เปิดแนวทางบริหาร ‘ปราโบโว’ ว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เดาทางยาก

เปิดแนวทางบริหาร ‘ปราโบโว’ ว่าที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เดาทางยาก

รัฐมนตรีกลาโหมปราโบโว จ่อคว้าชัยชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย แต่ยังคงเป็นที่น่าสงสัย ว่าที่ปธน.คนใหม่จะมีแนวทางบริหารประเทศอย่างไร ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่าเขาเป็น "ผู้นำที่คาดเดาไม่ได้" และโลกต้องเตรียมรับมือกับ "ความเซอร์ไพรส์" บางอย่างจากรัฐบาลนี้

ปราโบโว ซูเบียนโต รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมอินโดนีเซีย เตรียมรับตำแหน่งประธานาธิบดีคนใหม่ของประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก โดยเมื่อวันพุธ (14 ก.พ.) อดีตนายพลได้ประกาศชัยชนะหลังการนับคะแนนเบื้องต้นของผู้สังเกตการณ์ที่ผ่านการรับรองจากรัฐบาลแสดงให้เห็นว่า ปราโบโวมีโอกาสชนะสูง

ส่วนผลการนับคะแนนจากคณะกรรมการการเลือกตั้งที่ออกมาช้ากว่า นับคะแนนไปได้ 39% ชี้ว่า รมว.กลาโหมวัย 72 ปี จ่อก้าวขึ้นเป็นประธานาธิบดีอินโดนีเซียได้ด้วยคะแนน 55.97% ทิ้งห่างคู่แข่งมากกว่า 2 เท่า

"ชัยชนะนี้ควรเป็นชัยชนะสำหรับชาวอินโดนีเซียทุกคน” ปราโบโว กล่าวกลางกรุงจาการ์ตาท่ามกลางมวลมหาประชาชนที่ปลื้มปิติกับชัยชนะเมื่อเย็นวันพุธ

ผู้นำคนใหม่ที่คาดเดายาก

ยังคงเกิดคำถามว่า เมื่อปราโบโวดำรงตำแหน่งประธานาธิบดี เขาจะดำเนินนโยบายของประธานาธิบดีโจโก วิโดโด (โจโกวี) ต่อ หรือนำพาประเทศไปสู่เส้นทางใหม่

อเล็กซานเดอร์ อาร์.อาริเฟียนโต นักวิชาการอาวุโส จากสถาบัน S. Rajaratnam School of International Studies (RSIS) มองว่า ปราโบโวเป็นผู้นำที่คาดเดาไม่ได้ และโลกต้องเตรียมรับมือกับความเซอร์ไพรส์บางอย่างจากรัฐบาลนี้

ในช่วงหาเสียง ปราโบโวเลือกยิบราน ลูกชายวิโดโดนั่งเก้าอี้รองประธานาธิบดี ส่งสัญญาณถึงผู้ลงคะแนนเสียงว่า เขายังคงดำเนินนโยบายยอดนิยมของวิโดโดหากได้เป็นประธานาธิบดี ด้วยเหตุนี้ ในผลสำรวจความคิดเห็น ปราโบโวจึงมีความนิยมมากกว่าคู่แข่งคนอื่น ๆ และทำให้เขามีคะแนนนำคู่แข่งไปคว้าชัยเลือกตั้ง

อารยา เฟอร์นันเดส หัวหน้าฝ่ายสำนักนโยบายของ Centre for Strategic and International Studies (CSIS) ในจาการ์ตา บอกว่า

“มีโอกาสอย่างมากที่ปราโบโวจะดำเนินนโยบายของวิโดโดต่อ แต่พูดยากนะ เขาอาจจะเปลี่ยนทิศทางบริหารประเทศก็ได้”

ขณะที่ผู้ลงคะแนนเสียงให้ปราโบโวส่วนใหญ่ อยากให้เขาดำเนินนโยบายของวิโดโดต่อไป แต่ปราโบโวได้บอกใบ้แล้วว่าเขาสามารถทำให้การต่างประเทศมีความเป็นชาตินิยมมากกว่าประธานาธิบดีคนก่อน

จากแถลงการณ์เลือกตั้งของปราโบโว บ่งบอกว่า เขาอาจให้ความสำคัญกับการเปลี่ยนอินโดนีเซียให้เป็นประเทศที่แข็งแกร่งมากขึ้น 

แถลงการณ์ดังกล่าว ระบุ อินโดนีเซียจะเป็นประเทศที่เคารพความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และมีการป้องกันและรักษาความปลอดภัยที่สามารถปกป้องชาติและสร้างความสงบสุขให้กับประเทศ

อาริเฟียนโตจาก บอกว่า ถ้ามองจากภูมิหลังที่เคยเป็นทหาร ไม่แปลกใจที่เขาอยากให้อินโดนีเซียมีอำนาจ ไม่ใช่แค่ในทางเศรษฐกิจ แต่รวมถึงกองทัพด้วย

“เขาอาจเพิ่มการใช้จ่ายด้านกลาโหม เพื่อให้กองทัพอินโดนีเซียเป็นหนึ่งในกองทัพที่ใหญ่ที่สุดในภูมิภาค คำถามคือ มหาอำนาจระดับภูมิภาคหรือมหาอำนาจทางการค้าอื่น ๆ จะตอบสนองต่อประเด็นนี้ในทิศทางที่ดีหรือไม่”

