โตโยต้ารั้งที่ 1 ยอดขายโลก 4 ปีซ้อน เติบโตพุ่ง 7.2% ทำยอดทุบสถิติปีที่แล้ว

โตโยต้ารั้งที่ 1 ยอดขายโลก 4 ปีซ้อน เติบโตพุ่ง 7.2% ทำยอดทุบสถิติปีที่แล้ว

โตโยต้าครองแชมป์ขายรถได้มากที่สุดในโลก 4 ปีซ้อน ในปี 2566 ยอดขายทุบสถิติใหม่ 11.2 ล้านคันในปีที่แล้ว ขณะที่มรสุมข่าวฉาวการปลอมแปลงข้อมูลยังคงรุมเร้า

บริษัทโตโยต้า มอเตอร์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่จากญี่ปุ่นระบุในวันนี้ (30 ม.ค.) ว่า โตโยต้าจำหน่ายรถได้สูงเป็นประวัติการณ์ที่ 11.2 ล้านคันในปี 2566 ส่งผลให้โตโยต้าครองตำแหน่งผู้ผลิตยานยนต์ที่มียอดขายรถสูงที่สุดในโลกติดต่อกันเป็นปีที่ 4 ในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ โตโยต้ารายงานยอดขายทั่วโลกเพิ่มขึ้น 7.2% ในปีที่ผ่านมา ซึ่งรวมถึงรถบรรทุกจากฮีโน่มอเตอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถบรรทุกในเครือและรถยนต์จากไดฮัทสุ ซึ่งเป็นบริษัทผลิตรถยนต์ขนาดเล็กในเครือ โดยได้แรงหนุนจากยอดขายสูงเป็นประวัติการณ์จากต่างประเทศที่ 8.9 ล้านคัน

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ยอดขายรถยนต์เฉพาะจากบริษัทแม่อย่างโตโยต้า ซึ่งรวมถึงแบรนด์โตโยต้าและเลกซัส แตะระดับสูงเป็นประวัติการณ์ที่ 10.3 ล้านคันในปี 2566

สำหรับรถยนต์ไฮบริดคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 1 ใน 3 ของยอดขายดังกล่าว และรถยนต์แบตเตอรี่คิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 1%

ทั้งนี้ บริษัทมียอดขายเฉพาะเดือน ธ.ค. เติบโตถึง 10% เมื่อเทียบปีก่อนหน้า อยู่ที่ 1 ล้านคัน และมีการผลิตในเดือนเดียวกันโต 7.7% อยู่ที่ 9.06 แสนคัน โดยเป็นผลจากอุปสงค์ที่แข็งแกร่งและสถานการณ์การขาดแคลนเซมิคอนดักเตอร์ที่ผ่อนคลายลง

ส่วน "โฟล์คสวาเก้น" ซึ่งเป็นผู้ผลิตยานยนต์คู่แข่งจากเยอรมนี คว้าอันดับสองไปครอง โดยในเดือนนี้โฟล์คสวาเก้นออกมาระบุว่า ยอดส่งมอบรถยนต์เพิ่มขึ้น 12% สู่ระดับ 9.2 ล้านคันในปีที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นการฟื้นตัวขึ้นหลังผ่านพ้นช่วงโรคโควิด-19 ระบาด เนื่องจากภาวะติดขัดด้านห่วงโซ่อุปทานคลี่คลายลง
 

มรสุมการปลอมแปลงข้อมูลยังรุมเร้า

ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 29 ม.ค.67 ทางบริษัทเพิ่งแถลงว่า โตโยต้า อินดัสทรีส์ คอร์ป ซึ่งเป็นบริษัทในเครือได้ปลอมแปลงเอกสารข้อมูลเกี่ยวกับกำลังไฟฟ้าของเครื่องยนต์ดีเซลที่ผลิต และจัดส่งเพื่อใช้ประกอบรถยนต์ 10 รุ่นของบริษัทที่ถูกจัดจำหน่ายทั่วโลก

ด้วยเหตุนี้ โตโยต้าจึงตัดสินใจระงับการส่งมอบรถยนต์ที่ใช้เครื่องยนต์ดังกล่าวทั้ง 10 รุ่นเป็นการชั่วคราว รวมถึงรุ่นยอดนิยม เช่น แลนด์ ครูเซอร์ 300 (Land Cruiser 300) และไฮลักซ์ (Hilux)

