หาก “ทรัมป์” ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐ (ภาค 2 ตอน สุดท้าย)
“เกี่ยวอะไรกับเรา?”ฉบับที่ 36 เป็นตอนสุดท้าย ต่อจากฉบับที่ 35 ซึ่งขอวิเคราะห์ผลกระทบอาเซียน และสรุปแนวทางการรับมือของประเทศไทย หากนาย “ทรัมป์” ได้เป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ สมัยที่สอง
I. ผลกระทบอาเซียน
เมื่อพิจารณาความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ และอาเซียน โดยเฉพาะไทย จะเห็นว่าหลังสงครามเย็น ความสัมพันธ์ลดทอนไปมาก ส่วนหนึ่งมาจากความเสี่ยงภัยคอมมิวนิสต์ที่หายไป ตามมาด้วยความคาดหวังให้ไทยดำเนินแนวทางเศรษฐกิจการเมืองและสังคมแบบตะวันตกที่เพิ่มขึ้น
แต่ความช่วยเหลือของสหรัฐฯทีมีต่อไทย กลับลดลงอย่างเห็นได้ชัดตั้งแต่วิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 โดยชัดเจนมากขึ้นหลังรัฐประหารปี 2549 และปี 2557 ตามลำดับ แต่อาเซียนยังคงมีความสำคัญกับสหรัฐฯ ซึ่งจะเห็นได้จากความพยายามอย่างต่อเนื่องผ่านทุกรัฐบาลในการสร้างความสัมพันธ์และส่งเสริมความร่วมมือเพิ่มเติม
มีเพียงสมัยรัฐบาล “ทรัมป์ 1” ที่ยกเลิกข้อตกลงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์เศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก Trans-Pacific Partnership (TPP) ซึ่งทำให้ประธานาธิบดีไบเดน จัดตั้ง กรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจอินโด-แปซิฟิก Indo-Pacific Economic Framework for Prosperity (IPEF) ขึ้นมาแทนในปี 2565
โดยเป็นความร่วมมือของ 14 ประเทศสมาชิกทางด้าน การค้า ห่วงโซ่อุปทาน พลังงานสะอาด รวมถึงภาษีและการต่อต้านการทุจริต เพื่อดึงวงจรแห่งอิทธิพล กลับมาที่สหรัฐฯ ในการคานอำนาจจีน
ถึงแม้ IPEF ไม่ได้ครอบคลุมถึงการเปิดตลาดสหรัฐฯ แต่ก็มีประโยชน์ด้านห่วงโซ่อุปทานกับประเทศสมาชิก ด้วยเหตุที่สหรัฐฯ ต้องการ ลดการพึ่งพาสินแร่และเซมิคอนดักเตอร์จากจีนโดยตรง
หากพิจารณาในรายละเอียด จะพบว่า IPEF ไม่น่าเป็นประเด็นกับทรัมป์ ก็เพราะความที่ไม่ได้ครอบคลุมถึงการเปิดตลาดร่วมสหรัฐฯ และยังมีบริบทการต่อรองกับประเทศสมาชิก
ซึ่งเป็นชุดความคิดและภาพลักษณ์ที่ทรัมป์ อยากให้คนมองตนว่า เป็นนักต่อรองที่แข็งแกร่ง แต่ด้วยอัตตาและความไม่แน่นอนของทรัมป์นั้น ก็อาจยกเลิกความร่วมมือนี้ เพียงเพราะเป็นนโยบายที่มาจากประธานาธิบดีไบเดน และทำให้ความสัมพันธ์ของสหรัฐฯ กับอาเซียนถดถอย จนเปิดโอกาสให้จีนและอินเดีย ขยายอิทธิพล พร้อมยกระดับความสัมพันธ์กับอาเซียน ตามนโยบายของ สองมหาอำนาจเอเชีย
ซึ่งสุดท้ายจะทำให้สหรัฐฯ กลับมากดดันกลุ่มประเทศอาเซียนให้เลือกข้างความสัมพันธ์
