บรูไนวันนี้.....แง่มุมบางมิติจากนักเดินทาง
กลับไปเยือนบรูไนอีกครั้งในรอบ 9 ปี พบความแตกต่างของประเทศที่สงบเงียบและงดงามแห่งนี้เป็นอย่างมาก จึงอยากถ่ายทอดความเข้าใจง่าย ๆ ในแง่มุมบางมิติที่คนต่างถิ่นมองประเทศที่เนิบช้าแต่มีพลวัตแห่งนี้
บรูไนเป็นประเทศมุสลิมที่เคร่งศรัทธาและแสดงออกถึงความเคร่งนั้น แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ทำให้พวกเขาแบ่งแยกและถือตน ผู้โดยสารทั่วไปอาจแปลกใจที่บนเที่ยวบิน Royal Bruneo Airlines มีการสวดอัลกุรอานบนเครื่อง แต่จะค่อยๆ เลิกแปลกใจที่ทุกงานจะมีการนำสวดก่อนเข้ากิจกรรม
แน่นอนว่าชนศาสนิกอื่นก็นั่งเงียบ ๆ ระหว่างการสวด ข้อบังคับต่อคนต่างศาสนานี้ไม่มี จะนุ่งสั้น ไม่คลุมผมหรือดื่มเหล้า ล้วนกระทำได้ทั้งนั้น แต่พบเห็นยากหน่อยในดินแดนที่คนส่วนใหญ่เขาไม่ทำกัน ผู้หญิงจะคลุมผมและใส่ชุดกรอมแข้งปิดแขน แต่รอยยิ้มของพวกเธอก็ยังมีอยู่เสมอ
บรูไนพัฒนาประเทศมาจากการเป็นชุมชนริมน้ำ ปลูกเรือนลงไปในทะเลและใช้ชีวิตเกษตรกรรมประมง และเป็นเช่นนั้นอยู่ยาวนาน ผ่านยุคอาณานิคมของอังกฤษจนได้เอกราชเมื่อ 40 ปีมานี้เอง และไทยก็เป็นประเทศแรกที่สถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตด้วยในวันแรกของปี 1984 นั้น
แรงงานไทยมีส่วนในการก่อสร้างบรูไนนับแต่อดีตที่มีกันหลักหมื่น แต่ปัจจุบันลดจำนวนลงเหลือไม่เท่าไหร่แล้ว เพราะการเข้ามาของทุนจีน นำแรงงานพร้อมกับเทคโนโลยีสมัยใหม่
เช่น การสร้างสะพาน Temburong Bridge สะพานแขวนที่ยาวที่สุดของอาเซียนที่สร้างเสร็จเมื่อปี 2022 นี้เอง ทอดข้ามอ่าวบรูไนและแม่น้ำบรูไนไปสู่ดินแดนอุทยานแห่งชาติฝั่งตะวันออกของประเทศ ที่เดิมทีไม่ติดกับฝั่งตะวันตกอันเป็นที่ตั้งของเมืองหลวง Bandar Seri Begawan
ปัจจุบันแรงงานบังลาเทศกับอินโดนีเซียมีจำนวนมากที่สุด ค่าจ้างที่ไม่สูงนักและบรรยากาศที่สงบเกินไปจึงไม่ค่อยดึงดูดแรงงานไทยอีกต่อไป
บรูไนพึ่งพาบริษัทธุรกิจต่างชาติมาก ต่างเข้ามาแบ่งปันผลประโชน์ด้านทรัพยากรกับบรูไนที่มีอย่างเหลือเฟือ การค้นพบน้ำมันของอังกฤษเมื่อปี 1929 และพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานอย่างต่อเนื่อง ทำให้ประเทศนี้รุ่มรวย รัฐบาลอุดหนุนสวัสดิการแทบทุกอย่างให้ประชากรอยู่ดีกินสบายไปจนตลอดชีวิต
แต่การเทคโนโลยีและการประกอบการที่สำคัญต้องพึ่งพาการลงทุนและนำเข้าจากต่างชาติแทบทั้งสิ้น ช่วงนี้จีนมาลงทุนด้านเศรษฐกิจมากที่สุด สร้างงานและส่งมอบส่วนแบ่งรายได้แก่รัฐในรูปภาษีสูง
