เยอรมนี-พันธมิตรนาโต จ่อใช้จ่ายกลาโหม 2% ของ GDP รับมือความขัดแย้งทั่วโลก
รัฐมนตรีกลาโหมเยอรมนียืนยัน ประเทศเตรียมใช้จ่ายด้านกลาโหมเพิ่มขึ้นสู่ระดับ 2% ของจีดีพี เพื่อรับมือกับความชัดแย้งที่เกิดขึ้นทั่วโลก และปีนี้คาดว่าประเทศสมาชิกนาโตอาจใช้จ่ายด้านกลาโหม 2% ของ GDP ราว 18 ประเทศ จาก 31 ประเทศ
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมเยอรมนี เผยเมื่อวันเสาร์ (17 ก.พ.) ถึงความมุ่งมั่นค่าใช้จ่ายด้านกลาโหม 2% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ว่า เป็นเพียงจุดเริ่มต้น และมีแนวโน้มจะเป็นต้องใช้งบประมาณมากกว่านี้
ก่อนหน้านี้ โอลาฟ โชลซ์ นายกรัฐมนตรีเยอรมนี ยืนยันว่า ประเทศจะใช้จ่ายด้านกลาโหม 2% ของจีดีพี ภายในทศวรรษ 2020, 2023 และทศวรรษต่อ ๆ ไป หลังจากนั้นบอริส พิสโตเรียส รมว.กลาโหมเยอรมนี ออกมาย้ำว่า การใช้จ่ายกลาโหม 2% ของจีดีพีเป็นการใช้จ่ายขั้นต่ำ
สำหรับการเพิ่มใช้จ่ายงบด้านกลาโหมของเยอรมนี พิสโตเรียส ได้อ้างอิงถึงเหตุผลด้านความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก รวมถึงในยุโรป อินโดแปซิฟิก และแอฟริกา ทั้งยังคาดว่าสหรัฐอาจเปลี่ยนความสนใจไปยังภูมิภาคอินโดแปซิฟิกมากขึ้น และไม่ได้สนใจยุโรปมากเหมือนก่อน
“ดังนั้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น เราเผชิญความท้าทายอยู่และเราต้องยอมรับสถานการณ์นั้น”
เมื่อซิลเวีย อมาโร จากซีเอ็นบีซีถามถึงความเป็นไปได้ของการใช้จ่ายกลาโหมที่ระดับ 4% ของจีดีพี พิสโตเรียสปฏิเสธยืนยันข้อมูลนี้ และย้ำว่าประเทศจะใช้จ่ายในสิ่งที่จำเป็น พร้อมกับจัดหาทุนพัฒนาอุตสาหกรรมกลาโหมในประเทศ
“เราอาจใช้จ่ายสูงถึง 3% หรือ 3.5% ขึ้นอยู่กับว่าโลกจะเกิดอะไรขึ้น” พิสโตเรียส กล่าว
ความเห็นดังกล่าวเกิดขึ้นหลังจากอดีตประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ กล่าวเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า เขาจะสนับสนุนรัสเซียให้ปฏิบัติกับสมาชิกองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ตามต้องการได้ทุกอย่าง หากสมาชิกใดไม่ปฏิบัติตามแนวทางการใช้จ่ายด้านกลาโหมของพันธมิตร
ทั้งนี้ ในปี 2549 สมาชิกนาโต หลายประเทศได้ลงนามใช้จ่ายด้านกลาโหมขั้นต่ำที่ 2% ของจีดีพี เพื่อสร้างความพร้อมทางทหารให้กับกลุ่มพันธมิตรอย่างต่อเนื่อง และในปีนี้ คาดว่าจะมีสมาชิกนาโต 18 ประเทศ จาก 31 ประเทศ ที่บรรลุใช้จ่ายงบขั้นต่ำดังกล่าว จากเดิมมีเพียง 3 รายในปี 2557