II. แนวทางการบริหารความสัมพันธ์ ไทย Vs. สหรัฐฯ ในอนาคต
จากความเป็นไปได้ของสถานการณ์ข้างต้น รัฐบาลไทยควรปรับแนวทางการรับมือ และบริหารความสัมพันธ์ของสามประเทศมหาอำนาจ สหรัฐฯ จีน และอินเดีย โดยพลิกวิกฤตของโลกให้เป็นโอกาสและประโยชน์สูงสุดกับไทย ที่ถูกมองว่าเป็นประเทศที่มีอำนาจระดับกลางของภูมิภาค แต่มีบทบาทที่ลดลง
ถึงแม้ความสัมพันธ์ของไทยกับสหรัฐฯจะไม่เป็นพันธมิตรเชิงกลยุทธ์เช่นอดีต แต่สหรัฐฯ ยังมีบทบาทสำคัญทางการทูตในโลกเสรี โดยเฉพาะการสนับสนุนการทหารและความมั่นคงของประเทศไทย ในขณะที่จีน ตลอดทศวรรษที่ผ่านมาก็มีความสำคัญกับห่วงโซ่ตรวนเศรษฐกิจไทย ทั้งในมิติของเงินลงทุน การค้าและอุตสาหกรรมท่องเที่ยว
ถึงแม้จะแลกมาด้วยความสัมพันธ์ที่ลดลงกับสหรัฐฯ ผ่านภูมิรัฐศาสตร์โลกที่เปลี่ยนไป รัฐบาลไทยก็ยังมองว่าคุ้มค่า แต่ในปัจจุบัน ด้วยปัญหาเศรษฐกิจเชิงโครงสร้างของจีน ทำให้การใช้จ่ายภาคบริโภคลดลง ตามมาด้วยหนี้ภาครัฐที่เพิ่มขึ้น จนส่งผลกระทบเชิงลบกับเศรษฐกิจไทยในหลายมิติ
ผมจึงมีความเห็นว่า รัฐบาลไทยควรใช้จังหวะนี้ในการสานสัมพันธ์กับประเทศอินเดียให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น เพราะอินเดีย มีประชากรมากที่สุดในโลก
อินเดียมีการเติบโตทางเศรษฐกิจแบบก้าวกระโดด มีเศรษฐกิจดิจิทัลที่ล้ำหน้า มุ่งลงทุนพลังงานทางเลือกและอุตสาหกรรมยานยนต์ไฟฟ้า มีประวัติศาสตร์วัฒนธรรมที่คุ้นเคยกับประเทศไทย มีจำนวนนักท่องเที่ยวเข้ามาไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง
จึงเหมาะสมด้วยประการทั้งปวงในการช่วยไทย “กระจายความเสี่ยงทางเศรษฐกิจ” จากการพึ่งจีนและยังเป็นการลดความเสี่ยง ของการเป็น “ลูกหลงความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐฯ กับจีน” ที่คาดว่าจะตึงเครียดยิ่งขึ้น จากการกลับมาของรัฐบาลทรัมป์ 2 ซึ่งอินเดียได้พิสูจน์แล้วว่า สามารถดำเนินนโยบายการทูตกับมหาอำนาจขนาดใหญ่ ไม่ว่าจะเป็น สหรัฐฯ จีน รวมถึง รัสเซีย ได้อย่างยอดเยี่ยม
หากรัฐบาลไทยเห็นพ้องกับโอกาสและวางแผนอย่างเป็นระบบ อินเดียน่าจะเป็นอีกหนึ่งพันธมิตรหลักของไทย ที่จะทำหน้าที่ “ตัวกลางความสัมพันธ์” และช่วยให้ไทยสามารถรักษาสมดุล รวมถึงระยะห่างที่เหมาะสม ระหว่างมหาอำนาจสหรัฐฯและจีน
ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงของประชาธิปไตยในประเทศไทย
โจทย์นี้ควรเป็นอีกยุทธศาสตร์ที่สำคัญของ นายกฯเศรษฐา ทวีสิน เพื่อรับมือภูมิรัฐศาสตร์โลกที่กำลังจะเปลี่ยนไป โดยบริหารความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เพื่อสร้างความได้เปรียบที่ยั่งยืนของประเทศไทยในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้.