แบบนี้ก็มีด้วย? 'แคชเชียร์เสมือน' คิดเงินผ่านซูม ค่าจ้างถูก เป็นมิตรกว่าแคชเชียร์ตัวเป็น ๆ
“แคชเชียร์เสมือน” ทำงานผ่านซูมในร้านอาหารฟาสต์ฟู้ดในนิวยอร์กซิตี้ กลายเป็นกระแสร้อนแรงใน X ชาวเน็ตถกเทคฯล้ำเข้าสู่ทุกอุตสาหกรรมแล้ว บางส่วนกังวล "กดขี่แรงงานต่างชาติหรือไม่" เพราะได้ค่าจ้างต่ำกว่าพนักงานทั่วไป
“เบรตต์ โกลด์สทีน” ผู้ก่อตั้งบริษัทสตาร์ตอัปเทคโนโลยีแห่งหนึ่ง โพสต์ในแพลตฟอร์มเอ็กซ์เมื่อสัปดาห์ก่อน หลังจากได้เห็นหญิงชาวฟิลิปปินส์ทำงานเป็นแคชเชียร์จากระยะไกล ผ่านหน้าจอที่ใช้แอปพลิเคชันซูม ในร้านอาหารไก่ทอดญี่ปุ่น Sansan Chicken ในเขตอีสต์วิลเลจ นิวยอร์กซิตี้
โกลด์สทีน ระบุในโพสต์
“นี่มันบ้ามาก แคชเชียร์ซูมจากฟิลิปปินส์มายังนิวยอร์กซิตี้”
และว่าการทำงานดังกล่าวเป็น “บริการที่เป็นมิตรมากกว่าแคชเชียร์ที่เห็นตัวเป็น ๆ ในนิวยอร์กเสียอีก”
ในการซื้อของและชำระเงิน โกลด์สทีนสั่งข้าวแกงกะหรี่ไก่ทอดราคา 20 ดอลลาร์ ผ่านตู้บริการตนเอง โดยมีแคชเชียร์ซูมรออยู่ในจอ แคชเชียร์คนนี้สามารถควบคุมระบบ ณ จุดขายจากระยะไกลได้ และร้านก็มีช่องทางให้ทิปพนักงานด้วย
โพสต์รีวิวแคชเชียร์ทางไกลของโกลด์สทีน มียอดรับชมมากกว่า 18 ล้านครั้ง และเผยให้เห็นถึงความหลากหลายของการใช้เทคโนโลยีเอาท์ซอร์สที่เข้ามาดิสรัปต์ในหลายอุตสาหกรรม รวมถึงอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม
คอมเมนต์หนึ่ง ระบุว่า
“ฉลาดมากที่ร้านจ้างแคชเชียร์เสมือน 5 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (185 บาทต่อชั่วโมง) ขณะที่ค่าจ้างคนในท้องถิ่นอยู่ที่ 20 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (740 บาทต่อชั่วโมง) และแรงงานเสมือนคนนี้ก็รู้สึกสบายใจกับงานมากกว่า ทั้งยังปฏิบัติต่อลูกค้าอย่างให้เกียรติมากกว่าด้วย”
บริษัทให้บริการแคชเชียร์เสมือนนี้ คือบริษัท Happy Cashier แม้ไม่มีเว็บไซต์อย่างเป็นทางการ และมีข้อมูลในโลกออนไลน์น้อยมาก แต่ “ชี จาง” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและผู้ก่อตั้ง เผยกับนิตยสารฟอร์จูนเมื่อต้นเดือนว่า บริษัทมีเป้าหมายส่งเสริมศักยภาพธุรกิจขนาดเล็ก ด้วยการจัดหาบริการแคชเชียร์เสมือนแบบพิเศษ และให้ความช่วยเหลือในการปฏิบัติงานในด้านต่าง ๆ
จาง เผยด้วยว่า บริการของบริษัทได้รับการทดสอบในร้านอาหารเพียงไม่กี่แห่งในมหานครนิวยอร์ก
ด้านสำนักข่าวเซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ พบโฆษณาประกาศรับสมัครงาน “แฮปปี้ แคชเชียร์ส” ในเว็บไซต์หางาน Glassdoor ในหมวดฟิลิปปินส์ และเว็บไซต์ Indeed เมื่อวันที่ 8 เม.ย.
