‘เวียดนาม’ เปลี่ยนปธน. 2 คนใน 2 ปี ปม ‘คอร์รัปชัน’ กำลังกัดกินชาติ
เปิดปมปัญหา “คอร์รัปชันเวียดนาม” ที่ฝังลึก และแทรกซึมไปถึงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาล สิ่งนี้กำลังทำให้นักลงทุนสูญเสียความเชื่อมั่น และกระทบการเติบโตประเทศในระยะยาว ถ้าต้นตอทุจริตยังไม่ได้รับการแก้ไข
KEY
POINTS
- เศรษฐินี “เจือง มาย หลั่น” ของบริษัทอสังหาฯเวียดนาม Van Thinh Phat Group ได้ยักยอกเงินจาก “ธนาคาร Saigon Commercial Bank” กว่า 4.4 แสนล้านบาท
- GDP ของเวียดนามเติบโต 5.05% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ 8.02% ซึ่ง “ต่ำกว่าเป้าหมายรัฐบาล” ที่ 6.5%
- ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศไม่ใช้ประธานาธิบดี แต่เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่ชื่อว่า “เหงียน ฟู้ จ่อง” วัย 79 ปี เขาชูแคมเปญ “เตาหลอมอันโชติช่วง” เพื่อปราบคอร์รัปชัน
ภายในเวลาเพียง “2 ปี” ประเทศโตเร็วอย่าง “เวียดนาม” กลับเปลี่ยนประธานาธิบดีถึง 2 คน เซ่นปม “คอร์รัปชัน” ในรัฐบาล แน่นอนว่าคอร์รัปชันสามารถเกิดขึ้นในทุกประเทศ แต่ในเวียดนามกลับเกิดขึ้นค่อนข้างมากครั้ง และในระดับเจ้าหน้าที่ชั้นสูงด้วย
- ปธน.หวอ วัน เถือง ประกาศลาออก หลังรับตำแหน่งเพียง 1 ปี (เครดิต: Reuters) -
เห็นได้จาก ต้นเดือน ม.ค. 2567 เหวียน แถ่ง ลอง (Nguyen Thanh Long) อดีตรัฐมนตรีสาธารณสุขเวียดนาม และเจ้าหน้าที่รัฐอีกราว 37 คนถูกศาลจำคุกในฐานความผิด “รับสินบน” และ “โก่งราคา” ชุดตรวจโควิด-19
เมื่อเดือน ก.ค. 2566 ศาลเวียดนามตัดสินจำคุกเหล่าอดีตรัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ระดับสูงรวม 54 คน ในข้อหา “ติดสินบน” และ “ทุจริต” งบประมาณในการต่อสู้กับโควิด-19
ไม่นานมานี้ เศรษฐินี “เจือง มาย หลั่น” (Truong My Lan) ประธานบริษัทอสังหาริมทรัพย์ยักษ์ใหญ่ของเวียดนามที่ชื่อว่า Van Thinh Phat Group ได้ยักยอกเงินจาก “ธนาคาร Saigon Commercial Bank” (SCB) เป็นมูลค่ากว่า 12,530 ล้านดอลลาร์หรือราว 4.4 แสนล้านบาท ซึ่งคิดเป็นมูลค่าเกือบ 3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ในปี 2565
ปัญหาคอร์รัปชันอันฝังลึกและกระจายไปทั่วทุกหย่อมหญ้าของประเทศนี้ กำลังสั่นคลอนความเชื่อมั่นนักลงทุน และอาจเป็นอุปสรรคใหญ่ต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ
เหงียน แคก ซาง (Nguyen Khac Giang) แห่งสถาบันวิจัยเศรษฐกิจและการเมือง ISEAS–Yusof Ishak Institute ให้ความเห็นว่า “ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลอะไร การลาออกของประธานาธิบดี 2 คนภายใน 2 ปี ไม่ได้เป็นสัญญาณที่ดีของประเทศ อย่างที่มักโอ้อวดว่าการเมืองมีเสถียรภาพ”
