ผลวิจัยชี้ นักเรียนเกเรมีรายได้มากกว่าเด็กทั่วไป เมื่อเข้าสู่วัย 40
ผลวิจัยจากอังกฤษพบว่า เด็กที่มีพฤติกรรมก้าวร้าวในโรงเรียน จะมีรายได้มากกว่าเด็กทั่วไปเมื่อเข้าสู่วัย 40 เพราะคิดได้ว่าการทำตัวไม่ดี จะได้รับบทลงโทษในภายหลัง
ผลการศึกษาฉบับใหม่ในอังกฤษ พบชี้ว่า นักเรียนอันธพาลประจำโรงเรียนมีแนวโน้มที่มีเงินเดือนสูงกว่าเด็กทั่วไป เพราะตระหนักได้ว่า การทำตัวไม่ดีจะส่งผลกระทบลบ ๆ ไปยังบั้นปลายชีวิต
ผลวิจัยที่เผยแพร่ในช่วงต้นมี.ค.ของสถาบันวิจัยสังคมและเศรษฐกิจ (Institute for Social and Economic Research) ของอังกฤษพบว่า เด็กนักเรียนที่แสดงพฤติกรรมมีปัญหาในโรงเรียน รวมถึงการแสดงอารมณ์ก้าวร้าวและล้อเลียนหรือกลั่นแกล้งผู้อื่น มีรายได้สูงกว่าเด็กปกติทั่วไปเมื่อเข้าสู่ช่วงอายุ 40 ปี
รายงานเผยอีกว่า เด็กที่ “ก่อเรื่องมากมาย” ในรงเรียนมีความพึงพอใจในการทำงานมากกว่า ในขณะที่ เด็กที่มีปัญหากับการมีสมาธิจดจ่อและการสร้างความสัมพันธ์ในชั้นเรียน กลายเป็นกลุ่มที่ทำผลงานได้ย่ำแย่กว่าในตลาดแรงงาน และมีความพึงพอใจในการทำงานและชีวิตที่ต่ำกว่า
นอกจากนี้ ความล้มเหลวในการทำภารกิจในโรงเรียนให้ลุล่วงและปัญหาทางอารมณ์ เช่น ความวิตกกังวลยังมีความเชื่อมโยงกับผลลัพธ์ที่ย่ำแย่กว่าในตลาดงานด้วยเช่นเดียวกัน
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า การศึกษาดังกล่าวอาศัยข้อมูลจาก 1970 British Cohort Study (BCS70) ในการเปรียบเทียบพฤติกรรมและทักษะต่าง ๆ ที่ครูระบุไว้ในรายงานตอนอายุ 10-16 ปี กับระดับการศึกษา รายได้ ชั่วโมงทำงาน และอาชีพจนถึงอายุ 46 ปี
ผลการวิจัยดังกล่าวพบด้วยว่า ทักษะทางสังคมและอารมณ์ในเด็กวัยเรียนสามารถช่วยทำนายแง่มุมต่าง ๆ ของชีวิตบั้นปลายได้ โดยการศึกษานี้ได้พิจารณาถึงรายละเอียดทางเศรษฐกิจและสังคมต่าง ๆ เช่น รายได้ของครอบครัว สถานะการทำงานของผู้ปกครอง และสถานะทางการศึกษาด้วย
ผู้เขียนระบุว่า ผลการวิจัยนี้ได้ชี้ให้เห็นถึงความจำเป็นที่โรงเรียนจะต้องพิจารณาแนวทางใหม่ในการสร้างวินัยให้กับเด็ก
โดยผู้วิจัยระบุว่า “มีเป็นไปได้ว่าพฤติกรรมที่มองว่าเป็นพฤติกรรมก้าวร้าว คือการตอบสนองต่อสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขัน ดังนั้น แทนที่จะใช้การลงโทษอาจหันมาเป็นการให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจสาเหตุของพฤติกรรมก่อกวนแทน และครูผู้สอนเองก็ควรได้รับการฝึกอบรมให้สามารถให้กำหนดกลยุทธ์ที่เหมาะสมที่ เพื่อช่วยให้เด็ก ๆ เหล่านี้แสดงพฤติกรรมเหล่านั้นออกมาในรูปแบบที่เหมาะกับห้องเรียนได้ดีขึ้น”