โตโยต้ายืนยันว่า เครื่องยนต์ และยานพาหนะที่ได้รับผลกระทบนั้นตรงตามเกณฑ์มาตรฐานกำลังของเครื่องยนต์ หลังได้ทำการประเมินใหม่ อันเนื่องมาจากเหตุปลอมแปลงข้อมูล
 
สำนักข่าวเกียวโด รายงานว่า โตโยต้าเผชิญปัญหาด้านการควบคุมคุณภาพอย่างมากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา โดยเมื่อเดือนที่ผ่านมา บริษัทไดฮัทสุ มอเตอร์ ซึ่งเป็นบริษัทในเครือ ได้ระงับการจัดส่งรถยนต์ทั้งหมดทั้งในญี่ปุ่น และต่างประเทศ หลังทีมสอบสวนอิสระตรวจพบปัญหาในรถทั้งหมดประมาณ 64 รุ่น ซึ่งรวมถึงรถ 22 รุ่น ที่จำหน่ายภายใต้แบรนด์โตโยต้า
 
นอกจากนี้ ฮีโน่ มอเตอร์ส ซึ่งเป็นบริษัทอีกแห่งในเครือของโตโยต้า ยอมรับเมื่อเดือนมี.ค. 2565 ว่า ได้ส่งเอกสารปลอมแปลงข้อมูลเครื่องยนต์เกี่ยวกับการปล่อยมลพิษ และประสิทธิภาพการใช้เชื้อเพลิงไปยังหน่วยงานขนส่ง

 

เรียกคืนรถ 50,000 คันในสหรัฐ จากปัญหาถุงลมนิรภัย

เมื่อวันที่ 29 ม.ค. โตโยต้ายังได้ออกประกาศขอให้เจ้าของรถยนต์รุ่นเก่าในสหรัฐจำนวน 50,000 คัน นำรถเข้ารับการซ่อมแซมทันที หลังพบว่าถุงลมนิรภัยในรถยนต์อาจเกิดระเบิดและเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับผู้ขับขี่รถยนต์

โตโยต้ารั้งที่ 1 ยอดขายโลก 4 ปีซ้อน เติบโตพุ่ง 7.2% ทำยอดทุบสถิติปีที่แล้ว

โตโยต้าได้ออกคำเตือน "อย่าขับรถ" ครอบคลุมรถยนต์โคโรลลา (Corolla) รุ่นปี 2003-2004, โคโรลลาเมทริกซ์ (Corolla Matrix) รุ่นปี 2003-2004 และราฟโฟร์ (RAV4) รุ่นปี 2004-2005 ที่ติดตั้งถุงลมนิรภัยของบริษัททาคาตะ (Takata)

ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ผู้ผลิตรถยนต์มากกว่า 20 รายได้เรียกคืนลูกแก๊สถุงลมนิรภัยยี่ห้อทาคาตะมากกว่า 67 ล้านลูกในสหรัฐ และมากกว่า 100 ล้านลูกทั่วโลก ซึ่งนับเป็นการเรียกคืนครั้งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ยานยนต์

และนับตั้งแต่ปี 2552 เป็นต้นมา พบผู้เสียชีวิตมากกว่า 30 รายทั่วโลก รวมถึงผู้เสียชีวิตในสหรัฐ 26 ราย และผู้ได้รับบาดเจ็บอีกหลายร้อยรายที่เชื่อมโยงกับถุงลมนิรภัยทาคาตะ

โตโยต้าระบุว่า การเรียกคืนรถรุ่นราฟโฟร์เกี่ยวข้องกับถุงลมนิรภัยฝั่งคนขับ ในขณะที่การเรียกคืนรถรุ่นอื่น ๆ เกี่ยวข้องกับถุงลมนิรภัยฝั่งผู้โดยสารด้านหน้าเท่านั้น นอกจากนี้ รถโคโรลลาและโคโรลลาเมทริกซ์บางรุ่นยังถูกเรียกคืนเป็นครั้งที่สอง เนื่องจากข้อกังวลที่ว่าถุงลมนิรภัยอาจทำงานแม้ว่าจะไม่มีอุบัติเหตุก็ตาม