ปัจจัยชี้ขาดสงครามเย็นดิจิทัล | อิทธิ กวีพรสกุล
ประเทศมหาอำนาจสร้างอำนาจครอบงำเทคโนโลยี โดยการแข่งขันทางเศรษฐกิจหรือ “สงครามเย็นดิจิทัล (digital cold war)” ซึ่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดความองอาจทางภูมิศาสตร์การเมือง
โลกกำลังเคลื่อนเข้าสู่ระเบียบใหม่อย่างชัดเจน เห็นได้จากการเพิ่มขึ้นของกระแสชาตินิยมและการแข่งขันทางภูมิศาสตร์การเมือง (geopolitical competition)
แม้ประเทศต่าง ๆ ยังไม่เลิกล้มระบบเศรษฐกิจที่ก่อตั้งขึ้นภายใต้ขั้วอำนาจเดียว (unipolarity) ของสหรัฐฯในช่วง 3 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่บางภาคส่วนสำคัญกำลังแยกตัว (decoupled) โดยกระบวนการที่เรียกว่า “โลกาภิวัตน์ใหม่ (re-globalization)”
การแยกตัวอย่างมีนัยสำคัญของระบบนิเวศเทคโนโลยี ภายใต้บงการของสหรัฐฯและจีนทำให้รัฐอื่น ๆ ต้องตัดสินใจว่าจะเป็นส่วนหนึ่งของค่ายใด
ประเทศมหาอำนาจทั้งสองสร้างอำนาจครอบงำเทคโนโลยีโดยการแข่งขันทางเศรษฐกิจหรือ “สงครามเย็นดิจิทัล (digital cold war)” ซึ่งนวัตกรรมทางเทคโนโลยีเป็นตัวกำหนดความองอาจทางภูมิศาสตร์การเมือง
เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) คือ ปัจจัยชี้ขาด “การแข่งขันทางเศรษฐกิจ” และสามารถเปลี่ยนแปลงสังคมได้อย่างรวดเร็วจนถึงรากฐาน
AI เป็นที่ยอมรับเรื่องข้อมูลและกรณีการใช้งาน (use case) ผ่านแอปพลิเคชันทั้งภาครัฐและเอกชน
การจะทำให้โลกประชาธิปไตยก้าวไปข้างหน้า ประเทศและบริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือและการเปลี่ยนสภาพเหนือการแข่งขันและภาวะที่ถูกทำให้แตกแยก
คำกล่าวอ้างที่ว่า “โลกาภิวัตน์สิ้นสุดแล้ว” เป็นการเข้าใจผิดอย่างมหันต์ ระบบที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ขณะนี้ซับซ้อนกว่าการย้อนกลับของการเชื่อมโยงทั่วโลก
เส้นทางการค้ากำลังเปลี่ยนทิศและมิได้ปิดตัวลง อุตสาหกรรมเชิงพาณิชย์ส่วนใหญ่ยังคงเปิดกว้างทั่วโลก แต่บางภาคส่วนที่สำคัญกลับทิศเข้าหาห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศ
แนวโน้มดังกล่าวเริ่มจากวิสัยทัศน์ Made in China 2015 ของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ซึ่งให้ความสำคัญกับการฟื้นเศรษฐกิจภายในประเทศมากกว่าตลาดภายนอก
จีนวางแผนเอาชนะสหรัฐฯ และมหาอำนาจอื่นในการควบคุมเศรษฐกิจเทคโนโลยีชั้นสูง โดยมุ่งเป้าหมายพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีสำคัญร้อยละ 70 ภายในปี 2025
หลังจากนั้นสหรัฐฯได้ตอบโต้ด้วยมาตรการที่ทะเยอทะยาน เพื่อรักษาสถานะผู้นำทางด้านเทคโนโลยี ด้วยเหตุนี้จึงนำไปสู่อนาคตแบบสองขั้วของเทคโนโลยีชั้นสูง (bipolar high technology)
