกว้างได้
รัสเซีย-ยูเครน
สงครามรัสเซีย-ยูเครนที่กินเวลานานเป็นปีนั้น ไครสิสมองว่า การรุกตอบโต้ของยูเครนไม่ค่อยคืบหน้า เข้าควบคุมพื้นที่ได้น้อย ขณะที่รัสเซียกำลังขยายกองทัพ และใช้จ่ายทางทหารอย่างมหาศาล แม้ถูกคว่ำบาตรจากชาติตะวันตก แต่มีรายได้จากการส่งออกเพียงพอ ด้วยอานิสงส์จากกำไรในภาคพลังงาน
ความไม่ลงรอยกันระหว่างยูเครนและชาติตะวันตกอาจเห็นได้ชัดมากขึ้น ซึ่งสิ่งที่น่าหนักใจคือ ความลังเลในการสนับสนุนยูเครนของชาติตะวันตก อาทิ งบสนับสนุนยูเครนของรัฐบาลเคโมแครตที่ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากพรรครีพับลิกัน
นอกจากนี้ การเจรจากับรัฐบาลเครมลินดูมีโอกาสเป็นไปได้น้อย เพราะทั้งสองฝ่ายยังไม่พร้อมที่จะประนีประนอมกัน
ไครสิสมองว่า สงครามรัสเซีย-ยูเครนยังคงดำเนินอีกยาวไกล หากรัฐบาลมอสโกยึดพื้นที่ยูเครนได้มากขึ้น พื้นที่บางส่วนของสาธารณรัฐโซเวียตอื่น ๆ อาจเป็นรายชื่อถัดไปของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูตินแห่งรัสเซีย
สหรัฐ-จีน
ช่วงต้นปี 2565 ความพยายามกระชับสัมพันธ์ทางการทูตต้องหยุดชะงักเมื่อบอลลูนจีนที่ลอยเข้าเขตน่านฟ้าสหรัฐถูกยิงร่วง แต่การพบกันของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ในงานประชุมสุดยอดเอเปค เมื่อเดือน พ.ย. ไบเดนให้คำมั่นว่าทั้งสองจะทำงานร่วมกัน และสีเห็นพ้องที่จะเปิดช่องทางสื่อสารทางทหารอีกครั้งเพื่อช่วยจัดการความเสี่ยงของการปะทะกันโดยไม่ได้ตั้งใจ
โดยรวมแล้ว ไครสิส มองว่า การแข่งขันระหว่างทั้งสองประเทศยังไม่มีท่าทีลดลง จีนยังคงมีความขัดแย้งในทะเลจีนใต้กับประเทศชายฝั่งทะเลต่าง ๆ เช่น ฟิลิปปินส์ ขณะที่สหรัฐ รับรองความปลอดภัยให้ฟิลิปปินส์และแสดงตนทางทหารในภูมิภาคดังกล่าวมากขึ้น
ส่วนความขัดแย้งระหว่างจีนและไต้หวันก็ยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และการเลือกตั้งไต้หวันที่อาจได้'วิลเลียม ไล่' รองประธานาธิบดีไต้หวันคนปัจจุบัน ผู้หนุนสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับสหรัฐ ขึ้นเป็นประธานาธิบดี อาจจุดชนวนความขัดแย้งเพิ่ม
เมียนมา
การรุกรานของกลุ่มกบฏในพื้นที่ทางตะวันออกเฉียงเหนือและการสู้รบในพื้นที่ต่างๆ ต่างเป็นภัยคุกคามต่อรัฐบาลเผด็จการทหารของเมียนมาที่ยึดอำนาจมาเกือบ 3 ปีก่อน
กองกำลังติดอาวุธที่เกิดขึ้นจากการประท้วงรัฐบาลทหาร ซุ่มโจมตีกองทัพหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ขณะที่รัฐบาลทหารเมียนมาโต้กลับด้วยการโจมตีทางอากาศ ปืนใหญ่ และกองทัพเคลื่อนที่ มุ่งเป้าไปที่ผู้คนจากกลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์หลัก “บามาร์” โดยใช้วิธีป่าเถื่อนแบบเดียวกับที่ใช้กับกลุ่มชาติพันธุ์มาตั้งแต่อดีต
