กางแผนรัฐบาลจีน แก้ปัญหาอัตราการเกิดต่ำ-ปรับสวัสดิการผู้สูงอายุ
รัฐบาลจีน เปิดแผนปรับปรุงนโยบายกระตุ้นอัตราการเกิดและแผนรองรับผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้น ซึ่งมีทั้งการเพิ่มสวัสดิการเลี้ยงดูบุตร รวมถึงการเพิ่มเงินผู้สูงอายุและพัฒนาระบบบำนาญประเภทต่าง ๆ
สำนักข่าวรอยเตอร์อ้างอิงจากรายงานการประชุมประจำปีของ รัฐบาลจีน ระบุว่า จีนเตรียมปรับปรุงนโยบายสนับสนุน อัตราการเกิด และปรับปรุงแผนสนับสนุน ประชากรสูงอายุ ที่เพิ่มขึ้น ดังนี้
จีนปรับแผนกระตุ้นอัตราการเกิด
รัฐบาลจีนจะดำเนินนโยบายเพื่อสังคมที่เป็นมิตรต่อการมีลูกและพัฒนาประชากรอย่างสมดุลในระยะยาว รวมถึงพัฒนาศูนย์ดูแลเด็กเล็ก เพื่อลดต้นทุนการให้กำเนิดบุตร การเลี้ยงดู และค่าใช้จ่ายด้านการศึกษา
ขณะที่อีกรายงานหนึ่งของ “หลี่ เฉียง” นายกรัฐมนตรีจีน ระบุว่า จีนเตรียมปรับนโยบายเพื่อกระตุ้นอัตราการเกิด ด้วยการแก้ไขนโยบายเลี้ยงดูบุตร และปรับปรุงกลไกการจัดสรรค่าจ้างแรงงานของนายจ้าง และเพิ่มบริการด้านการดูแลเด็กเล็ก
มาตรการเหล่านี้จัดทำขึ้นหลังจากประชากรจีนลดลงเป็นปีที่ 2 ติดต่อกันในปี 2566 และอัตราการเกิดก็ลดลงประมาณครึ่งหนึ่งของอัตราการเกิดในปี 2559 ขณะที่การแต่งงานก็แตะระดับต่ำสุดในปี 2565
ตัวเลขประชากรจีนลดลงนั้น เป็นผลมาจากนโยบายลูกคนเดียวในช่วงปี 2523-2558 จากนั้นรัฐบาลออกนโยบายสนับสนุนให้คู่รักมีลูกได้สูงสุด 3 คนในปี 2564
แม้รัฐบาลจีนพยายามออกมาตรการและให้เงินสนับสนุนเพื่อกระตุ้นการมีบุตร ทั้งขยายเวลาลาคลอดบุตร และให้สิทธิประโยชน์ทางการเงินและภาษี รวมถึงเงินอุดหนุนค่าบ้านมากเท่าไร แต่ผู้หญิงจีนจำนวนมากเลือกที่จะไม่มีลูก เพราะค่าเลี้ยงดูสูง ผู้หญิงยังไม่เต็มใจแต่งงาน และไม่อยากออกจากงาน ขณะที่การเลือกปฏิบัติทางเพศยังคงมีอยู่
จีนปรับปรุงสวัสดิการเพื่อผู้สูงอายุ
สำหรับนโยบายรองรับประชากรสูงอายุ จีนเตรียมเพิ่มสวัสดิการพื้นฐานขั้นต่ำแก่ผู้สูงอายุในชนบทและผู้ที่ไม่ได้ทำงานในเมือง 20 หยวนต่อเดือน หรือราว 100 บาท และเงินบำนาญพื้นฐานสำหรับผู้เกษียณยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป
ส่วนระบบบำนาญส่วนบุคคลนั้น จะนำไปใช้ทั่วประเทศ และเจ้าหน้าที่รัฐจะส่งเสริมการพัฒนาแผนบำนาญเสาที่สาม นอกเหนือจากสองเสาแรกที่เป็นบำนาญพื้นฐานภาครัฐ และบำนาญลูกจ้าง
นอกจากนี้ จีนเตรียมจัดทำระบบจัดหาบริการดูแลผู้สูงอายุที่บ้าน และพัฒนาระบบสุขภาพเพื่อผู้สูงอายุ รวมถึงเพิ่มความพยายามสนับสนุนบริการดูแลผู้สูงอายุในพื้นที่ชนบทด้วย
ทั้งนี้ ในอีก 10 ปีข้างหน้า ประชากรที่มีอายุ 50-60 ปี ราว 300 ล้านคน ซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ของประเทศ จะออกจากตลาดแรงงานในช่วงที่รัฐบาลขยายงบประมาณบำนาญพอดี
อย่างไรก็ตาม นักประชากรศาสตร์และนักเศรษฐศาสตร์มองว่า การพึ่งพาแรงงานที่ไม่ค่อยอยากจ่ายเงินเกษียณเพิ่มขึ้นนั้น เป็นนโยบายที่ไม่ยั่งยืนและจำเป็นต้องปฏิรูป
อ้างอิง: Reuters