ขณะนี้เรากำลังมุ่งหน้าไปสู่ 2 ระบบนิเวศที่ผนึกแน่น คือ ระบบเปิดที่เกี่ยวข้องกับประชาธิปไตย ความเป็นส่วนตัวและสิทธิส่วนบุคคลและระบบที่สนับสนุนการควบคุมโดยรัฐ จำกัดการไหลเวียนของข้อมูลและการเปิดกว้างทางการเมือง
ในยุคที่ผ่านมา สหรัฐฯเป็นผู้สร้างนวัตกรรมบนเทคโนโลยีและประเทศอื่น ๆ รับเอามาใช้ เมื่อผู้นำทางเทคโนโลยีสหรัฐฯสร้างการค้นพบคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคล (PC) และอินเตอร์เน็ต บริษัทอเมริกันสามารถดำเนินงานแบบเอกเทศและเผยแพร่เทคโนโลยีไปทั่วโลกจากบนลงล่าง
การปฏิวัติระบบคลาวด์ (cloud computing) ได้ขยายขอบเขตเทคโนโลยี โดย Amazon, Microsoft และ Google มีส่วนแบ่งตลาดคลาวด์ร้อยละ 65 ของโลก กลยุทธ์ดังกล่าวอาจส่งผลให้เทคโนโลยีกระจัดกระจาย แต่ AI ถูกออกแบบมาเพื่อการเปลี่ยนแปลงทางสังคมซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต้องร่วมมือกันในรูปแบบใหม่
นอกจากความสามารถในการประมวลผล พลังของ AI ยังขึ้นอยู่กับปริมาณข้อมูลที่ถูกป้อนเข้าไปด้วย สหรัฐฯหรือประเทศอื่นใดที่ดำเนินงานแยกจากกันโดยจำกัดการไหลเวียนของข้อมูลจะล้มเหลวในการเพิ่มศักยภาพของเทคโนโลยีของตนให้ถึงขีดสูงสุด
นโยบายการแปลข้อมูลเป็นภาษาท้องถิ่นเพิ่มขึ้นสองเท่าทั่วโลกตั้งแต่ปี 2017 - 2021 ขณะที่การขัดขวางความร่วมมือข้ามพรมแดนยังคงดำเนินต่อไป การสรุปรวมความรู้และความสามารถของมนุษย์ไม่ได้แยกเก็บในประเทศหรือวัฒนธรรมใด ฐานความรู้ของ Wikipedia จัดเก็บเป็นภาษาอังกฤษเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น
เพื่อให้ AI ช่วยแก้ปัญหาที่ยากที่สุด จึงต้องปลดล็อกขีดความสามารถของโลก ตั้งแต่นักวิทยาศาสตร์นิวเคลียร์ชาวฝรั่งเศสไปจนถึงนักปรัชญาชาวเกาหลี จากนักวิจัยชาวอินเดียไปจนถึงศิลปินชาวเคนยาและนักวิจัยชาวจีนที่เลือกออกจากจีนไปทำงานและอาศัยในประเทศตะวันตก
ภาคส่วนนี้ต้องการเงินลงทุนจำนวนมาก ตลาดในประเทศเพียงไม่กี่แห่งเท่านั้นที่มีขนาดใหญ่พอที่จะประสบความสำเร็จด้าน AI ด้วยตัวเอง ตัวอย่างเช่น การลงทุนด้านเซมิคอนดักเตอร์ ซึ่งเป็นปัจจัยนำเข้า (input) สู่ความก้าวหน้าของ AI
เมื่อเร็ว ๆ นี้อังกฤษได้ประกาศแผนลงทุนด้าน AI มูลค่า 100 ล้านปอนด์และเซมิคอนดักเตอร์ 1,000 ล้านปอนด์ ซึ่งถือเป็นจำนวนน้อยกว่าเมื่อเทียบกับการลงทุน 2,800 ล้านดอลลาร์ของสหรัฐฯและแพ็คเกจไมโครชิปของสหภาพยุโรปมูลค่า 4,300 ล้านยูโร
กรอบการกำกับดูแลในประเทศตะวันตกส่งผลเสียต่อความสามารถในการแข่งขันและเอาชนะ AI ของจีน ซึ่งมีประชากรมากกว่าสหรัฐฯถึงสี่เท่ารวมทั้งแหล่งข้อมูล (DATA Point) สำหรับการวิเคราะห์เชิงลึก
การแบ่งปันข้อมูลระหว่างรัฐบาลจีนและผู้นำด้านเทคโนโลยีในประเทศทำให้ตัวแบบ AI ของจีน ซึ่งอ้างอิงการวิจัยของสหรัฐฯและต่างประเทศสามารถก้าวข้ามขีดความสามารถของตะวันตกได้