การรับสมัครงานดังกล่าว ระบุว่า แคชเชียร์มีการทำงานกะกลางคืนเป็นเวลา 20-40 ชั่วโมง ตั้งแต่วันจันทร์-ศุกร์ รวมถึงวันหยุดสุดสัปดาห์ด้วย และมีรายได้อยู่ที่ 112 เปโซฟิลิปปินส์ต่อชั่วโมง (ราว 71 บาทต่อชั่วโมง) อาจมีรายได้เพิ่มเติมจากทิป และโบนัสตามผลงาน
หากเปรียบเทียบกับอาชีพที่ได้รับทิปในนิวยอร์กซิตี้นั้น มีค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ที่ 10.6 ดอลลาร์ต่อชั่วโมง (ราว 392 บาท) เช่น อาชีพพนักงานเสิร์ฟ
ทั้งนี้ นิวยอร์กซิตี้ไม่ใช่เมืองแรกที่มีแคชเชียร์เสมือน เพราะสตาร์ตอัปแห่งหนึ่งในแคนาดาเคยให้บริการแคชเชียร์เสมือนตามร้านอาหารต่าง ๆ ในโทรอนโท แต่หยุดให้บริการแล้วเมื่อเดือน ส.ค. ปีก่อน โดยพนักงานแคชเชียร์เสมือนทั้งสัญชาติปากีสถาน โบลิเวีย และนิการากัว มีค่าจ้างอยู่ที่ 3.75 ดอลลาร์แคนาดาต่อชั่วโมง (ราว 101 บาทต่อชั่วโมง)
ความก้าวหน้าของเทคฯ หรือกดขี่ค่าจ้างแรงงาน
ตามข้อมูลของสมาคมไอทีและกระบวนการธุรกิจแห่งฟิลิปปินส์ (IBPAP) ระบุว่า อุตสาหกรรมเอาท์ซอร์ส เป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ในประเทศ โดยมีพนักงานในอุตสาหกรรมจ้างทำกระบวนการธุรกิจ (BPO) ราว 1.5 ล้านคน
ดร.เวอร์เจล บิงเฮย์ ศาสตราจารย์จากภาควิชาแรงงานและอุตสาหกรรมสัมพันธ์แห่งมหาวิทยาลัยฟิลิปปินส์ บอกว่า ตำแหน่งงานเอาท์ซอร์สที่ใช้ประโยชน์จากระบบอัตโนมัติเพื่อทำงานทางไกล อาจเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากได้แรงขับเคลื่อนจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ข้อเสนอจูงใจทางเศรษฐกิจ และการพัฒนามาตรฐานในที่ทำงาน
อย่างไรก็ตาม การจ้างงานเอาท์ซอร์ส หรือจ้างงานจากภายนอกเป็นการแสวงหาประโยชน์แรงงาน เนื่องจากให้ค่าจ้างในอัตราที่ต่ำ
ผู้ใช้งานเอ็กซ์รายหนึ่ง ตอบกลับโพสต์ของโกลด์สทีนว่า ธุรกิจไม่อยากจ่ายค่าจ้างปกติที่พอเลี้ยงชีพให้ชาวอเมริกัน และไม่อยากจ่ายค่าจ้างให้แรงงานย้ายถิ่นฐานด้วย จึงเลือกใช้ประโยชน์จากชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพราะสามารถจ่ายค่าจ้างที่น้อยกว่าได้ แถมยังให้ออกเมื่อใดก็ได้
เซาท์ ไชนา มอร์นิง โพสต์ ระบุว่า เงินเดือนของบริษัท Happy Cashier ที่ให้ 17,920 เปโซฟิลิปปินส์ต่อเดือน ต่ำกว่าค่าจ้างแคชเชียร์ทั่วไปในฟิลิปปินส์เล็กน้อย แต่งานในบริษัทดังกล่าวมีสัญญาแค่ 1 ปี และไม่มีสวัสดิการที่แรงงานควรจะได้รับ เช่น ประกันสุขภาพ แม้จะมีโบนัสและทิปก็ตาม
อย่างไรก็ตาม แม้ได้ค่าจ้างต่ำกว่า แต่แรงงานบางคนยังคงตัดสินใจทำงานแบบนี้เพราะมองว่าได้ทำงานจากที่บ้าน ลดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง ทั้งยังเพิ่มสมดุลระหว่างการทำงานและการใช้ชีวิต
นอกจากนี้ ชาวฟิลิปปินส์มองว่าการทำงานในตลาด BPO ถือเป็นโอกาสได้ทำงานกับต่างชาติ เพิ่มทักษะและความก้าวหน้าในอาชีพได้
ด้านบิงเฮย์เตือนว่า การเพิ่มขึ้นของอาชีพเอาท์ซอร์สอาจก่อให้เกิดความท้าทายในด้านความปลอดภัยของข้อมูล การโยกย้ายงาน และความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจที่มากขึ้น
แต่ในแง่ดี อาจกระตุ้นให้เกิดมาตรการกำกับดูแลแรงงานใหม่ คุ้มครองแรงงานและการปฏิบัติต่อแรงงานที่จ้างงานข้ามพรมแดนอย่างเป็นธรรม ทั้งยังบ่งชี้ว่า ในอนาคตแรงงานทั่วโลกอาจเชื่อมโยงถึงกันได้มากขึ้นด้วย
อ้างอิง: South China Morning Post