ขุมทรัพย์ใหม่ซาอุดีอาระเบีย เมื่อเจ้าพ่อน้ำมันเจอบ่อทองคำ
ซาอุดีอาระเบียพบเหมืองทองคำล่าสุดเมื่อไม่กี่วันก่อน ทำให้เกิดการคาดการณ์กันมากว่า ประเทศนี้จะผงาดเป็นผู้ผลิตทองคำรายใหญ่ในภูมิภาค
Key Points:
- ซาอุดีอาระเบียพบแหล่งทองคำขนาดใหญ่ในภูมิภาคมักกะห์
- กูรูชี้ การค้นพบทองคำครั้งนี้สำคัญมากเนื่องจากปริมาณทองคำในแร่ธาตุมีสูง
- วิสัยทัศน์ 2030 กำหนดให้การทำเหมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ
เว็บไซต์ thenationalnews.com รายงานว่า เมื่อไม่กี่วันก่อนบริษัทเหมืองซาอุดีอาระเบีย (The Saudi Arabian Mining Company) หรือมาอาเดน ประกาศพบแหล่งทองคำขนาดใหญ่ในภูมิภาคมักกะห์ เป็นการพบครั้งแรกนับตั้งแต่บริษัทเริ่มสำรวจในปี 2565 ตั้งอยู่บนแนวยาว 100 กิโลเมตร ทางตอนใต้ของเหมืองทองคำมันซูราห์-มาสซาราห์
นายนัสเซอร์ ไซดี อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐกิจเลบานอนและรองผู้ว่าการธนาคารกลาง กล่าวกับ The National ว่า การค้นพบทองคำครั้งนี้สำคัญมากเนื่องจากปริมาณทองคำในแร่ธาตุมีสูง
ตัวอย่างที่เก็บมาจากการสุ่มเจาะสองจุดลึกลงไป 400 เมตรติดกับเหมืองมันซูราห์ มัสซาราห์พบว่า เป็นแหล่งทองคำเกรดสูงวัดได้ 10.4 กรัมต่อตันและ 20.6 กรัมต่อตันตามลำดับ ซึ่งแร่ธาตุเกรดสูงมักมีความเข้มข้น 8-10 กรัมต่อตัน ส่วนแร่ธาตุคุณภาพต่ำมีความเข้มข้น 1-4 กรัมต่อตัน ยิ่งเกรดสูงเท่าใด ยิ่งมีมูลค่ามากและกระบวนการสกัดก็ง่ายขึ้น
เหมืองมันซูราห์ มัสซาราห์ มีแหล่งทองคำเกือบ 7 ล้านออนซ์เมื่อสิ้นปี 2566 ขีดความสามารถการผลิตปีละ 250,000 ออนซ์ เทียบกับ Sukhoi Log เหมืองใหญ่สุดของรัสเซีย เมื่อสิ้นปี 2563 มีทองคำสำรอง 40 ล้านออนซ์ และเหมืองเซาท์ดีปของแอฟริกาใต้ มีทองคำสำรองราว 32.8 ล้านออนซ์ แต่ถ้าพิจารณาในด้านการผลิต เหมืองทองเนวาดาในสหรัฐใหญ่สุด ผลิตได้ปีละราว 3.3 ล้านออนซ์ หรือเกือบ 3% ของการผลิตทองคำโลก
ทั้งนี้ ซาอุดีอาระเบีย ผู้ส่งออกน้ำมันรายใหญ่สุดของโลก กำลังพยายามสร้างเศรษฐกิจให้หลากหลายนอกเหนือไปจากการส่งออกน้ำมันดิบ ด้วยการพัฒนาหลายภาคส่วน อาทิ การท่องเที่ยว บริการ และการเงิน
ตามวิสัยทัศน์ 2030 กำหนดให้การทำเหมืองเป็นองค์ประกอบสำคัญในการดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) มายังซาอุดีฯ ด้วย โดยมีเป้าหมายส่งเสริมให้อุตสาหกรรมเหมืองแร่มีส่วนสร้างจีดีพีเพิ่มขึ้นกว่าสามเท่าภายในสิ้นทศวรรษ
สภาทองคำโลกแถลงว่า การทำเหมืองทองคำมีศักยภาพสร้างความหลากหลายและสร้างจีดีพีให้กับซาอุดีอาระเบียได้ ในฐานะสินทรัพย์ประเภทหนึ่ง ทองคำสามารถเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับเศรษฐกิจซาอุดีฯ ได้โดยเฉพาะระบบการเงิน