ขณะที่ชาติอย่างญี่ปุ่นกับออสเตรเลียก็ลงทุนทำฟาร์มในทะเล อันสอดคล้องกับวิถีชีวิตของชาวบรูไนดั้งเดิมที่อาศัยบนเรือน Kampong Ayer และหากินกับน้ำอยู่แล้ว
คาดว่าทรัพยากรธรรมชาติที่รุ่มรวยของบรูไน จะยังประโยชน์ให้บริษัทต่างชาติไปอีกยาวนาน ขณะที่ผู้คนก็ไม่ได้เดือดร้อนอะไรกับการสูญเสียไปบ้าง เพราะยังมีอีกมหาศาล แต่แม้จะใช้แอร์ในอาคารและใช้รถเครื่องน้ำมันอย่างฟุ่มเฟือย แต่ป้ายรณรงค์ประหยัดพลังงานก็มีให้เห็นเต็มเมือง
ปัญหาที่บรูไนกำลังวิตกในเวลานี้ "ไม่ใช่" พื้นที่ทับซ้อนในทะเลจีนใต้ที่มีจีนมาอ้างสิทธิ์ด้วยแต่บรูไนไม่มีเรือออกไปพิทักษ์สิทธิ์หรอก หรือการลักลอบเข้ามาจับปลาที่ชุกชมของเรือต่างชาติในน่านน้ำบรูไนที่เป็นปัญหาเดิมอยู่แล้ว แต่เป็นการสร้างเมืองหลวงใหม่ของอินโดนีเซียคือ Nusantara ที่เริ่มตั้งแต่ปี 2021
หากเสร็จแล้วย้ายมาจากเกาะชวาเมื่อไหร่ เกาะบอร์เนียวที่บรรจุด้วยสามประเทศก็จะมีสองเมืองหลวงอยู่ด้วยกัน บรูไนน่ะไม่มีปัญหากระทบกระทั่งกับทั้งมาเลเซียและอินโดนีเซียหรอก
แต่กับพวกอาชญากรรมข้ามชาติและพวกลักลอบตัดทำลายป่าที่จะมาส้องสุมกันอยู่บนเกาะบอร์เนียวมากขึ้นอาจสร้างปัญหาให้แก่ประเทศเล็ก ๆ อันเงียบสงบ และยังขาดบุคลากรรับมือกับปัญหาซับซ้อนพวกนี้ได้
บรูไนไม่มีพื้นที่ติดกับอินโดนีเซียด้วยซ้ำ แต่การที่เกาะบอร์เนียวมีการย้ายแรงงานและแม้แต่หน่วยทหารเข้ามาตั้งเป็นจำนวนมากมากก็ทำให้บรูไนกลัว คนอินโดมา คนมาเลย์ก็มา เรื่องของคนที่เข้ามาอยู่บนเกาะบอร์เนียวเยอะ ๆ ก็อาจทำให้สิ่งผิดกฎหมายเยอะ
คนลักลอบข้ามพรมแดนจากอินโดไปซาราวักและเข้าไปในบรูไนก็อาจจะเยอะขึ้น ลักลอบจับสัตว์ทำลายพันธ์พืชในเขตเทมบูรง บางทีการเผาป่าก็สร้างมลภาวะข้ามพรมแดน ค่านิยมผิดๆ ก็เข้ามาด้วย แม้ว่าอาชญากรรมสำคัญเวลานี้ยังมีแค่การลักลอบเล่นพนัน ซึ่งจะต้องโดนลงโทษด้วยการเฆี่ยนก็ตาม แต่ก็ต้องเตรียมพร้อมรับมือกับปัญหาเมืองใหญ่ที่กำลังตามมา
ความเจริญที่มีมากขึ้น อันเนื่องมาจากการก่อสร้างและวัฒนธรรมนานาชาติที่หลั่งไหลเข้ามา ทำให้กรุงบันดาร์เสรีเบกาวันสวยงามและมีกิจกรรมที่น่าดึงดูดใจหลายอย่าง แต่ขณะเดียวกันก็ต้องรับมือกับความท้าทายนี้ด้วย
เราไม่อาจทำนายถึงการเปลี่ยนแปลงของกลไกการปกครอง ที่ยังอยู่ในมือของสุลต่านทั้งหมด กลไกศาสนาอิสลามที่เกาะกุมแกนกลางจิตใจของพลเมือง หรือวิถีชีวิตที่เนิบช้าสบาย ๆ ของชาวบรูไนได้
แต่เชื่อว่าด้วยความเป็นผู้มีจิตใจดี จะทำให้บรูไนรักษาการเป็นประเทศอนุรักษนิยมที่เปิดกว้าง มีความสุข และเป็นมิตรกับทุกประเทศต่อไป.