‘สหรัฐ’ อาจไม่คว่ำบาตร ‘อิหร่าน’ หนัก เพราะกังวลราคาน้ำมันในประเทศพุ่ง
นักวิเคราะห์น้ำมันมอง "สหรัฐ" คงไม่คว่ำบาตร "อิหร่าน" อย่างหนัก โดยอาจเปิดช่องให้น้ำมันอิหร่านไหลออกสู่ตลาดโลกได้ เพราะไม่ต้องการเห็นอุปทานพลังงานตึงตัวจนกระทบต่อเงินเฟ้อในประเทศ
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ท่ามกลางฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐกำลังกดดันประธานาธิบดีโจ ไบเดน ให้เพิ่มความเข้มงวดในการคว่ำบาตรน้ำมันดิบอิหร่าน ซึ่งมีแนวโน้มจะกลายเป็นกฎหมายภายในสัปดาห์นี้แต่ ประธานาธิบดีสหรัฐ อาจยังไม่ใช่อำนาจเต็มที่ตามแรงกดดันในเร็วๆ นี้
เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เหล่าสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐ ได้อนุมัติมาตรการตอบโต้ต่อการโจมตีของอิหร่านต่ออิสราเอล ซึ่งพวกเขาสัญญาว่าจะขยายขอบเขตการจำกัดส่งออกน้ำมันดิบอิหร่าน โดยครอบคลุมไปถึงท่าเรือต่างประเทศ เรือ และโรงกลั่นที่เกี่ยวกับการค้านี้
นักวิเคราะห์ตลาดน้ำมันมองว่า โจ ไบเดนคงไม่ต้องการทำอะไรที่อาจทำให้ ราคาน้ำมันดิบ หรือ น้ำมันเบนซิน ที่ประชาชนใช้ทุกวันนี้มีราคาสูงขึ้น ผู้นำสหรัฐมีแนวโน้มที่จะใช้ประโยชน์จากช่องโหว่ของมาตรการคว่ำบาตรที่มีอยู่ และหลีกเลี่ยงการบังคับใช้อย่างเข้มงวด
เหตุผลเพราะเมื่อย้อนไปในช่วงรัสเซียบุกยูเครน แม้ว่าสหรัฐจะคว่ำบาตรรัสเซีย เพื่อจำกัดรายได้ในการใช้ทำสงคราม แต่ขณะเดียวกันก็อนุญาตให้รัสเซียส่งออกน้ำมันต่อไป เพื่อไม่ให้ "ปริมาณน้ำมันดิบทั่วโลก" ตึงตัวและส่งผลต่อภาวะเงินเฟ้อ ซึ่งสำคัญต่อปีเลือกตั้งประธานาธิบดี
จิม ลูเชียร์ กรรมการผู้จัดการที่ Capital Alpha Partners ซึ่งเป็นกลุ่มวิจัยที่ตั้งอยู่ในวอชิงตัน สหรัฐ กล่าวว่า เหล่านักเทรดน้ำมันคงไม่ได้วิตกเรื่องคว่ำบาตรอิหร่าน เพราะรู้ว่าอย่างไรเสีย ไบเดนคงเซ็นข้อยกเว้นบางอย่างที่ให้น้ำมันอิหร่านสามารถออกไปสู่ตลาด เฉกเช่นเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นกับน้ำมันรัสเซีย
อย่างไรก็ตาม ในขณะนี้ ตลาดน้ำมันกำลังอ่อนไหวเป็นพิเศษต่อความเสี่ยงที่จะเผชิญข้อจำกัดเพิ่มเติม โดยราคาน้ำมันเบรนต์ พุ่งทะลุ 92 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลไปแล้วในช่วงต้นเดือนเมษายน ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบเกือบ 6 เดือน เนื่องจากความต้องการซื้อที่แข็งแกร่งทั่วโลกและการลดกำลังการผลิตอย่างต่อเนื่องของกลุ่มโอเปค และประเทศพันธมิตร
ClearView Energy Partners ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาที่ตั้งอยู่ในวอชิงตัน ให้ความเห็นว่า
"ถ้าหากบทลงโทษอิหร่านชุดใหม่มีการนำไปปฏิบัติและบังคับใช้ อาจทำให้ราคาน้ำมันทั่วโลกเพิ่มสูงขึ้น 8.40 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล"
นี่อาจข่าวร้ายสำหรับไบเดน ที่ได้ดึงน้ำมันจากคลังสำรองเชิงยุทธศาสตร์ของชาติออกมาใช้แล้ว หลังจากที่ราคาน้ำมันภายในประเทศพุ่งสูงขึ้นในปี 2565 แม้ราคาน้ำมันเบนซินในตอนนี้ จะยังคงห่างไกลจากระดับที่เคยเห็นในครั้งนั้น แต่ก็เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ในปีนี้ ซึ่งฤดูกาลที่มีการขับขี่อย่างคึกคักที่สุดยังมาไม่ถึง
สำหรับบทลงโทษอิหร่านล่าสุด เป็นส่วนหนึ่งของแพ็คเกจเงินช่วยเหลือต่างประเทศที่มีกำหนดให้วุฒิสภาลงมติในสัปดาห์นี้ โดยประกอบด้วยบทบัญญัติที่จะตัดโอกาสจีนในการใช้น้ำมันอิหร่าน อีกทั้งรายงานโดยคณะกรรมการบริการทางการเงินของสภาผู้แทนราษฎรระบุว่า
ประมาณ 80% ของน้ำมันดิบที่อิหร่านส่งออกประมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวันนั้น ถูกส่งไปยังโรงกลั่นขนาดเล็กในจีน
ไม่เพียงเท่านั้น ฝ่ายนิติบัญญัติสหรัฐยังขยายขอบเขตนิยาม “ธุรกรรมทางการเงินที่สำคัญ” ภายใต้การคว่ำบาตรของสหรัฐที่มีอยู่เดิม ให้รวมไปถึงธุรกรรมซื้อขายน้ำมันทุกขนาดที่เกิดขึ้นระหว่างสถาบันการเงิน "จีน" กับ "อิหร่าน" ด้วย
อ้างอิง: bloomberg