‘ยูเครน’ เริ่มใช้ ‘ขีปนาวุธทรงพลัง’ จากสหรัฐ โจมตีรัสเซีย | World In Brief
เจ้าหน้าที่สหรัฐ ยืนยัน ยูเครนเริ่มใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลที่สหรัฐส่งให้แบบลับ ๆ โจมตีเป้าหมายรัสเซีย ด้านภาคธุรกิจอย่างเมตา หุ้นร่วงแรง หลังนักลงทุนไม่อิน "AI-Metaverse" ขณะที่ประชาชนในจ.เกียวโต ใช้ขนส่งลำบาก เพราะนักท่องเที่ยวล้น
‘ยูเครน’ เคยใช้ ‘ขีปนาวุธพิสัยไกล’ จากสหรัฐ โจมตีรัสเซีย
เจ้าหน้าที่สหรัฐยืนยัน ยูเครนได้เริ่มใช้ขีปนาวุธพิสัยไกลที่สหรัฐจัดหาให้อย่างลับ ๆ โดยอาวุธดังกล่าวเป็นส่วนหนึ่งของงบประมาณช่วยเหลือ 300 ล้านดอลลาร์ ที่ประธานาธิบดีโจ ไบเดน อนุมัติในเดือน มี.ค. และส่งถึงยูเครนในเดือนนี้
สื่อสหรัฐรายงานว่า ยูเครนเคยใช้อาวุธดังกล่าวโจมตีเป้าหมายรัสเซียในไครเมียอย่างน้อยหนึ่งครั้ง
ก่อนหน้านี้ สหรัฐส่ง "ระบบขีปนาวุธทางยุทธวิธีของกองทัพบก" (Army Tactical Missile System missile) ที่มีพิสัยระยะกลางให้ยูเครน และไม่เต็มใจส่งอาวุธใด ๆ ที่ทรงพลังกว่านี้แล้ว เนื่องจากมีความกังวลเกี่ยวกับการบั่นทอนความพร้อมทางทหารของสหรัฐ
‘เมตา’ สูญมูลค่าตลาด 2 แสนล้านดอลล์ เพราะ 'AI-Metaverse'
ซีเอ็นบีซี รายงานว่า หุ้นเมตาร่วงแรง 19% ในช่วงการซื้อขายหลังปิดตลาดเมื่อวันพุธ (24 เม.ย.) ทำให้มูลค่าตลาดหายไป 200,000 ล้านดอลลาร์ หลังนักลงทุนไม่อินกับสิ่งที่เมตานำเสนอในการประกาศผลประกอบการไตรมาส 1 ปี 2567
"มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก" ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) เมตา เริ่มต้นรายงานผลประกอบการด้วยการพูดถึงปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ตามมาด้วย เมตาเวิร์ส, ชุดหูฟัง, แว่นตา และระบบปฏิบัติการของเมตา ซึ่งล้วนเป็นภาคธุรกิจที่ผลาญเงินบริษัท
ขณะที่เรียลลิตี้ แล็บส์ (Reality Labs) กลุ่มธุรกิจซอฟต์แวร์และฮาร์ดแวร์ที่พัฒนาเมตาเวิร์ส ยังคงเป็นตัวผลาญเงินบริษัท โดยไตรมาส 1 มียอดขายเพียง 440 ล้านดอลลาร์ และขาดทุน 3,850 ล้านดอลลาร
นักท่องเที่ยวล้น 'เกียวโต' แย่งใช้ระบบขนส่งท้องถิ่น
ประชาชนในจ.เกียวโตของญี่ปุ่น ประสบปัญหาในการใช้รถโดยสารสาธารณะ ถึงขั้นต้องรอรถบัสผ่านไป 3-4 คัน จึงจะใช้บริการได้ เนื่องจากนักท่องเที่ยวล้น รถโดยสารจึงเต็มไปด้วยสัมภาระขนาดใหญ่
ปัญหาดังกล่าวยิ่งย่ำแย่ลงเมื่อจำนวนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้เกิดความแออัดมากขึ้นในโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของจังหวัด โดยเกียวโตมีประชากรประมาณ 2.5 ล้านคน แต่มีนักท่องเที่ยวเข้ามาพักสูงถึง 32 ล้านคนในปี 2566
โคจิ มัตสึอิ อดีตรองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี บอกว่า โครงสร้างของสถานที่ท่องเที่ยวและพื้นที่การใช้ชีวิตของคนในท้องถิ่นในเกียวโต มีความทับซ้อนกันมาก