‘ฟิลิปส์’ ยอมจ่าย 1,100 ล้านดอลล์ จบคดีเครื่องช่วยหายใจเสี่ยงก่อสารพิษ
ฟิลิปส์ยอมจ่าย 1,100 ล้านดอลลาร์ จบคดีเครื่องช่วยหายใจที่เรียกคืนในสหรัฐ เนื่องจากมีความกังวลว่า โฟมที่ใช้ในเครื่องอาจเสื่อมสภาพกลายเป็นสารพิษ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการก่อโรคมะเร็ง
บริษัทฟิลิปส์ (Philips) ผลิตอุปกรณ์การแพทย์ ประกาศตกลงจ่ายเงิน 1,100 ล้านดอลลาร์ ยุติการเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนการบาดเจ็บต่อบุคคล จากกรณีเครื่องช่วยหายใจของฟิลิปส์ที่ถูกเรียกคืนในสหรัฐ ถือเป็นการยุติปัญหาค้างคาที่ทำให้มูลค่าตลาดของบริษัทลดลงตลอด 3 ปีที่ผ่านมา
นักวิเคราะห์จากบาร์เคลย์กล่าวว่า “ข้อตกลงครั้งนี้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้มาก ซึ่งเดิมทีคาดว่าจะอยู่ที่ 2,000 - 4,000 ล้านดอลลาร์ และในกรณีที่เลวร้ายที่สุดคือ 10,000 ล้านดอลลาร์ และยังยุติเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งช่วยขจัดปัญหาคาราคาซังที่หลายคนกังวลว่าจะยืดเยื้อไปหลายปี”
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า หลังมีข่าวดังกล่าว หุ้นของฟิลิปส์พุ่งขึ้น 35% แตะ 26.60 ยูโร ณ เวลา 15:10 น. ตามเวลาไทย ซึ่งเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่เดือนเม.ย. 2565 แม้ยังคงมีมูลค่าเพียงครึ่งเดียวของราคาหุ้นในช่วงก่อนการเรียกคืนเครื่องช่วยหายใจเมื่อเดือนมิ.ย. 2564 ก็ตาม
ทั้งนี้ ฟิลิปส์ต้องเผชิญกับผลกระทบจากการเรียกคืนอุปกรณ์ช่วยหายใจและเครื่องช่วยหายใจหลายล้านเครื่องมาเป็นเวลานาน 3 ปี ซึ่งความกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายในการฟ้องร้อง ทำให้มูลค่าตลาดของหุ้นฟิลิปส์ร่วงลงประมาณ 2 ใน 3
เครื่องช่วยหายใจดังกล่าวถูกเรียกคืนเนื่องจากมีความกังวลว่า โฟมที่ใช้ในเครื่องอาจเสื่อมสภาพกลายเป็นสารพิษ ซึ่งอาจมีความเสี่ยงต่อการก่อโรคมะเร็ง
อย่างไรก็ตาม ฟิลิปส์ไม่ได้ยอมรับความผิดหรือความรับผิดชอบใด ๆ หรือยอมรับว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บจากเครื่องของบริษัท
รอย จาคอบส์ ซีอีโอของฟิลิปส์ กล่าวกับผู้สื่อข่าวว่า
“ไม่ว่าจะมองอย่างไร เงิน 1,100 ล้านดอลลาร์ก็เป็นเงินจำนวนมาก เรื่องนี้มีความสำคัญในการยุติความไม่แน่นอน และสร้างความชัดเจนต่อเส้นทางของเรานับจากนี้”
แม้ฟิลิปส์ยังคงเผชิญกับคดีความในยุโรปเกี่ยวกับเครื่องช่วยหายใจ จาคอบส์ย้ำว่า “เมื่อพิจารณาจากจำนวนคดีในสหรัฐที่เราได้ยุติไปแล้ว ไม่ว่าจะเป็นความสูญเสียเชิงเศรษฐกิจ การตรวจสอบทางการแพทย์ และการบาดเจ็บต่อบุคคล การเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนส่วนใหญ่จริง ๆ เป็นที่ยุติเรียบร้อยแล้ว” นายจาคอบส์กล่าว