‘จีน’แชมป์ตุน'ทองคำ'มากสุดในโลก หลังเศรษฐกิจย่ำแย่จนไม่มีอะไรน่าลงทุน
‘จีน’แชมป์ตุนทองคำมากสุดในโลก หลังแบงก์ชาติจีนกวาดซื้อทอง 17 เดือนติดต่อกัน และนักลงทุนในประเทศแห่ซื้อทองคำเพราะเศรษฐกิจแย่ไม่มีอะไรน่าลงทุน ทำให้ความต้องการในประเทศแข็งแกร่ง จนยอดนำเข้าทองคำพุ่ง 34% ดันราคาทองคำโลกนิวไฮ
ราคา "ทองคำ" พุ่งทำนิวไฮครั้งล่าสุดเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2567 โดยราคาทองคำสปอตแตะระดับ 2,431.52 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ท่ามกลางความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ทวีความรุนแรงขึ้น สงครามในตะวันออกกลางและยูเครน ประกอบกับแนวโน้มการลดอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐฯ ที่ชะลอตัวลง ล้วนเป็นปัจจัยหนุนให้ราคาทองคำขยับตัวสูงขึ้น ซึ่งดึงดูดความสนใจไปทั่วตลาดโลก รวมถึงผู้ผลิตและผู้บริโภคโลหะมีค่ารายใหญ่ที่สุดของโลกอย่าง "จีน"
โดยแรงขับเคลื่อนที่สำคัญที่สุดของราคาทองคำที่พุ่งขึ้นในครั้งนี้ มาจาก "ความต้องการทองคำที่แข็งแกร่งจากจีน” ทั้งนักลงทุนรายย่อย นักลงทุนกองทุน ผู้ค้าฟิวเจอร์ส และแม้แต่ธนาคารกลาง ต่างมองหาทองคำแท่งเป็น สินทรัพย์ที่ปลอดภัย สำหรับการเก็บรักษามูลค่าในช่วงที่เศรษฐกิจมีความไม่แน่นอนสูง
“จีน”ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก
จีนแซงหน้าอินเดีย กลายเป็น"ผู้ซื้อทองคำรายใหญ่ที่สุดของโลก" ในปี 2566 สาเหตุหลักมาจาก การบริโภคทองคำประเภทเครื่องประดับแท่งและเหรียญ ของจีนพุ่งสูงจนทำลายสถิติ
โดยผู้บริโภคชาวจีนซื้อทองคำประเภทเครื่องประดับมากขึ้น 10% ในปี 2566 ขณะที่ความต้องการในอินเดียลดลง 6% และนักลงทุนชาวจีนเทเงินลงทุนในทองคำแท่งเพิ่มขึ้นถึง 28%
ลฟิลิป แคลปไวจ์ค กรรมการผู้จัดการบริษัทที่ปรึกษา บริษัท พรีเชียส เมทัลส์ อินไซท์ส จำกัดอยู่ในฮ่องกงกล่าวว่า “ความต้องการทองคำในจีนยังมีโอกาสเติบโตอีก โดยปัจจัยที่ผลักดันมาจากทางเลือกการลงทุนที่จำกัดในจีน วิกฤตการณ์ยืดเยื้อในภาคอสังหาริมตลาดหุ้นที่ผันผวนและค่าเงินหยวนที่อ่อนค่า ล้วนส่งผลให้เงินไหลเข้าสู่สินทรัพย์ที่มีความปลอดภัยมากขึ้น”
“มีจำนวนเงินมหาศาลที่พร้อมลงทุนในทองคำรวมทั้งนักลงทุนรายใหม่ โดยเฉพาะในสถานการณ์ปัจจุบันที่มีความไม่แน่นอนทางเศรษฐกิจและการเมือง เพราะข้อจำกัดด้านการลงทุนในจีน หลังรัฐบาลจีนควบคุมการไหลของเงินทุน ทำให้ยากต่อการลงทุนในต่างประเทศและรัฐบาลจีนจำกัดการโอนเงินออกนอกประเทศ นักลงทุนจีนจึงมีตัวเลือกการลงทุนภายในประเทศที่จำกัด”
ยอดนำเข้าทองคำจีนพุ่ง
แม้ว่าจีนจะเป็นผู้ผลิตทองคำมากที่สุด แต่ปริมาณการนำเข้าทองคำของจีนก็เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วในช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะในช่วงก่อนเทศกาลตรุษจีน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นิยมซื้อทองคำมาเป็นของขวัญ ตัวเลขการนำเข้า ในช่วงสามเดือนแรกของปีนี้ สูงกว่าปี 2566 ถึง 34%