ด้วยขนาดและการรวมศูนย์อำนาจและการรุกล้ำในประเทศอื่น ๆ ส่งผลให้จีนมีศักยภาพในการพัฒนาตัวแบบ AI ที่ครอบคลุมเบ็ดเสร็จเหนือกว่าตัวแบบที่มีความหลากหลายของประเทศประชาธิปไตย โดยปราศจากความร่วมมือระหว่างประเทศ
ขณะที่สหรัฐฯยังคงเป็นผู้นำด้าน AI บริษัทต่าง ๆ ทำงานวิจัยที่ล้ำสมัย แต่ดูเหมือน AI จะมีอคติต่อระบบเปิดที่มีการเข้าถึงข้อมูลอย่างอิสระ
สหรัฐฯเสี่ยงที่จะสูญเสียความได้เปรียบ หากล้มเหลวในการรวมตัวภายใต้ยุทธศาสตร์เดียวกันกับประเทศประชาธิปไตยอื่น ๆ
ทั้งนี้ บริษัทจีนจะนำเทคโนโลยีของตนไปสู่ตลาดตะวันตกและมีอิทธิพลต่อการเมืองในระบอบประชาธิปไตย โดยส่งสัญญาณการครอบงำทางเศรษฐกิจและการล่าอาณานิคมโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลทั่วโลก
AI เป็นส่วนสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานระดับโลก ชาติตะวันตกจะต้องดำเนินการอย่างรวดเร็วและเป็นเอกภาพ เพื่อให้เทคโนโลยีเปิดกว้างและควบคุมตามระบอบประชาธิปไตย
การพัฒนาตัวแบบ AI ที่ทรงพลังในภาคส่วนต่าง ๆ สหรัฐฯจะต้องร่วมมือกับพันธมิตร เช่น อินเดีย สิงคโปร์ ญี่ปุ่น เกาหลีใต้และยุโรป โดยนำนโยบายการแบ่งปันข้อมูลมาใช้และส่งเสริมความร่วมมือสร้างนวัตกรรมทางเทคโนโลยี
หากไม่สามารถแก้ไขปัญหาดังกล่าวจะทำให้ AI ส่งผลกระทบอย่างจำกัด การแยกส่วนข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นการยุติความร่วมมือทันที ข้อมูลและนวัตกรรมทางการแพทย์และการดูแลสุขภาพไม่ได้จำกัดอยู่เพียงประเทศใดประเทศหนึ่งหรือสถาบันวิจัยแห่งใดแห่งหนึ่ง
AI ในภาคอุตสาหกรรมที่ขับเคลื่อนห่วงโซ่อุปทานโลกจะไร้ประสิทธิภาพ หากไม่มีการเชื่อมโยงข้อมูลถึงกันอย่างต่อเนื่อง
การใช้ข้อมูลของผู้บริโภคบนแอพลิเคชั่นที่มีลิขสิทธิ์แตกต่างกัน จะกีดกันความเกี่ยวข้องและพลังทางวัฒนธรรม การเข้าถึงข้อมูลอย่างเสรีจะได้รับความนิยมมากกว่ากฎระเบียบหยุมหยิมและข้อกำหนดด้านอธิปไตย ซึ่งเพิ่มต้นทุนและความซับซ้อนในการปฏิบัติ
บริษัทตะวันตกที่ต้องการเป็นผู้นำตลาด AI จะต้องร่วมมือกับสถาบันของรัฐและภาคประชาสังคม ขณะที่วาทกรรมเกี่ยวกับ AI ปัจจุบันส่วนใหญ่มุ่งเน้นตัวแบบภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model - LLM) และความสามารถในการสร้างใหม่
ผลกระทบที่สำคัญในระยะยาวเกิดจากวิธีที่ AI เปลี่ยนแปลงอุตสาหกรรมและสังคมการเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นไม่ได้หากภาคเอกชนถูกตัดขาดจากสังคมในวงกว้าง
ชัยชนะในสงครามเย็นดิจิทัลจะเกิดขึ้นได้ สหรัฐฯและพันธมิตรจะต้องเป็นผู้นำตลาดด้าน AI และเพื่อสร้างบริษัท AI ที่ดีที่สุด
ฝ่ายประชาธิปไตยจำเป็นต้องจัดลำดับความสำคัญของความร่วมมือระหว่างประเทศและสร้างกรอบความคิดใหม่ ซึ่งมีเป้าหมายสร้างสรรค์สิ่งใหม่ ๆ ด้วยความรับผิดชอบและปลดปล่อยศักยภาพของมนุษย์.