จับตา“แผนสำรวจดาวอังคาร” เมื่อนาซาถูกตัดงบกว่าหมื่นล้าน

จับตา“แผนสำรวจดาวอังคาร” เมื่อนาซาถูกตัดงบกว่าหมื่นล้าน

นาซา ตัดสินใจลดงบประมาณสำรวจดาวอังคารที่สูงเกินไป แม้มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การวางรากฐานของภารกิจนำมนุษย์สู่ดาวอังคารในอนาคต

ท่ามกลางการแข่งขันในด้านต่างๆของประเทศมหาอำนาจโลก การพัฒนาด้านอวกาศก็เป็นอีกหนึ่งการแข่งขันที่ไม่มีใครยอมแพ้ใครด้วยความหวังว่าจะเป็นที่หนึ่งของโลกในด้านนี้ แต่ล่าสุด องค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติของสหรัฐ(นาซา)ตัดสินใจลดงบประมาณสำรวจดาวอังคารที่สูงเกินไป แม้มีเป้าหมายสูงสุดอยู่ที่การวางรากฐานของภารกิจนำมนุษย์สู่ดาวอังคารในอนาคต

ในบรรดาโครงการสำรวจอวกาศมากมายของนาซา ยังมีอีกหนึ่งภารกิจสำคัญที่พวกเขามุ่งมั่นจะบรรลุผลให้ได้ นั่นคือภารกิจ Mars Sample Return ที่มีเป้าหมายในการนำตัวอย่างของ “หินบนดาวอังคาร” กลับมาสู่โลก ภายในปี 2583         

ย้อนกลับไปในตอนที่นักบินอวกาศจากยานอพอลโล่ นำหินบนดวงจันทร์กลับมาด้วย ซึ่งภาระกิจนี้กลายเป็นปัจจัยสำคัญที่ปฏิวัติความเข้าใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ระบบสุริยะในยุคแรก นักวิทยาศาสตร์นาซาจึงเชื่อว่าหินจากดาวอังคารเอง จะช่วยขยายขอบเขตความเข้าใจเกี่ยวกับสิ่งมีชีวิตนอกโลกได้เช่นกัน

แต่ปัญหาสำคัญคืองบประมาณมูลค่า 1.1 หมื่นล้านดอลลาร์ ที่ต้องใช้ในโครงการนี้ ถูกมองว่าแพงเกินไป และพวกเขาอาจไม่สามารถส่งมอบหินดาวอังคารได้ทันตามกำหนดในปี 2583 ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้บริหารนาซาอย่างบิล เนลสัน บอกว่า ไม่สามารถยอมรับได้ เพราะจะส่งผลกระทบต่องบประมาณของโครงการอื่นโดยรวมทั้งหมด

จากการประชุมทางไกลของนาซาและผู้สื่อข่าวที่เกิดขึ้นเมื่อวันจันทร์(15เม.ย.)ที่ผ่านมา จึงมีข้อสรุปว่า พวกเขาจะปรับลดงบประมาณในโครงการดังกล่าวเหลือแค่ราว 5 - 7 พันล้านดอลลาร์เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม ภารกิจ Mars Sample Return ยังคงถูกมองว่าเป็นภารกิจสำคัญลำดับแรกๆ ที่นาซาต้องทำให้สำเร็จ เพราะเป็นรากฐานสำคัญของการสำรวจอวกาศในระยะยาว รวมถึงความหวังที่อาจนำพามนุษย์ขึ้นไปอยู่อาศัยบนดาวอังคารได้ด้วย
 

หลังจากนี้ นาซาต้องเร่งปรับเปลี่ยนแผนการเพื่อรองรับงบประมาณใหม่ ซึ่งอาจรวมถึงการปรับลดจำนวนเจ้าหน้าที่ในบางแผนกด้วย และขยายระยะเวลาโครงการ เพื่อให้สามารถนำตัวอย่างก้อนหินกลับมายังโลกให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด ซึ่งหากอิงตามกำหนดการเดิม พวกเขาจะเริ่มปล่อยยานอวกาศสู่ดาวอังคาร ในปี 2570 นี้