ปราบคอร์รัปชันที่รากหรือกำจัดศัตรูการเมือง
ในการเมืองเวียดนาม ผู้ที่มีอำนาจสูงสุดในประเทศไม่ใช้ประธานาธิบดี แต่เป็นเลขาธิการพรรคคอมมิวนิสต์ที่ชื่อว่า “เหงียน ฟู้ จ่อง” (Nguyen Phu Trong) ในวัย 79 ปี เขาชูแคมเปญ “เตาหลอมอันโชติช่วง” (Blazing Furnace) เพื่อปราบคอร์รัปชันในประเทศ ซึ่งมีเจ้าหน้าที่รัฐจำนวนไม่น้อยใช้อำนาจเอื้อประโยชน์ให้เอกชน ด้วยการออกใบอนุญาต อนุมัติโครงการต่าง ๆ ที่ไม่ถูกหลักเกณฑ์ให้ โดยแลกกับเงินสินบนและหุ้นส่วนบริษัท
นับตั้งแต่ปี 2559 ที่เริ่มต้นแคมเปญนี้ สมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามราวหลายหมื่นคนถูกปลด ขับออกจากพรรค รวมถึงติดคุก ในแง่หนึ่งถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ในเหรียญอีกด้าน การจับกุมผู้กระทำผิด โดยยังไม่ได้ปฏิรูปโครงสร้างการเมืองที่เป็นอยู่ อาจทำให้ “รากเหง้าคอร์รัปชัน” ยังไม่ได้รับการแก้ไขหรือไม่
เดวิด ฮัทท์ (David Hutt) นักวิจัยของสถาบัน Central European Institute of Asian Studies มองว่า การเมืองเวียดนามรวมศูนย์อำนาจอยู่ที่พรรคการเมืองเดียว ไม่ได้มีการถ่วงดุลอำนาจมากเพียงพอ และอาจเป็นการกำจัดศัตรูทางการเมืองมากกว่าแก้ปัญหาที่โครงสร้าง
ปมฉาวทุจริต ทำนักลงทุนลังเลใจ
เหงียน แคก ซางกล่าวว่า กระแสการจับกุมเจ้าหน้าที่รัฐระดับสูง รวมถึง ปธน.ก็ลาออกจากตำแหน่ง ส่งผลให้นักลงทุนตัดสินใจเลือกชะลอการลงทุนไปก่อน เพราะมองว่าการเมืองยังไม่แน่นอน ภาพผู้นำยังไม่ชัดเจน ซึ่งหลังจากที่ปธน. หวอ วัน เถือง (Vo Van Thuong) ลงจากตำแหน่ง ผู้ที่ขึ้นมารักษาการในปัจจุบัน คือ หวอ ถิ แองห์ ซวน (Vo Thi Anh Xuan) จนกว่าสภาจะมีการเลือกตั้ง ปธน.คนใหม่ ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นในปี 2569
เมื่อมองไปที่การเติบโตของเวียดนามในปีที่แล้ว ผลจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัวลง การปราบคอร์รัปชันในประเทศ และนักลงทุนลดคันเร่งการลงทุน ได้ทำให้ GDP ของเวียดนามเติบโต 5.05% ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 ที่ 8.02% ซึ่ง “ต่ำกว่าเป้าหมายรัฐบาล” ที่ 6.5%
เรื่องราวการทุจริตในเวียดนามที่ลุกลามในเจ้าหน้าที่ระดับสูง ยังคงเป็นที่น่าติดตามว่า รัฐบาลจะแก้ปัญหาต้นตอนี้ได้หรือไม่ เพื่อฟื้นความเชื่อมั่นกลับมา เพราะการลงทุนของเอกชน ปัจจัยที่พวกเขาพิจารณาไม่ได้มีเพียงการเติบโต แต่ยังมีด้าน “ธรรมาภิบาล” และ “เสถียรภาพทางการเมือง” ด้วย
อ้างอิง: guardian, asia, diplomat, diplo, กรุงเทพธุรกิจ