‘AI’ สามารถป้องกัน ‘การประมงผิดกฎหมาย’ อย่างไร

‘AI’ สามารถป้องกัน ‘การประมงผิดกฎหมาย’ อย่างไร

เปิดความล้ำของ “AI” ในการใช้ตรวจจับ “การประมงผิดกฎหมาย” แม้ว่าเรือดังกล่าวจะปิดระบบระบุตำแหน่งตัวเองก็ตาม

KEY

POINTS

  • การจับปลาแบบผิดกฎหมายที่เข้าข่าย “ไอยูยู” มีสัดส่วนมากถึง 20% ของการประมงทั่วโลก
  • AI สามารถจับประมงเถื่อนได้ แม้เรือปิดระบบ AIS (Automatic Identification System) ในการระบุตำแหน่งเรือตัวเองก็ตาม
  • เรือประมงที่ไม่ได้เปิดระบบติดตามสาธารณะกว่า 75% กระจุกตัวอยู่ที่แถบแอฟริกาและเอเชียใต้ ซึ่งเรือเหล่านี้อาจกำลังทำประมงผิดกฎหมาย

การประมง” ถือเป็นอาชีพสำคัญที่หล่อเลี้ยงเศรษฐกิจไทยและของโลก อย่างไรก็ตาม ด้วยจำนวนประชากรที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จึงเป็นตัวเร่งให้ การประมงผิดกฎหมาย ขยายวงกว้าง มี การจับปลานอกฤดูกาล ใช้ไฟฟ้าช็อตปลา และใช้ อวนตาถี่ เพื่อให้ได้ปริมาณปลามากพอกับความต้องการ แต่กลับทำให้เหล่าสัตว์น้ำตกอยู่ในความเสี่ยงที่อาจสูญพันธุ์ โดยเฉพาะปลาฉลามและปลากระเบน

เดวิด ครูดสมา (David Kroodsma) หัวหน้าทีมวิจัยของ Global Fishing Watch ซึ่งเป็นองค์กรไม่แสวงหากำไรเพื่อปกป้องสัตว์น้ำในทะเล คาดการณ์ว่า การจับปลาแบบผิดกฎหมาย หรือไม่มีการควบคุมนั้น มีสัดส่วนมากถึง 20% ของการประมงทั่วโลก

ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ระบุไว้ว่า จำนวนปลาที่ถูกจับจากการทำประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (IUU) อาจมีมากถึง 26 ล้านตันในแต่ละปี หรือคิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของปลาในตลาด จนทำให้ มูลค่าตลาดมืดด้านสัตว์น้ำสูงถึง 23,000 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 840,000 ล้านบาท

AI จับประมงเถื่อนได้ แม้เรือปิดระบบตำแหน่งก็ตาม

สำนักข่าว BBC รายงานว่า ด้วยเหตุนี้ Global Fishing Watch จึงสร้างปัญญาประดิษฐ์ (AI) ร่วมกับภาพถ่ายทางดาวเทียมใน การตรวจจับเรือประมงผิดกฎหมาย แม้เรือเหล่านี้จะปิดระบบ AIS (Automatic Identification System) ในการระบุตำแหน่งเรือตัวเองก็ตาม แต่ AI ก็สามารถตามรอยได้

จุดแข็งของ AI คือ ความสามารถในการประมวลข้อมูลมหาศาลได้อย่างรวดเร็ว Global Fishing Watch จึงนำข้อมูลต่าง ๆ อันมหึมา ไม่ว่าจากภาพถ่ายทางดาวเทียมในปริมาณหลายล้านกิกะไบต์, เรดาร์, เทคโนโลยีการสำรวจข้อมูลระยะไกล (Remote Sensing), ภาพถ่ายทางอากาศ ฯลฯ มารวมกันให้อัลกอริทึม AI ช่วยวิเคราะห์ 

“รายละเอียดข้อมูลที่ AI ใช้ มีตั้งแต่ ความยาวของเรือ เส้นทางวิ่งของเรือ สภาพแวดล้อมรอบเรือ ภาพถ่ายพื้นที่ ความหนาแน่นของปริมาณเรือตรงบริเวณนั้น อุณหภูมิในมหาสมุทร เพื่อให้ AI ใช้ประกอบการประมวลผลว่า เรือดังกล่าวน่าจะเป็นเรือประเภทอะไร เรือจับปลา เรือโดยสาร เรือขนน้ำมัน หรือเรือขนส่งสินค้า” เฟอร์นานโด เปาโล (Fernando Paolo) วิศวกรผู้สร้างเครื่องสำรวจข้อมูลระยะไกลของ Global Fishing Watch กล่าว

หลังจากที่นักวิจัยใช้ AI ตรวจเรือในมหาสมุทรทั่วโลก ก็พบว่า เรือประมงที่ไม่ได้เปิดระบบติดตามสาธารณะกว่า 75% กระจุกตัวอยู่ที่แถบแอฟริกาและเอเชียใต้ ซึ่งเรือเหล่านี้อาจกำลังทำประมงผิดกฎหมาย

ใช้หุ่นยนต์แยกเสียงมหาสมุทรกับเรือลากอวน

นอกจากนี้ ทีมจากมหาวิทยาลัยเซาแธมป์ตัน และบริษัท RS Aqua ผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีทางทะเลในอังกฤษได้ร่วมมือกันสร้างหุ่นยนต์ใต้น้ำที่ติดเซนเซอร์และมีระบบ AI ในการช่วยตรวจจับ “เสียงการทำประมง” และส่งข้อมูลกลับฐานแบบเรียลไทม์ หุ่นยนต์ AI นี้ยังสามารถแยกแยะได้ระหว่าง “เสียงธรรมชาติในมหาสมุทร” กับ “เสียงของเรือลากอวน”

“เมื่อรวมความล้ำของ AI กับการบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ ก็จะทำให้การปราบปรามการประมงผิดกฎหมายตรงเป้ามากยิ่งขึ้น แต่เท่านั้นยังไม่พอ ผู้บริโภคจำเป็นต้องเลือกซื้อในสิ่งที่ยั่งยืน และส่งเสียงกดดันการจับปลาที่ไม่ถูกกฎหมาย เพราะการจะปกป้องเหล่าสัตว์น้ำได้นั้น ทุกฝ่ายจะต้องขับเคลื่อนร่วมกัน” นี่คือมุมมองที่ พอล แลนส์เบอเจน (Paul Lansbergen) ประธานแนวร่วมการประมงนานาชาติ (International Coalition of Fisheries) ทิ้งท้ายไว้
 

 

 

อ้างอิง: BBC