The Queen's Reading Room อ่านตามราชินี l World Pulse
ทุกวันนี้เทคโนโลยีได้ฉกฉวยเวลาของมนุษย์ไปมาก เวลาในแต่ละวันหมดไปกับโลกโซเชียลมีเดีย แต่สำหรับคนที่รักการอ่าน “หนังสือ” ยังเป็นงานอดิเรกสร้างความเพลิดเพลินเจริญใจ
เนื่องในโอกาสงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติ กำลังดำเนินอยู่ World Pulse ขอบอกเล่าเรื่องราวของสมเด็จพระราชินีคามิลลานักอ่านชื่อดังผู้ทรงมีคุณูปการต่อวงการวรรณกรรมสหราชอาณาจักร
ควีนคามิลลาในสมเด็จพระเจ้าชาลส์ที่ 3 ทรงเป็นหนอนหนังสือมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ นิสัยรักการอ่านรับรู้ได้จาก The Queen's Reading Room องค์กรการกุศลที่จัดตั้งขึ้นในรูปของสโมสรหนังสือออนไลน์บนอินสตาแกรม ในเดือนม.ค.2021 ขณะควีนคามิลลายังดำรงพระยศเป็นดัชเชสแห่งคอร์นวอลล์ จากนั้นจึงเปลี่ยนมาเป็นองค์กรการกุศลในเดือนก.พ.2023 ภายใต้ภารกิจส่งเสริมวรรณกรรมในสหราชอาณาจักร และที่อื่นๆ
จุดเด่นของ The Queen's Reading Room คือ แต่ละปีควีนคามิลลาจะทรงแนะนำหนังสือในทุกสี่ฤดูกาล ฤดูละสี่เล่มจากหลากหลายประเภททั้งหนังสือคลาสสิก และหนังสือออกใหม่ และไม่เฉพาะควีนเท่านั้นที่ทรงแนะนำหนังสือให้ผู้อ่าน พระสหาย และคนใกล้ชิดก็ร่วมแนะนำหนังสือด้วย แน่นอนว่ากษัตริย์ชาลส์ พระสวามี และแคเธอริน เจ้าหญิงแห่งเวลส์ พระสุณิสาในกษัตริย์ชาลส์ ย่อมรวมอยู่ในลิสต์
หนังสือที่ควีนคามิลลาทรงแนะนำ และคนไทยคุ้นเคย เช่น Dracula โดย Bram Stoker, A Christmas Carol โดย Charles Dickens หลายคนเคยอ่านงานของนักเขียนท่านนี้ในฐานะหนังสือนอกเวลามาก่อน ขณะที่สุภัตรา ภูมิประภาส นักแปลชื่อดัง ได้ยกตัวอย่างหนังสือแนะนำจากควีนที่มีการแปลเป็นภาษาไทย เพื่อให้นักอ่านชาวไทยไปหาความสำราญกันได้จากงานสัปดาห์หนังสือ ได้แก่ Love in the Time of Cholera โดยกาเบรียล การ์เซีย มาร์เกซ หรือในชื่อภาษาไทย รักเมื่อคราวห่าลง ของสำนักพิมพ์บทจร เรื่องนี้เคยเป็นภาพยนตร์ด้วย
อีกเล่มที่เคยเป็นภาพยนตร์คือ เด็กเก็บว่า The Kite Runner โดย Khaled Hosseini จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์เนชั่นบุ๊คส์ ดูภาพยนตร์ว่าสะเทือนใจแล้ว อ่านหนังสือสะเทือนใจยิ่งกว่า อีกสองเล่มที่ควรอ่านตามรอยควีน ได้แก่ A Gentleman in Moscow เขียนโดย Amor Towels หรือ สุภาพบุรุษในมอสโก ของแพรวสำนักพิมพ์ และ A Tale of Two Cities by Charles Dickens ฉบับแปลไทย มี 2 สำนวน คือ นิยายแห่งสองนคร ของสำนักพิมพ์ประพันธ์สาส์น และ เรื่องของสองนคร ของ สำนักพิมพ์โอเดียน
ทีมงาน The Queen's Reading Room สนทนากับควีนคามิลลาถึงแรงบันดาลใจในการทำห้องอ่านหนังสือนี้ขึ้นมา พระองค์ตรัสว่า ต้องการทำให้ Reading Room ของพระองค์นั้นเป็นที่ ที่ทุกคนได้ดื่มด่ำ พบสิ่งที่เหมาะสมกับตนเองแล้วมีความสุขไปกับมัน ส่วนตัวพระองค์นั้นโปรดหนังสือทุกแนว
“ฉันอ่านนิยายเยอะ ตำราอาหารก็อ่านเยอะ (แม้ถูกลูกชายที่เป็นนักเขียนด้านอาหารขโมยไปบ่อยๆ) แต่ฉันก็อ่านเรื่องจริงด้วย หนังสือชีวประวัติดีๆ วางไม่ลงเชียวล่ะ”
กล่าวได้ว่าการทำ The Queen's Reading Room ของควีนคามิลลาไม่ได้ทำเพราะเข้ามาเป็นเชื้อพระวงศ์ แต่พระองค์มีอุปนิสัยรักการอ่านมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์โดยมีพระบิดาเป็นต้นแบบ
“ฉันอ่านหนังสือให้ลูกฟัง ตอนนี้ก็อ่านให้หลาน ฉันชอบอ่าน อ่านให้พวกเขาฟังตั้งแต่ยังเล็กมาก จนกระทั่งโตขึ้น ตอนนี้พวกเขาอ่านให้ฉันฟังแล้ว” ควีนคามิลลาตรัสอย่างมีความสุข
เรื่องราวของสมเด็จพระราชินีคามิลลากับการอ่าน เป็นเพียงตัวอย่างเล็กๆ ที่ชี้ให้เห็นว่า ยิ่งโลกอินเทอร์เน็ตเปิดกว้างเท่าใด โลกแห่งหนังสือนั้นเปิดกว้างยิ่งกว่า เพราะอย่างน้อยๆ ยังมีโลกออนไลน์คอยเป็นตัวเชื่อมนักอ่านที่มีหัวใจตรงกัน ผู้อ่านสามารถติดตามหนังสือแนะนำเล่มอื่นๆ ได้จากเว็บไซต์ https://thequeensreadingroom.co.uk อ่านเล่มไหนแล้วถูกใจอย่าลืมนำมาเล่าสู่กันฟัง หรือจะแลกเปลี่ยนโดยตรงกันทางเว็บไซต์ก็ย่อมได้
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์