สหรัฐอุดหนุน 'อินเทล' 3 แสนล้านบาท กระตุ้นการผลิตชิปในประเทศ

สหรัฐอุดหนุน 'อินเทล'  3 แสนล้านบาท กระตุ้นการผลิตชิปในประเทศ

สหรัฐให้เงินอุดหนุน 'อินเทล' 3 แสนล้านบาท กระตุ้นการผลิตชิปในประเทศ ตามแผน CHIPS Act เพื่อรักษาตำแหน่งผู้ผลิตชิประดับแนวหน้าของโลก

บริษัท อินเทล คอร์ป ได้รับเงินทุนสนับสนุนตามกฎหมายว่าด้วยชิป และวิทยาศาสตร์ (Chips and Science Act) มูลค่า 8.5 พันล้านดอลลาร์ หรือราว 3 แสนล้านบาท  นอกจากนี้อินเทลยังอาจขอรับเงินกู้เพิ่มเติมได้อีก 11,000 ล้านดอลลาร์  ถือเป็นความพยายามของคณะบริหารของประธานาธิบดี โจ ไบเดน แห่งสหรัฐ ในการผลักดันการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ ซึ่งก่อนหน้านี้รัฐบาลสหรัฐได้อนุมัติเงินอุดหนุนผ่านกฎหมาย CHIPS Act ให้ทั้ง GlobalFoundries, Microchip และ BAE Systems

"เงินทุนดังกล่าวกระตุ้นการผลิตชิปในประเทศ เพื่อรักษาตำแหน่งผู้นำด้านนวัตกรรมให้กับสหรัฐ"

จีนา ไรมอนโด รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์สหรัฐแถลงต่อสื่อมวลชน ว่าถือเป็น "เงินช่วยเหลือที่ใหญ่ที่สุด" ที่เคยให้กับบริษัทชิปใดๆ ตามภายใต้พระราชบัญญัตินี้ อย่างไรก็ตามข้อตกลงนี้ไม่มีผลผูกพันทางกฎหมาย และยังอยู่ในขั้นต้น ซึ่งอาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ 

ด้านอินเทล ระบุว่าเงินอุดหนุนนี้ จะถูกนำมาใช้กับโครงการที่อินเทลประกาศไปก่อนหน้า สำหรับโครงการสร้างโรงงาน และศูนย์วิจัยใน Arizona, New Mexico, Ohio และ Oregon เพื่อรองรับการผลิตชิป ตามความต้องการในด้านต่างๆ รวมทั้ง AI ซึ่งอินเทลคาดว่าจะสร้างงานได้มากกว่า 10,000 อัตรา และงานด้านการก่อสร้าง 20,000 อัตรา ตลอดจนสร้างงานทางอ้อมกว่า 50,000 ตำแหน่ง จากส่วนสนับสนุน และซัพพลายเออร์ที่เกี่ยวข้อง

หนุนสหรัฐสู่ผู้ผลิตชิประดับแนวหน้าของโลก

ขณะเดียวกัน บริษัทเซมิคอนดักเตอร์อย่าง TSMC และ Samsung ซึ่งทั้งสองลงทุนอย่างหนักในสหรัฐ  ต่างคาดหวังเงินทุนสนับสนุนจากพระราชบัญญัติ CHIPS ซึ่งมุ่งส่งเสริมการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ภายในประเทศ 
 

อินเทล ได้รับเงินทุนอุดหนุน คิดเป็น 22% ของงบประมาณทั้งหมด  5.3 หมื่นล้านดอลลาร์ ภายใต้กฎหมาย CHIPS Act ที่ถูกตั้งขึ้นในปี 2564 ถูกตั้งขึ้นเพื่อช่วยให้สหรัฐ บรรลุเป้าหมายในการผลิตชิประดับแนวหน้าของโลกที่ 20% ของทั้งตลาดภายในสิ้นทศวรรษนี้ ซึ่งตอนนี้สหรัฐ ยังคงเป็นผู้นำในการออกแบบชิป AI ขั้นสูง แต่ต้องพึ่งพา "โรงงานจำนวนน้อยมากในเอเชีย" ในการผลิต ซึ่งสถานการณ์นี้เป็น "ปัญหาความมั่นคงของชาติ"

อินเทลตั้งเป้าเป็นผู้เล่นอันดับ 2 ของโลก รองจาก TSMC ภายในปี 2573 และนำเทคโนโลยีการผลิตชิปล่าสุดที่เรียกว่า 18A หรือ 18 อังสตรอม มาใช้จริงภายในปี 2568 สู่เป้าหมายหลักคือ การทวงคืนตำแหน่ง หลังถูก TSMC และ Samsung ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันมากกว่า 70% ของโลก

ทั้งนี้ โอเว่น เท็ดฟอร์ด นักวิเคราะห์การวิจัยอาวุโสจาก บีคอน โพลิซี แอดไวเซอร์ คาดการณ์ว่าสหรัฐอเมริกาอาจออกกฎหมาย CHIPS ฉบับที่สองในปี 2569 เพื่อสนับสนุนเป้าหมายในการผลิตชิปที่ทันสมัยที่สุดในโลกเพิ่มเป็น 20% พร้อมเผยว่ารัฐบาลกำลังเจรจากับผู้ผลิตชิประดับแนวหน้าในขณะที่กระทรวงพาณิชย์ได้รับคำขอเงินทุนมากกว่า 7 หมื่นล้านดอลลาร์

ขณะเดียวกันหลายประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา จีน ญี่ปุ่น และสหภาพยุโรป กำลังเร่งสร้างห่วงโซ่อุปทานชิปภายในประเทศ เพื่อลดการพึ่งพาต่างประเทศ แต่ความพยายามนี้ไม่ได้ราบรื่นอย่างที่คาดไว้ เช่นในสหรัฐ ซัพพลายเออร์ของ TSMC และ Intel หลายราย ชะลอหรือลดขนาดการก่อสร้างโรงงานในรัฐแอริโซนาหลังจากต้นทุนที่สูงขึ้น

 

อ้างอิง nikkei 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์