นอกจากนี้ ปราโบโวยังบ่งบอกว่าเขาพร้อมที่จะติดต่อค้าขายกับชาติตะวันตกมากขึ้น แต่ในระหว่างการพูดคุยเรื่องนโยบายต่างประเทศที่ CSIS อินโดนีเซีย เมื่อเดือน พ.ย. ปราโบโวบอกว่า ยุโรปสูญเสียความเป็นผู้นำด้านศีลธรรม

“ตะวันตกสอนประชาธิปไตยให้เรา รวมถึงสิทธิมนุษยชน แต่มีมาตรฐานแตกต่างกัน โลกเกิดการเปลี่ยนแปลงแล้ว เราไม่ต้องการยุโรปอีกต่อไป” ปราโบโวกล่าวและว่า ภาษีที่ไม่ยุติธรรมของสหภาพยุโรป (อียู) กระทบต่อการส่งออกของอินโดนีเซีย เช่น น้ำมันปาล์ม

ปราโบโว ซูเบียนโต กล่าวปราศรัย หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดีอินโดนีเซีย

เมื่อถามเกี่ยวกับการแข่งขันทางการค้า อินโดนีเซียจะอยู่ข้างจีนหรือสหรัฐ แต่เขากลับเน้นย้ำถึงความเป็นกลางของจาการ์ตา โดยรัฐมนตรีปราโบโวเผยว่า ตนเคารพสหรัฐสำหรับการมีส่วนร่วมในเอกราชของอินโดนีเซีย เช่นเดียวกับที่เคารพจีนสำหรับการมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจ

ซานา แจฟฟรีย์ นักวิชาการวิจัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติออสเตรเลีย ผู้เชี่ยวชาญด้านการเมืองอินโดนีเซีย กล่าวว่า ระหว่างหาเสียง ปราโบโวได้แสดงออกถึงการต่อต้านชาวต่างชาติและมีความเป็นชาตินิยมสูง แต่เธอได้ยินว่าเขาบอกกับนักการทูตต่างประเทศแบบส่วนตัวว่า ตนจะทำตัวเป็นมิตรกับชาวต่างชาติ จะเปิดรับการลงทุนและสร้างสัมพันธ์ที่ดี

“ดังนั้น การแสดงออกของปราโบโวที่เห็นในสาธารณะเป็นการสร้างภาพลักษณ์ชาตินิยมมากกว่า ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของเอกลักษณ์เขา แต่จริง ๆ เขาเป็นตามสิ่งที่เราได้ยิน เขาพูดเรื่องที่แตกต่างไปแบบส่วนตัว” แจฟฟรีย์ กล่าว

อุปสรรคจัดตั้งรัฐบาล

ไม่ว่าแนวทางของปราโบโวจะเป็นอย่างไร แต่เขาอาจเผชิญความยุ่งยากในการสร้างพันธมิตรเพื่อบริหารประเทศ และหาเสียงสนับสนุนนโยบายของตน

แม้วิโดโดสามารถรวมพันธมิตรจำนวนมากจนจัดตั้งรัฐบาล และทำให้นโยบายส่วนใหญ่ได้รับการอนุมัติ รวมถึงแผนย้ายเมืองหลวง 32,000 ล้านดอลลาร์ แต่การรวบรวมพันธมิตรของวิโดโด ส่วนใหญ่มาจากความร่วมมือกับพรรค Indonesian Democratic Party of Struggle (PDI-P) ทว่าการที่วิโดโดสนับสนุนปราโบโวในการเลือกตั้งประธานาธิบดี แทนที่จะสนับสนุนผู้สมัครจากพรรค PDI-P อย่างกันจาร์ ปราโนโว อดีตผู้ว่าจ.ชวากลาง การกระทำของวิโดโดอาจทำให้ปราโบโวสูญเสียฐานเสียงสำคัญในรัฐสภาได้

นูรี ออกทาริซา นักวิจัยทางการเมืองจาก CSIS เผยว่า อาจเห็น PDI-P ร่วมรัฐบาลกับปราโบโวได้ยาก และอาจได้เห็นประธานาธิบดีมีอำนาจน้อย รวมถึงอำนาจในการเดินหน้านโยบายต่าง ๆ ในทางตรงข้ามอาจได้เห็นพรรคฝ่ายค้านที่แข็งแกร่ง ประกอบไปด้วยหลายพรรค

โดยพรรค PDI-P อาจร่วมกับพรรค Prosperous Justice Party (PKS) และพรรคอื่น ๆ นั่งฝ่ายค้าน รวมถึงพรรค NasDem และ National Awakening Party (PKB) ซึ่งอาจสร้างความท้าทายต่อการจัดลำดับความสำคัญในการออกกฎหมายของปราโบโว

ด้วยความไม่มั่นคงว่าแต่ละพรรคจะปรับแนวทางตนเองตามผลเลือกตั้งอย่างไร แต่สิ่งที่เห็นได้ชัดเจนคือ “ว่าที่ประธานาธิบดีปราโนโว” ยังคงเป็นหนึ่งในผู้นำที่คาดเดาไม่ได้

อ้างอิง: South China Morning Post