ในปี 2565 เศรษฐกิจซาอุดีขยายตัว 8.7% สูงสุดในกลุ่มประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่จี 20 ส่วนปี 2566 กองทุนการเงินระหว่างประเทศคาดการณ์ว่าจะโต 0.8%
ขณะที่ธนาคารโลกประเมินว่า ปีนี้จีดีพีซาอุดีฯ จะขยายตัว 4.1%
อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์มองว่า การส่งออกทองคำในตอนนี้ไม่น่าจะให้ผลตอบแทนมากนัก ขีดความสามารถในการผลิตปีละ 250,000 ออนซ์ของเหมืองมันซูราห์ มัสซาราห์ยังค่อนข้างน้อย ถ้าทองคำจากที่นั่นส่งออกทั้งหมดก็จะสร้างรายได้เพียง 511 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเมื่อเทียบกับราคาทองคำปัจจุบันที่ 2,045 ดอลลาร์ต่อออนซ์
“การส่งออกรวมของซาอุดีอาระเบียในปี 2566 ราว 3.08 แสนล้านดอลลาร์ ดังนั้น 511 ล้านดอลลาร์ถือเป็นสัดส่วนเพียงน้อยนิดของการส่งออกทั้งหมด” การ์บิน อิราเดียน หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ภูมิภาคตะวันออกกลาง แอฟริกาเหนือ และเอเชียกลางกล่าว แต่การพบทองคำอาจช่วยซาอุดีฯ ลดการนำเข้าได้
ในปี 2564 ซาอุดีฯ นำเข้าทองคำ 3.68 พันล้านดอลลาร์ เป็นสินค้านำเข้าอันดับ 4 รองจากปิโตรเลียมกลั่น อุปกรณ์กระจายเสียง และยานยนต์
รอเวลาเปล่งประกาย
กว่าที่การค้นพบทองคำจะทำให้การผลิตทองคำซาอุดีฯ เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญอาจต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง โดยในปี 2565 ซาอุดีฯ ผลิตทองคำเพิ่มขึ้น 11% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
โดยปกติหลังพบแหล่งทองคำแล้วต้องใช้เวลาราว 10-20 ปีกว่าจะถลุงและผลิตเป็นทองคำแท่งได้ คาดว่า ระหว่างปี 2565-2569 ผลผลิตทองคำซาอุดีฯ น่าจะเพิ่มขึ้นปีละ 12% เทียบกับ 7% ระหว่างปี 2560-2564
แม้ยังไม่ทราบขนาดของเหมืองทองที่พบใหม่ มาอาเดนระบุในเอกสารบริษัทว่า บริษัทจะเพิ่มการขุดเจาะอย่างเข้มข้นในปีนี้
ศักยภาพเหมืองแร่
ผลการศึกษาเมื่อปี 2565 โดยกระทรวงอุตสาหกรรมและทรัพยากรแร่ธาตุ เผยว่า ซาอุดีอาระเบียมีเหมืองกว่า 5,300 แห่ง มูลค่าราว 1.3 ล้านล้านดอลลาร์ ทั้งทองคำ เงิน ทองแดง สังกะสี ฟอสเฟต บอกไซต์ และหินปูน
ปัจจุบันซาอุดีฯ ครองสัดส่วนราว 37.9% ของตลาดโลหะและเหมืองแร่ตะวันออกกลางและอเมริกาเหนือ อุตสาหกรรมเหมืองแร่โต 27% ต่อปี มูลค่าเกินกว่า 194 ล้านดอลลาร์ ทำรายได้สูงสุดในปี 2565
“ซาอุดีอาระเบียสามารถดึงดูดการลงทุนภาคเอกชนมายังภูมิภาคที่ยังไม่มีการสำรวจ เช่น แถบเวสเทิร์นอาระเบียนชิลด์ทั้งในด้านโลหะมีค่าและแร่ธาตุอุตสาหกรรมสำคัญ ซึ่งเป็นทรัพยากรสำคัญในการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนของโลก” นายไซดีกล่าว