'อินเดีย' จัดเลือกตั้ง 19 เม.ย. นี้ โมดีมั่นใจผลงานดันชนะขาดยิ่งกว่า 4 ปีก่อน
จับตาการเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลกกับผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งเกือบ 1 พันล้านคนที่ 'อินเดีย' เปิดคูหาระหว่าง 19 เม.ย. ถึงต้นเดือน มิ.ย.นี้ พร้อมเปิด 5 ผลงานเด่น ดัน 'โมดี' สู่เก้าอี้นายกฯ สมัยที่สาม
คณะกรรมการการเลือกตั้งอินเดีย แถลงเมื่อวันที่ 16 มี.ค. ว่า อินเดียจะจัดการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาระหว่างวันที่ 19 เม.ย. - 4 มิ.ย.นี้ ใน 28 รัฐและ 8 ดินแดนในอาณัติ ซึ่งจะเป็น การเลือกตั้งที่ใหญ่ที่สุดในโลก ท่ามกลางผู้มีสิทธิออกเสียงถึง 968 ล้านคน
เป็นที่คาดว่านายกรัฐมนตรี "นเรนทรา โมดี" วัย 73 ปี จากพรรคชาตินิยมฮินดู ภราติยะ ชนตะ (BJP) จะชนะการเลือกตั้งอีกครั้ง ด้วยผลงานต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและการเมืองที่เด่นชัดตลอดช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
หากชนะการเลือกตั้งครั้งนี้ โมดี จะสร้างประวัติศาสตร์เป็นผู้นำอินเดียคนที่ 2 ต่อจากอดีตนายกรัฐมนตรีคนแรกของประเทศ "ยาวาฮาร์ลาล เนห์รู" ที่ชนะการเลือกตั้งถึง 3 สมัยติดต่อกัน
ในการเลือกตั้งครั้งที่แล้วเมื่อปี 2562 พรรค BJP ของโมดีกวาดเสียงไป 303 ที่นั่ง จากการเลือกตั้งทั้งหมด 543 ที่นั่งในสภา ซึ่งนับเป็นครั้งที่พรรคทำผลงานได้ดีที่สุดจากการเลือกตั้งทุกครั้งที่ผ่านมา และเมื่อรวมกับแนวร่วมประชาธิปไตยแห่งชาติ (NDA) ที่เป็นพรรคร่วมรัฐบาลแล้วได้ไปทั้งหมด 350 ที่นั่ง
ส่วนในครั้งนี้ โมดีตั้งเป้าพรรค BJP ได้เพิ่มเป็น 370 ที่นั่ง และเมื่อรวมเป็นแนวร่วม NDA จะได้ไป 400 ที่นั่ง หรือมากกว่า 2 ใน 3 ของเสียงทั้งหมดในสภา ซึ่งจะทำให้สามารถขับเคลื่อนนโยบายและออกกฎหมายต่างๆ ได้สะดวกมากขึ้น
ทั้งนี้ แม้ว่าพรรคฝ่ายค้านจะมีการรวมตัวจัดตั้งเป็นพันธมิตรแนวร่วมพรรคฝ่ายค้านเมื่อปีที่แล้ว นำโดยพรรค "คองเกรส" ซึ่งเป็นพรรคเก่าแก่ที่ชนะการเลือกตั้งมาตลอดก่อนเปลี่ยนสู่ยุค BJP แต่ก็มีรายงานข่าวว่าแกนนำพรรคฝ่ายค้านมีปัญหาเรื่องความเป็นเอกภาพและการชิงความเป็นใหญ่กันเอง ซึ่งอาจเป็นจุดอ่อนสำคัญในการเลือกตั้งครั้งนี้
สรุป 5 ผลงานเด่นดัน 'โมดี' เป็นนายกฯ 3 สมัย
- ประชากรมากสุดในโลกแซงหน้า 'จีน'
ข้อมูลของสหประชาชาติ (ยูเอ็น) คาดการณ์ว่าภายในกลางปี 2566 อินเดียจะมีประชากรเพิ่มขึ้นไปอยู่ที่ 1,428.6 ล้านคน ขณะที่จีนจะมีประชากร 1,425.7 ล้านคน ซึ่งทำให้อินเดียมีประชากรมากกว่าจีน 2.9 ล้านคน แซงหน้าขึ้นเป็นเบอร์ 1 ของโลกไปเรียบร้อยแล้ว
- เศรษฐกิจอินเดียจ่อขึ้นเบอร์ 3 ของโลก
ในไตรมาส 3 ที่ผ่านมา (ต.ค.- ธ.ค.2566) จีดีพีของอินเดียขยายตัวได้ถึง 8.4% ทำให้รัฐบาลปรับเพิ่มคาดการณ์จีดีพีทั้งปี 2566 เป็น 7.6% ซึ่งจะทำให้อินเดียเป็นประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่เติบโตเร็วที่สุดในโลก
ขณะที่ S&P Global Ratings คาดการณ์ว่าอินเดียจะแซงหน้าเยอรมนีและญี่ปุ่น ขึ้นเป็นประเทศที่มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกภายในปี ค.ศ. 2030
- ตลาดหุ้นร้อนแรงแซงฮ่องกง
บลูมเบิร์กรายงานเมื่อวันที่ 22 ม.ค. 2566 ว่า มูลค่าตลาดหุ้นอินเดียแซงหน้าตลาดหุ้นฮ่องกงเป็นครั้งแรก โดยมูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์อินเดียรวมกันแตะระดับ 4.33 ล้านล้านดอลลาร์ แซงฮ่องกงซึ่งอยู่ที่ 4.29 ล้านล้านดอลลาร์ จึงทำให้อินเดียกลายเป็นตลาดหุ้นขนาดใหญ่สุดอันดับ 4 ของโลก โดยมูลค่าครึ่งหนึ่งเพิ่มขึ้นในช่วง 4 ปีที่ผ่านมา
- ส่งยานอวกาศขึ้นสู่ดวงจันทร์
เมื่อเดือน ส.ค. 2566 อินเดียสร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศที่ 4 ในโลก ที่สามารถส่งยานอวกาศขึ้นไปลงจอดบนดวงจันทร์ได้สำเร็จ
- เปิดวัดพระรามรวมใจชาวฮินดู
เมื่อเดือน ม.ค. 2567 โมดีเปิดตัว "วัดพระราม" อย่างยิ่งใหญ่ในเมืองอโยธยา โดยวัดนี้ถูกก่อสร้างบนพื้นที่ที่เคยมีปัญหาการแย่งชิงกับมัสยิด Babri และใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะก่อสร้างในสำเร็จ จนนับเป็นศูนย์กลางทางศาสนาแห่งใหม่ที่รวมใจชาวฮินดู