ราคาไข่ไก่ทั่วโลกพุ่งขึ้นรอบใหม่ รับไข้หวัดนกกลับมาระบาดอีกครั้ง
ราคาไข่ไก่ในหลายประเทศพุ่งทะยานอีกครั้ง หลังพบไข้หวัดนกกลับมาระบาดในสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ ฉุดผลผลิตลดลงฮวบฮาบ
สำนักข่าวซีเอ็นบีซีรายงานว่า แม้การแพร่ระบาดของโรคไข้หวัดนกจะลดน้อยลงเกือบตลอดปี 2566 แต่การกลับมาระบาดอีกครั้งในโรงงานสัตว์ปีกทั่วสหรัฐ ญี่ปุ่น และประเทศอื่นๆ เมื่อไม่นานมานี้ ได้ส่งผลให้ราคาไข่พุ่งทะยานขึ้นอีกครั้ง
เดวิด แอนเดอร์สัน ศาสตราจารย์และนักเศรษฐศาสตร์ด้านอาหารประจำภาควิชาเศรษฐศาสตร์การเกษตรแห่งมหาวิทยาลัยเท็กซัส เอแอนด์เอ็ม กล่าวว่า สาเหตุที่ทำให้ราคาไข่พุ่งขึ้นอย่างมากนั้น เป็นเพราะโรคไข้หวัดนกชนิดก่อโรครุนแรง (HPAI) ที่เกิดขึ้นในฟาร์มไข่และส่งผลให้ไก่ล้มตาย อีกทั้งยังทำให้การผลิตไข่ลดน้อยลงด้วย
ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรสหรัฐระบุว่า มีไก่ไข่ในสหรัฐกว่า 14 ล้านตัวล้มตายลงในช่วงเดือนพ.ย.-ธ.ค. 2566 เนื่องจากติดเชื้อไข้หวัดนก และในช่วง 30 วันที่แล้ว มีไก่กว่า 8 ล้านตัวในฟาร์มเลี้ยงของสหรัฐยังคงติดเชื้อไข้หวัดนก
ในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทแคล-เมน ฟู้ดส์ ซึ่งเป็นผู้ผลิตไข่ไก่รายใหญ่ที่สุดของสหรัฐ ได้ระงับการผลิตชั่วครา และกำจัดไก่มากกว่า 1 ล้านตัวที่โรงงานแห่งหนึ่งหลังจากโรคไข้หวัดนกแพร่ระบาด
แนน-เดิร์ก มัลเดอร์ นักวิเคราะห์อาวุโสจากธนาคารโรโบแบงก์ซึ่งเป็นธนาคารเพื่อการเกษตร เปิดเผยว่าหลายประเทศและภูมิภาคทั่วโลก เช่น สหรัฐ สหภาพยุโรป รัสเซีย แอฟริกาใต้ อินเดีย และไนจีเรีย ต่างก็เผชิญกับราคาไข่ที่พุ่งสูงเป็นประวัติการณ์
ในสหรัฐนั้น ราคาไข่เกรด A ซึ่งเป็นไข่ขนาดใหญ่มีราคาสูงถึงโหลละ 2.41 ดอลลาร์แล้วในขณะนี้ ซึ่งพุ่งขึ้น 10% นับตั้งแต่ต้นปี ส่วนในประเทศญี่ปุ่นนั้น พบการติดเชื้อไข้หวัดนกในฟาร์มสัตว์ปีกในหลายจังหวัด โดยมีไก่จำนวนหลายแสนตัวติดเชื้อดังกล่าว
ทั้งนี้ ญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีอัตราการบริโภคไข่ต่อประชากรหนึ่งคนมากเป็นอันดับ 2 ของโลก และไข่ถือเป็นส่วนประกอบสำคัญในการปรุงอาหารญี่ปุ่น โดยราคาไข่ขนาดกลางในญี่ปุ่นพุ่งขึ้น 20% จากระดับ 179 เยน (1.16 ดอลลาร์)/กิโลกรัมในช่วงต้นปีนี้ สู่ระดับราว 218 เยน/กิโลกรัมเมื่อวันที่ 17 เม.ย.
เมื่อไม่นานมานี้ สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐ (FDA) ยังเปิดเผยว่า พบอนุภาคของไวรัสไข้หวัดนก H5N1 ในนมที่ซื้อมาจากร้านขายของชำ แต่เชื่อว่านมดังกล่าวยังคงปลอดภัยต่อการบริโภค
อนุภาคดังกล่าวน่าจะเป็นเศษของไวรัสที่ถูกฆ่าจากกระบวนการพาสเจอร์ไรส์ ซึ่งถูกตรวจพบผ่านการทดสอบในห้องปฏิบัติการที่มีความไวสูง ซึ่งทาง FDA เชื่อว่าอนุภาคเหล่านี้ไม่น่าจะแพร่เชื้อสู่คนได้ แต่ขณะนี้กำลังทำการทดสอบเพิ่มเติมเพื่อความมั่นใจ โดยใช้วิธีการทดสอบด้วยการแยกเชื้อโดยฉีดเข้าไข่ฟัก ซึ่งถือว่ามีความน่าเชื่อถือสูง เพื่อตรวจสอบว่าไวรัสยังอยู่รอดได้และแพร่เชื้อได้หรือไม่