เปิดมุมมอง 'โอกาส' ไทย-เยอรมนี ในการเยือนระดับประธานาธิบดีครั้งแรกรอบ 22 ปี
ทูตไทยประจำเบอร์ลินมองโอกาส 'ไทย-เยอรมนี' กระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจครั้งใหญ่ มุ่งสู่ความเป็นหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ หลังประมุขแห่งรัฐเยือนไทยเป็นชาติแรกหลังเลือกตั้ง
นายณัฐวัฒน์ กฤษณามระ เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลิน ให้สัมภาษณ์พิเศษ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า การเดินทางเยือนประเทศไทยและเวียดนามอย่างเป็นทางการของ ดร.ฟรังค์ วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีและคณะในครั้งนี้ ถือว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในหลายมิติ โดยเป็นหนึ่งในความพยามยามกระจายความเป็นหุ้นส่วนของเยอรมนีกับภูมิภาคต่างๆ ให้มากขึ้น โดยเฉพาะในอาเซียน ซึ่งเยอรมนีมีการประเมินว่าจะต้องมีการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างกันให้มากขึ้น
นายณัฐวัฒน์กล่าวว่า หลังเสร็จสิ้นการเลือกตั้งในไทยเมื่อปีที่แล้ว ถือเป็นบริบทที่ดีและได้มีการเดินทางเยือนประเทศไทยของประธานาธิบดีเยอรมนีเป็นครั้งแรกในรอบ 22 ปี และยังเป็นประมุขของรัฐคนแรกที่เดินทางเยือนประเทศไทยในปีนี้อีกด้วย โดยเยอรมนีนั้นนับเป็น 1 ใน 10 ประเทศเป้าหมาย “การทูตเศรษฐกิจเชิงรุก” ที่ไทยจะกระชับความสัมพันธ์เพื่อเพิ่มการค้า-การลงทุนเป็นอันดับต้นๆ ขณะที่ไทยเองก็เป็นประเทศที่เยอรมนีเล็งเห็นศักยภาพในการกระชับความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจให้แน่นแฟ้นขึ้น และทั้งสองฝ่ายได้กำหนดเป้าหมายยกระดับสู่หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ (Strategic Partnership) ระหว่างกันต่อไป
“การมาเยือนไทยของประธานาธิบดีเยอรมนีและคณะในครั้งนี้ เพื่อมาดูศักยภาพของไทยและนำไปกำหนดทิศทางการยกระดับความร่วมมือระหว่างกันต่อไปทั้งในกรอบทวิภาคีและภายใต้กรอบของสหภาพยุโรป ในโอกาสที่ท่านนายกรัฐมนตรีจะเดินทางเยือนประเทศเยอรมนีอย่างเป็นทางการต่อไปในเดือน มี.ค.นี้” เอกอัครราชทูต ณ กรุงเบอร์ลินกล่าว
การเยือนไทยและเวียดนามในครั้งนี้ยังมีขึ้นในจังหวะที่เยอรมนีซึ่งเป็นเขตเศรษฐกิจเบอร์ 1 ในยุโรป กำลังเผชิญความท้าทายหลายด้านไม่ว่าจะเป็นสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ทำให้เยอรมนีต้องเร่งลงทุนด้านพลังงานเองมากขึ้น การลดความเสี่ยงจากจีนโดยหันไปกระจายความร่วมมือกับประเทศอื่นๆ และการพยายามดึงทาเลนต์เพิ่มแรงงานมีฝีมือที่กำลังขาดแคลน ซึ่งล้วนเป็น "โอกาส" ที่ไทยควรเร่งฉวยจังหวะความร่วมมือนี้ให้ได้โดยเร็วด้วย
ผลักดัน ‘เอฟทีเอไทย-อียู / ฟรีวีซ่าเชงเก้น’