โดยในช่วงสองปีที่ผ่านมา จีนมีการซื้อทองคำจากต่างประเทศมีมูลค่ารวมกว่า 2,800 ตัน ซึ่งมากกว่าทองคำทั้งหมดที่หนุนกองทุนซื้อขายทองคำ (ETF) ทั่วโลก หรือประมาณหนึ่งในสามของคลังสำรองที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีอยู่
แบงก์ชาติจีนกวาดซื้อทองคำ 17 เดือนติด
ธนาคารกลางจีน (PBOC) เข้าซื้อทองคำเป็นเวลา 17 เดือนติดต่อกัน ซึ่งเป็นการซื้อทองคำที่ยาวนานที่สุดเท่าที่เคยมีมา เนื่องจากธนาคารฯ ต้องการกระจายความเสี่ยงของเงินสำรอง โดยลดสัดส่วนของดอลลาร์สหรัฐฯ และป้องกันความเสี่ยงจากเงินหยวนที่อ่อนค่าลง
PBOC เป็นหนึ่งในธนาคารกลางหลายแห่งที่ซื้อทองคำ เช่นเดียวกับธนาคารกลางทั่วโลกที่ซื้อทองคำอย่างต่อเนื่องในช่วงหลายปีที่ผ่านมาจนเข้าใกล้ระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อปีที่แล้ว และคาดว่าจะยังคงซื้อทองคำในระดับสูงต่อไปในปี 2567
ความต้องการทองของจีนยังคงแข็งแกร่ง
อนาคตความต้องการทองคำของจีนยังคงแข็งแกร่ง แม้ว่าราคาทองคำจะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์และค่าเงินหยวนอ่อนค่าลง โดยเบี้ยประกันภัยทองคำเซี่ยงไฮ(Shanghai Gold Premium) พุ่งสูงถึง 89 ดอลลาร์สหรัฐต่อออนซ์ ในเดือนเมษายน 2567 สูงกว่าค่าเฉลี่ยทั้งปีที่ผ่านมาถึง 35 ดอลลาร์บ่งชี้ถึง ความต้องการทองคำที่แท้จริง
นิโคส คาวาลิส กรรมการผู้จัดการของบริษัทที่ปรึกษา บริษัท เมทัลส์ โฟกัส จำกัด กล่าวว่า
"การพุ่งขึ้นของราคาทองคำนั้นมั่นคงยั่งยืน และนักลงทุนทองคำทั่วโลกควรรู้สึกสบายใจกับความต้องการทองคำที่เพิ่มขึ้นของจีน"
อย่างไรก็ตาม หน่วยงานของจีนแสดงความกังวลเกี่ยวกับ การเก็งกำไร ในตลาดทองคำ โดยสื่อของรัฐได้เตือนนักลงทุนให้ระมัดระวังการเก็งกำไรในตลาด ทั้ง Shanghai Gold Exchange และ Shanghai Futures Exchange ได้เพิ่มข้อกำหนดมาร์จิ้นในสัญญาบางฉบับเพื่อจำกัดความเสี่ยง ซึ่งการปรับขึ้นเงื่อนไขการวางเงินประกันของตลาด SHFE เกิดขึ้นหลังจากปริมาณการซื้อขายทองคำรายวันพุ่งสูงแตะระดับสูงสุดในรอบ 5 ปี
นักลงทุนจีนซื้อทองผ่านกองทุน ETF ทองคำทุกเดือน
ตามข้อมูลจาก Bloomberg Intelligence ชี้ว่า เงินทุนได้ไหลเข้าสู่กองทุน ETF ทองคำในจีนเกือบทุกเดือนตั้งแต่เดือนมิถุนายน ซึ่งแตกต่างจากกองทุนทองคำทั่วโลกที่นักลงทุนต่างเทขายออก
โดยเงินทุนที่ไหลเข้ามามีจำนวนรวมทั้งสิ้น 1.3 พันล้านดอลลาร์ในปีนี้ ขณะที่กองทุนทองคำต่างประเทศมีการไหลออก 4 พันล้านดอลลาร์
ถือเป็นการสะท้อนว่า “ข้อจำกัดในการลงทุนของจีน” ที่ทำให้นักลงทุนจีนมีตัวเลือกในการลงทุนน้อยกว่า นอกเหนือจากอสังหาริมและหุ้นในประเทศ
เรเบคกา ซิน นักวิเคราะห์จาก BI กล่าวในบันทึกว่า ความต้องการทองคำของจีนอาจยังคงเพิ่มขึ้นต่อไป เนื่องจากนักลงทุนมองหาการกระจายการลงทุนของตนเองด้วยสินค้าโภคภัณฑ์
อ้างอิง bloomberg