เวียดนาม 'ฮับการผลิตโลก' ที่แข็งแกร่ง จ่อมั่งคั่งไวสุดในอีก 10 ปีข้างหน้า

เวียดนาม 'ฮับการผลิตโลก' ที่แข็งแกร่ง จ่อมั่งคั่งไวสุดในอีก 10 ปีข้างหน้า

นักวิเคราะห์มองว่า เวียดนามจะมีความมั่งคั่งเติบโตรวดเร็วสุดในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งคาดว่าอาจมีความมั่งคั่งเติบโต 125% เนื่องจากประเทศมีสถานะเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกที่แข็งแกร่ง

รายงานจากนิวเวิลด์เวลธ์ (New World Wealth) ธุรกิจข่าวกรองด้านความมั่งคั่งระดับโลก และเฮนลี่ย์ แอนด์ พาร์ทเนอร์ส ที่ปรึกษาด้านการลงทุนเพื่อย้ายถิ่นฐาน ระบุว่า เวียดนามจะมีความมั่งคั่งเติบโตรวดเร็วสุดในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากประเทศมีสถานะเป็นศูนย์กลางการผลิตระดับโลกที่แข็งแกร่ง

แอนดรูว์ อามอยส์ นักวิเคราะห์จากนิวเวิลด์เวลธ์ เผยกับซีเอ็นบีซีว่า ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้แห่งนี้ อาจมีความมั่งคั่งเพิ่มขึ้น 125% ในอีก 10 ปีข้างหน้า ซึ่งจะเป็นการขยายตัวด้านความมั่งคั่งที่ใหญ่ที่สุดเมื่อเทียบดับประเทศอื่นๆ โดยวัดจากผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ต่อหัว และจำนวนมหาเศรษฐี

“เวียดนามเป็นฐานการผลิตที่นิยมมากขึ้นในหมู่ธุรกิจเทคโนโลยีข้ามชาติ ธุรกิจรถยนต์ ธุรกิจอิเล็กทรอนิกส์ ธุรกิจเสื้อผ้า และธุรกิจสิ่งทอ ขณะที่อินเดียจ่อขึ้นแท่นเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่อันดับ 3 ของโลก ภายในปี 2570 และมีความมั่งคั่งเติบโตเป็นอันดับสอง ที่ระดับ 110%” อามอยส์ ระบุ

เวียดนาม ประเทศที่มีเศรษฐีเงินล้าน 19,400 คน และเศรษฐีร้อยล้าน 58 คนนั้น ถือเป็นประเทศที่ค่อนข้างปลอดภัยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ทั้งยังมีเงินอุดหนุนก้อนใหญ่ให้กับธุรกิจต่าง ๆ ที่มาตั้งฐานผลิตในประเทศ

แมคคินซีย์ ระบุในรายงานว่า ด้วยทำเลที่ตั้งทางยุทศาสตร์ของประเทศ (strategic location) ที่มีพรมแดนติดกับจีนและใกล้กับเส้นทางการค้าทางทะเลที่สำคัญหลายแห่ง ต้นทุนค่าจ้างแรงงานต่ำ รวมถึงโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับการส่งออกของประเทศ ล้วนพลิกโฉมเวียดนามสู่การเป็น “จุดหมายปลายทางที่สำคัญ” สำหรับการลงทุนจากต่างประเทศ

ขณะที่จีดีพี 2566 ของเวียดนามเติบโตชะลอตัวลง สู่ระดับ 5.05% จากที่เคยขยายตัว 8.02% ในปี 2565 เนื่องจากดีมานด์ทั่วโลกลดลง การลงทุนจากภาครัฐหยุดชะงัก และภาคการผลิตคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 4 ของจีดีพีประเทศ แต่ข้อมูลจากธนาคารโลก เผยว่า ขณะนี้จีดีพีต่อหัวเพิ่มขึ้น 2 เท่า สู่ระดับ 4,100 ดอลลาร์ (ราว 147,000 บาท) จากเมื่อสิบปีก่อนที่จีดีพีต่อหัวของเวียดนามอยู่ที่ประมาณ 2,190 ดอลลาร์ (ราว 78,600 บาท) 

แอนดี โฮ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการลงทุนของวีนาแคปิตอลกรุ๊ป เผยกับซีเอ็นบีซีผ่านอีเมลว่า “เวียดนามกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และประชาชนส่วนใหญ่ได้ประโยชน์จากการพัฒนาด้วย”

เปรียบเทียบเอฟดีไอประเทศอาเซียน

เอฟดีไอช่วยชาติ

เวียดนามยังได้รับผลประโยชน์จากการความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีนด้วย เนื่องจากบริษัทจำนวนมากกระจายการผลิตไปยังเวียดนาม โดยการใช้ยุทธศาสตร์ China plus one ที่เป็นกลยุทธ์หลีกเลี่ยงการลงทุนเฉพาะในจีนที่เดียว แล้วกระจายการลงทุนไปยังประเทศอื่น ๆ ที่มีแนมโน้มพัฒนามากขึ้น จนทำให้ประเทศมียอดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (เอฟดีไอ) ที่แข็งแกร่งต่อเนื่อง จากการลงทุนของบริษัทข้ามชาติ ซึ่งเอฟดีไอปี 2566 พุ่ง 32% จากปีก่อนหน้า สู่ระดับ 36,600 ล้านดอลลาร์

โฮ เผย

“การลงทุนจากต่างชาติถือเป็น ”sticky money“ หรือเงินทุนที่คงอยู่ในระยะยาว ส่งผลให้เกิดอาชีพที่มีการจ่ายค่าจ้างอย่างเหมาะสม และสามารถช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับคนเวียดนามหลายล้านคนได้”

นอกจากนี้ เบรน ลี นักเศรษฐศาสตร์และผู้ช่วยรองประธานของเมย์แบงก์ บอกว่า การเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนาม ได้แรงขับเคลื่อนจากภาคอุตสาหกรรมด้านการส่งออก ซึ่งมาจากคลื่นการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ 3 คลื่นในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา และขณะนี้เวียดนามอยู่บนคลื่นการลงทุนลูกที่ 4

อุปสรรครั้งความมั่งคั่ง

อย่างไรก็ตาม เวียดนามยังมีอุปสรรคบางอย่างที่อาจฉุดรั้งการเติบโตแบบก้าวกระโดดได้

ลี ย้ำว่า กำลังแรงงานในเวียดนามต้องการการฝึกอบรมมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อความต้องการในอุตสาหกรรมการผลิตที่มีความซับซ้อนและต้องใช้แรงงานที่มีทักษะ

“การจะทำให้เม็ดเงินเอฟดีไอเกิดประโยชน์สูงสุดได้ บริษัทต่างชาติต้องร่วมมือกับคู่ค้าภายในประเทศอย่างใกล้ชิด” ลี แนะนำ

ขณะที่ โฮ กล่าวว่า ภาวะเศรษฐกิจถดถอยทั่วโลกอาจส่งผลกระทบต่อความต้องการของผู้บริโภคในตลาดพัฒนาแล้ว ซึ่งอาจกระทบไปยังภาคการผลิตและการส่งออกของเวียดนามร่วมด้วย และค่าเงินที่ลดลงอย่างเห็นได้ชัด อาจเป็นอุปสรรคต่อการเติบโตของเศรษฐกิจเวียดนามเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม โฮบอกว่าเวียดนามยังสามารถเอาชนะความท้าทายต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้