หนึ่งในบริบทความร่วมมือภายใต้สหภาพยุโรป (อียู) ที่เยอรมนีต้องการผลักดันก็คือ การเจรจาข้อตกลงเขตการค้าเสรีไทย-อียู (เอฟทีเอ) โดยภาคเอกชนของเยอรมนีสนับสนุนว่าหากมีเอฟทีเอกับไทยก็จะช่วยเพิ่มการค้าและการลงทุนระหว่างกันได้มาก ซึ่งประเด็นเรื่องเอฟทีเอไทย-อียูเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้มีคณะนักธุรกิจเยอรมนีส่วนหนึ่งร่วมเดินทางมาในครั้งนี้ด้วย โดยคาดว่าจะช่วยสะท้อนเสียงไปยังอียูว่าการเจรจาข้อตกลงเอฟทีเอควรจะได้ข้อสรุปโดยเร็วเพื่อประโยชน์ของทั้งสองฝ่าย
ปัจจุบัน อียูมีการบรรลุเอฟทีเอกับประเทศในอาเซียนเพียง 2 ชาติเท่านั้นคือ สิงคโปร์และเวียดนาม ซึ่งทำให้เวียดนามกลายเป็นประเทศในกลุ่มอาเซียนที่มีการส่งออกไปเยอรมนีมากที่สุด และอียูกำลังอยู่ระหว่างการเจรจาเอฟทีเอกับไทยและอินโดนีเซีย
ส่วนแนวทางการผลักดันเรื่องขอยกเว้นตรวจลงตราสำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเกน (ฟรีวีซ่าเชงเก้น) นั้นถือเป็นความสำคัญอันดับต้นๆ ของทั้งรัฐบาลไทยและกระทรวงการต่างประเทศ ที่ต้องการเพิ่มอำนาจของพาสปอร์ตไทยในเวทีโลกให้มากขึ้น โดยเฉพาะกับคู่ประเทศที่ไทยให้การยกเว้นการตรวจลงตราไปแล้ว
โดยเยอรมนีนั้นถือเป็นประเทศประชากรขนาดใหญ่ในอียู ดังนั้นการผลักดันเรื่องฟรีวีซ่าเชงเก้นจึงเป็นเรื่องที่ไทยต้องขับเคลื่อนผ่านเยอรมนีเช่นกัน และได้เริ่มดำเนินการยื่นเรื่องไปแล้ว โดยทางเยอรมนีรับเรื่องของเราด้วยดี ขณะที่ประเทศไทยถือเป็นจุดหมายการเดินทางสำคัญของชาวเยอรมัน มีนักท่องเที่ยวกว่า 7 แสนคน ในปี 2566 ที่ผ่านมา
ขาดแคลนแรงงาน เล็งนำเข้าจาก 'เวียดนาม-ไทย'
นายณัฐวัฒน์ กล่าวว่า เป็นที่ทราบดีว่าเยอรมนีกำลังประสบปัญหาการขาดแคลนแรงงานมีทักษะ ตั้งแต่แรงงานในภาคอุตสาหกรรมไปจนถึงภาคบริการ และกำลังพยายามดึงดูดแรงงานมีทักษะและคนเก่งๆ เข้าไปทำงานมากขึ้น รวมถึงการที่เพิ่งแก้กฎหมายให้ขอสัญชาติได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม ซึ่งจุดนี้เองเป็นเหตุผลหนึ่งในการมาเยือนเอเชีย เพราะเล็งเห็นในศักยภาพของแรงงานชาวเอเชียที่มีทักษะฝีมือ มีความขยัน พูดภาษาอังกฤษได้ดีพอสมควร
สังเกตได้จากการที่ประธานาธิบดีเยอรมนีมาเยือนในครั้งนี้ มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานของเยอรมนีร่วมคณะมาด้วย ซึ่งโดยปกติแล้วการเดินทางเยือนประเทศต่างๆ ของประธานาธิบดีในฐานะประมุขของรัฐ จะไม่ได้มาพร้อมกับรัฐมนตรีที่ร่วมรัฐบาลหรือฝ่ายบริหาร โดยจะมากับรัฐมนตรีช่วยของแต่ละกระทรวงมากกว่า แต่ในครั้งนี้นอกจากรัฐมนตรีช่วย 4 กระทรวงแล้ว ยังมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน นายฮูเบอร์ตุส เฮล เดินทางมาด้วย และยังถือเป็นผู้ที่อยู่ในคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบันยาวนานที่สุด ซึ่งสะท้อนถึงความพยายามเชื่อมโยงด้านแรงงานใน 2 มิติ
