กรมการกงสุลเปิด 10 อันดับการทูตเพื่อประชาชน 'e-Consular Services'
ปี 2567 กรมการกงสุล กระทรวงการต่างประเทศ ประกาศเป็น e-Consular Department เต็มตัว พร้อมเปิดตัว icon ใหม่ และการใช้เทคโนโลยีและ AI มาให้บริการ 10 ด้าน ดังนี้
1. e-Passport มี feature เด่น ๆ คือ การเก็บ biometrics รูปหน้า ลายนิ้วมือ และม่านตา ตามมาตรฐาน ICAO และในปี 2566 ได้นำนวัตกรรม “KIOSK” ทำธุรกรรมด้วยตนเอง สะดวก รวดเร็ว
2. e-Visa เป็นระบบการขอวีซ่า online ปัจจุบันให้บริการแล้ว 38 สำนักงาน ใน 23 ประเทศ ในภูมิภาคยุโรป อเมริกาเหนือ และเอเชีย และต้นปี 2567 จะขยายไปอีก 11 สำนักงาน ใน 9 ประเทศ พร้อมทั้งจะเพิ่มอีก 15 ภาษา เพื่อรองรับการขยายระบบให้ครอบคลุมสถานทูตทั่วโลกในอนาคต
3. e-Legalization หรือระบบรับรองนิติกรณ์เอกสารอิเล็กทรอนิกส์ ช่วยให้ ประชาชนสามารถติดตามสถานะการรับรองเอกสาร เพื่อนำไปใช้ระหว่างประเทศ และตรวจสอบความแท้จริงของเอกสารที่รับรอง รวมถึงการนำสติกเกอร์ hologram มาใช้ป้องกันการปลอมแปลง
4. e-Help หรือระบบขอรับความช่วยเหลือออนไลน์ เพื่อช่วยเหลือและอพยพคนไทยจากสถานการณ์ความรุนแรงหรือภัยพิบัติทั่วโลก โดยสามารถแจ้งขอความความช่วยเหลือทาง online ช่วยให้เจ้าหน้าที่สามารถให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
5. e-Complaint หรือระบบร้องเรียนออนไลน์ เนื่องด้วยกรมการกงสุล เป็นศูนย์รับเรื่องร้องเรียนของกระทรวงการต่างประเทศ ระบบนี้จึงถูกพัฒนาขึ้นเพื่อให้ประชาชนแจ้งเรื่องร้องเรียนต่าง ๆ ได้ทาง online ระบบยังเชื่อมข้อมูลกับศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลได้อย่างรวดเร็ว ครอบคลุม และรอบด้าน
6. “Thai Consular” application เป็น application บนมือถือ ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลกงสุลต่าง ๆ เพียงปลายนิ้วสัมผัส และมี feature เด่น ๆ อาทิ ระบบ SOS ขอรับความช่วยเหลือฉุกเฉิน ระบบ Internet Call ระบบถาม-ตอบอัตโนมัติ และระบบแสดงที่ตั้งและเส้นทางไปสถานทูตเพื่อขอรับความช่วยเหลือ
7. Consular Index เพื่อรวบรวมข้อมูลสถิติด้านการกงสุลจากสถานทูตทั่วโลก เพื่อให้กรมการกงสุลมีข้อมูลสามารถกำหนดนโยบาย
และจัดสรรงบประมาณที่สอดคล้องกับภารกิจของแต่ละสถานทูตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
8. OVMS (Overseas Voting Monitoring System) หรือระบบเฝ้าติดตามการจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักร เป็นระบบ checklist เพื่อให้สถานทูตจัดการเลือกตั้งนอกราชอาณาจักรได้ถูกต้องตามกฎระเบียบ ส่วนกลางสามารถติดตามสถานะทั่วโลกได้แบบ real time นอกจากนี้ระบบ OVMS ยังถูกออกแบบให้รองรับการออกเสียงประชามตินอกราชอาณาจักรอีกด้วย
9. e-Consular Manual หรือระบบคลังความรู้ด้านงานกงสุล ช่วยให้เจ้าหน้าที่ กงสุลทั่วโลกสามารถสืบค้นข้อมูลกงสุลและกฎระเบียบต่าง ๆ ได้อย่างสะดวกรวดเร็ว และมีช่องทาง chat กับส่วนกลางเพื่อสอบถามข้อมูลต่าง ๆ ได้อีกด้วย
10. Centralized Consular Data Center (CCDC) หรือศูนย์บริหารข้อมูลกลางกรมการกงสุล พัฒนาขึ้นเพื่อรวบรวม big data ด้านกงสุลสำหรับการใช้ประโยชน์ในอนาคต โดยเก็บข้อมูลไว้บน cloud นอกจากนี้ CCDC ยังเป็น consular gateway เชื่อมโยงข้อมูลกับหน่วยงานภายนอก
นอกจากระบบข้างต้นแล้วกรมการกงสุลจะนำ AI มาใช้ อาทิ การใช้ ChatGPT เพื่อยกระดับการให้ข้อมูลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น รวมถึงศึกษาการนำ Blockchain และ Quantum Computing มาพัฒนาบริการในอนาคตด้วย