ก่อนหน้าที่นาซาจะตัดงบประมาณ นาซาได้เปิดรับอาสาสมัคร 4 คน เพื่อเข้าร่วมโครงการ CHAPEA 2 ซึ่งเป็นการจำลองสภาพแวดล้อมการอยู่อาศัยบนดาวอังคาร ซึ่งอาสาสมัครทั้ง 4 คน จะต้องอยู่ร่วมกันในพื้นที่ 158 ตารางเมตร ภายใต้การจำลองสถานการณ์ว่ากำลังอาศัยอยู่บนดาวอังคาร เช่น การตัดขาดจากโลกภายนอก การทำงานวิเคราะห์พื้นผิวบนดาวอังคาร และการใช้พลังงาน อาหาร และน้ำ ที่มีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งจะมีการจำลองสถานการณ์ฉุกเฉินที่อาจเกิดขึ้น

ข้อมูลที่ได้จากการจำลองสถานการณ์ดังกล่าว จะถูกนำไปใช้พัฒนาการวางแผนภารกิจส่งมนุษย์กลุ่มแรกเดินทางไปสำรวจดาวอังคารในอนาคต ซึ่งดาวอังคารเป็นเป้าหมายต่อไปของการสำรวจอวกาศ เนื่องจากมีสภาพแวดล้อมที่คล้ายโลก และเป็นดาวเคราะห์ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดที่อาจจะมีสิ่งมีชีวิต และมนุษย์อาจจะย้ายไปอาศัยอยู่ได้

ขณะนี้ โครงการ CHAPEA 1 กำลังดำเนินอยู่ ซึ่งมีอาสาสมัคร 4 คน อาศัยอยู่ร่วมกันภายใต้สถานการณ์จำของ ตั้งแต่เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ปี 2566 และจะสิ้นสุดในวันที่ 7 ก.ค. 2567 ส่วนโครงการ CHAPEA 2 จะเริ่มต้นขึ้นในปี 2568 และใช้เวลา 1 ปี เช่นกัน

ผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมโครงการ จะต้องมีสัญชาติอเมริกัน หรือเป็นผู้พำนักถาวรในสหรัฐ มีอายุ ระหว่าง 30-35 ปี ไม่สูบบุหรี่ สื่อสารภาษาอังกฤษได้ จบการศึกษระดับปริญญาโทด้าน STEM ซึ่งเป็นการศึกษาที่บูรณาการศาสตร์ความรู้ทั้ง 4 สาขาเข้าด้วยกัน ประกอบด้วย วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรมศาสตร์ และคณิตศาสตร์ หรือเป็นนักบิน ที่มีชั่วโมงบินไม่น้อยกว่า 1,000 ชั่วโมง

นาซาไม่ได้เปิดเผยว่าอาสาสมัครในโครงการ CHAPEA ได้ค่าตอบแทนเท่าไร แต่ผู้สมัครที่ผ่านการคัดเลือกจะได้รับข้อมูลเรื่องค่าตอบแทน รวมทั้งสวัสดิการต่างๆ ในระหว่างการทดสอบคุณสมบัติ

นาซามีแผนส่งมนุษย์อวกาศไปสำรวจดาวอังคารเป็นครั้งแรก ในช่วงปี 2573 – 2576 เพื่อสำรวจความเป็นไปได้ว่ามนุษย์จะอาศัยอยู่บนดาวอังคารได้จริงหรือไม่ ซึ่งโครงการ CHAPEA จะช่วยทำให้เรารู้เบื้องต้นว่าหากมนุษย์ต้องอาศัยอยู่บนดาวอังคารเป็นระยะเวลานานๆ จะส่งผลกระทบอย่างไรต่อร่างกายและจิตใจบ้าง โดยเฉพาะผลกระทบด้านจิตใจ เนื่องจากการอยู่อาศัยในพื้นที่แคบๆ ติดต่อกันเป็นเวลานาน อาจจะทำให้เกิดความเครียด ถึงขั้นสติแตกหรืออาละวาดได้ ถ้าหากไม่มีการเตรียมขั้นตอนรับมือมาก่อน