มิติแรกคือ เปิดทางดึงแรงงานต่างชาติให้เข้าไปทำงาน เช่น เวียดนาม ที่มีชุมชนต่างชาติเข้าไปตั้งชุมชนในเยอรมนีเป็นเวลาหลายสิบปีมาแล้ว ตั้งแต่ยังเป็นยุคเวียดนามเหนือ-ใต้อยู่ ส่วนในอีกมิติหนึ่ง คือความร่วมมือพัฒนาฝีมือแรงงาน เช่น ในประเทศไทย เพื่อทำงานในธุรกิจที่ภาคเอกชนของเยอรมนีลงทุนหรือเป็นหุ้นส่วน ซึ่งไทยกับเยอรมนีมีความร่วมมือกันในด้านอาชีวศึกษาอยู่แล้ว เช่น สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้า แต่ก็ต้องการยกระดับความร่วมมือให้เข้มข้นขึ้น
“ในแง่การเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้าเยอรมนีมากขึ้นนั้น เข้าใจว่าในทริปนี้เยอรมนีต้องการลงนามความร่วมมือด้านการเคลื่อนย้ายแรงงาน (mobility) กับเวียดนาม เขามีการเตรียมล่วงหน้ามาพอสมควรแล้ว เพราะเคยมีการส่งคนไปทำงานในเยอรมนีเป็นกลุ่มใหญ่มานานแล้ว ส่วนในไทยอาจเป็นพูดในเชิงกว้างมากกว่าโดยอาจปูทางไปสู่ความร่วมมือในอนาคตมากขึ้นต่อไปถ้าไทยพร้อม” นายณัฐวัฒน์ กล่าว
‘อีวี-พลังงานสะอาด’ โอกาสการลงทุนในไทย
เยอรมนีมีความร่วมมือกับไทยที่ใหญ่ที่สุดในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเยอรมนีพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทนเพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าของไทย และในการเดินทางเยือนไทยครั้งนี้ก็จะมีการเดินทางไปดูโครงการพลังงานไฮบริดของไทย ที่เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี ซึ่งมีการผลิตพลังงานโซลาร์เซลล์ลอยน้ำไฮบริดที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมสำคัญที่มีศักยภาพต่อยอดความร่วมมือและการลงทุนมากขึ้นในอนาคต
นายณัฐวัฒน์ กล่าวว่าเนื่องจากผลกระทบจากสงครามการสู้รบระหว่างรัสเซียและยูเครน ซึ่งทำให้ยุโรปมีปัญหาด้านความสัมพันธ์กับรัสเซียไปด้วย ทำให้ส่งผลกระทบอย่างมากในแง่การนำเข้าพลังงานจากรัสเซียที่ต้องหยุดชะงักไป จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้เยอรมนีเร่งพัฒนาพลังงานทางเลือกอย่างก้าวกระโดดตลอดช่วง 2 ปีที่ผ่านมา เห็นได้ชัดว่าตลอดข้างถนนในหลายพื้นที่ของเยอรมนีจะเต็มไปด้วยพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์ ซึ่งบริษัทไทยเอง เช่น กัลฟ์ เอ็นเนอร์ยี ก็ได้เข้าไปลงทุนพลังงานกังหันลมออฟชอร์ในเยอรมนีด้วย ซึ่งถือเป็นการเรียนรู้เทคโนโลยีพลังงานใหม่มาปรับใช้ด้วย
นายณัฐวัฒน์ กล่าวว่า ภายใต้ธุรกิจเยอรมนีกว่า 600 บริษัทในประเทศไทยนั้น กลุ่มยานยนต์เป็นหนึ่งในธุรกิจเยอรมันที่มีการลงทุนและฐานการผลิตที่แข็งแกร่งในประเทศไทยอยู่แล้ว นำโดยเมอร์เซเดส เบนซ์ และบีเอ็มดับเบิลยู ซึ่งได้มีการผลิตในส่วนของรถยนต์ไฟฟ้า (อีวี) ไปแล้ว
"แต่ไทยก็ยังต้องการการลงทุนอีกมากในส่วนของอีโคซิสเต็มของอีวีทั้งระบบ ที่มากกว่ารถไฟฟ้า ซึ่งบริษัทเยอรมนีหลายแห่งมีศักยภาพที่จะเข้ามาลงทุนในอีโคซิสเต็มของอุตสาหกรรมอีวีในประเทศไทย การมาเยือนครั้งนี้น่าจะเป็นโอกาสที่ทีมเยอรมนีจะได้เห็นศักยภาพของไทย และขยายผลจากฐานที่มีอยู่แล้ว"