สำหรับตอนนี้ ไครสิสมองว่า รัฐบาลทหารเมียนมายังคงมีอำนาจต่อไป ขณะที่กลุ่มติดอาวุธชาติพันธุ์จำนวนมากในประเทศ และกองกำลังต่อต้านหลังการทำรัฐประหารไม่อาจรวมกลุ่มกันได้ แต่รัฐบาลเมียนมายังคงเผชิญกับศัตรูหลายด้าน และยากที่จะเห็นวิกฤติสิ้นสุดในเร็ววัน
ภูมิภาคซาเฮล
ความโกรธเคืองของประชาชนเกี่ยวกับความไม่มั่นคงในภูมิภาคซาเฮล จุดชนวนให้เกิดรัฐประหารและสนับสนุนผู้นำเผด็จการทหาร
ในปี 2563 และ 2564 เกิดการรัฐประหารต่อเนื่องในประเทศมาลี ต่อมาก็เกิดรัฐประหารในบูร์กินาฟาโซ เนื่องจากการสังหารหมู่ทหารญิฮาด จากนั้นเกิดรัฐประหารในไนจีเรีย
การปกครองของทหารเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ระหว่างประเทศอย่างมาก ความสัมพันธ์ทั้งสามประเทศกับชาติแอฟริกันตะวันตกอยู่ในภาวะตึงเครียด มาลีใกล้ชิดกับรัสเซีย โดยเฉพาะกลุ่มทหารรับจ้างวากเนอร์ ขณะที่บูร์กินาฟาโซก็หันไปใกล้ชิดกับรัสเซียมากขึ้นเช่นกัน ส่วนรัฐบาลทหารไนจีเรียก็วางแผนเปลี่ยนแปลงประเทศอย่างคลุมเครือ แสดงถึงความขัดแย้งภายใน
ไครสิสมองว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นกับภูมิภาซาเฮลในอนาคตคือ ความไม่แน่นอน
ใครก็ตามที่กุมอำนาจในซาเฮลต้องดำเนินการมากกว่าทำการสู้รบ ขณะที่การรุกรานอาจนำมาซึ่งผลประโยชน์ในระยะสั้น และการเจรจายังคุ้มค่าที่จะลอง แต่ความสงบสุขจะขึ้นอยู่กับการเจรจาและข้อตกลง
อาร์เมเนีย-อาเซอร์ไบจาน
กองทัพอาเซอร์ไบจาน เปิดฉากโจมตีกลุ่มชาติพันธุ์อาร์เมเนียในดินแดนพิพาทนากอร์โน คาราบัค เมื่อเดือน ก.ย. 2566 ทำให้ประชาชนต้องอพยพมากกว่า 100,000 คน แต่ปฏิบัติการของอาร์เซอร์ไบจานล่าสุดเหมือนจะปิดฉากลงแล้ว
อย่างไรก็ตาม อาร์เมเนีย และอาเซอร์ไบจานยังมีความขัดแย้งเรื่องพรมแดนที่ยังไม่ได้แบ่งเขต ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ทหารทั้งสองฝ่ายเผชิญหน้ากัน แต่การเจรจาของทั้งสองประเทศอาจมีโอกาสช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้น
ข้อตกลงในเดือน ธ.ค. 2566 ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนเชลยศึก และให้คำมั่นฟื้นฟูความสัมพันธ์เป็นปกติ รวมถึงการสนับสนุนจากอาร์เมเนีย ให้อาเซอร์ไบจานเป็นเจ้าภาพการประชุมสุดยอดสภาพอากาศโลกในปี 2567
หากเจรจาไม่เป็นผล รัฐบาลบากูอาจกดดันรัฐบาลเยเรวาน และบุกรุกพื้นที่ชายแดนเพิ่มมากขึ้น
แต่เจ้าหน้าที่อาเซอร์ไบจานยืนยันว่าไม่ได้เล็งพื้นที่ในอาร์เมเนีย และมีเส้นทางการขนส่งอื่นผ่านอิหร่าน และรัฐบาลบากูก็รับรู้ถึงการตรวจสอบด้านการใช้กำลังจากทั่วโลก แต่เจ้าหน้าที่อาร์เมเนียและชาติตะวันตกยังไม่ได้ตัดความเป็นไปได้เหล่านี้