ย้อนไทม์ไลน์ ‘ค่าเงินเยน’ ญี่ปุ่น เปิดประวัติการแทรกแซงสกุลเงินในรอบ 51 ปี
เปิดไทม์ไลน์! ค่าเงินเยน ญี่ปุ่น ถูก แทรกแซงสกุลเงิน ครั้งใหญ่ๆกว่า 13 ครั้งในเวลา 51 ปีที่ผ่านมา หลังค่าเงินเย็นทรุดตัวอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี ที่ 160.245 เยนต่อดอลลาร์ และพุ่งขึ้นแข็งค่าเป็น 155.2 เยนต่อดอลลาร์ ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง หรือ BOJ กำลังเข้าแทรกแซง?
สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า “ค่าเงินเยน” ของ ญี่ปุ่น แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วในวันที่ 29 เมษายน ซึ่งการเคลื่อนไหวนี้นักวิเคราะห์ในตลาดมองว่าเป็นสัญญาณการ แทรกแซงสกุลเงิน จากทางการญี่ปุ่น เพื่อช่วยพยุงค่าเงินเยนที่กำลังอ่อนค่าลง
หลังจากที่เงินเยนอ่อนค่าแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี ที่ 160.245 เยนต่อดอลลาร์ในช่วงเช้าของตลาดเอเชีย จากนั้นเงินเยนกลับแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว จากประมาณ 159.5 เยนต่อดอลลาร์เป็น 155.2 เยนต่อดอลลาร์ ภายในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง ทั้งนี้สาเหตุของการแข็งค่าของเงินเยนยังไม่ชัดเจน แต่บางส่วนมองว่าเป็นการที่ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ขายดอลลาร์และเข้าซื้อเยน
ก่อนหน้านี้ ทางการญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินตราครั้งใหญ่ในเดือนต.ค. 2565 โดยใช้วงเงินสูงเป็นประวัติการณ์ถึง 6.35 ล้านล้านเยนหรือราว 1.6 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงค่าเงินเยนที่ทรุดตัวลงแตะระดับ 151.94 เทียบดอลลาร์ ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 32 ปี
โดยในประวัติศาสตร์ของตลาดปริวรรตเงินตราญี่ปุ่นรัฐบาลมีการเข้าแทรกแซงครั้งใหญ่ๆ กว่า 13 ครั้งนับตั้งแต่ปี 2516 เมื่อทางการเงินของญี่ปุ่นตัดสินใจเปลี่ยนมาใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบลอยตัวอย่างอิสระเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินเยนเริ่มมีค่าผันผวนตามกลไกตลาด
ย้อนรอยการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศของธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) ตั้งแต่จุดเริ่มต้น
- 2528 พลาซ่า แอคคอร์ด จุดเริ่มต้นของวิกฤตเศรษฐกิจญี่ปุ่น
พลาซ่า แอคคอร์ด คือ ข้อตกลงระหว่าง 5 ประเทศอุตสาหกรรมหลัก (G5) ได้แก่ ฝรั่งเศส เยอรมนี ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา ที่ลงนามกันเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2528 ณ โรงแรมพลาซ่า นครนิวยอร์ก
โดยของข้อตกลงนี้ มุ่งแก้ไขปัญหาค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงอย่างมากเมื่อเทียบกับสกุลเงินเยนของญี่ปุ่น ส่งผลให้สินค้าส่งออกของญี่ปุ่นมีราคาแพงขึ้น กระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศสมาชิก G5 อื่นๆ
และแล้วพลาซ่าแอคคอร์ดส่งผลให้ค่าเงินเยนของญี่ปุ่นแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่นตามมา
- 2530 ประเทศสมาชิกกลุ่ม G7 จำนวน 6 ประเทศ ลงนามในความตกลงลูฟร์ (Louvre Accord) มีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับสกุลเงินต่างๆ และหยุดยั้งการอ่อนค่าลงของดอลลาร์
- 2531 BOJ ซื้อดอลลาร์สหรัฐและขายเงินเยน
ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์ ร่วงลงแตะ 120.45 เยน ซึ่งถือเป็นระดับต่ำสุดหลังสงครามโลกครั้งที่สอง ธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อซื้อดอลลาร์และขายเงินเยน
- 2534 - 2535 BOJ เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อพยุงค่าเงินเยน โดยขายดอลลาร์
- 2536 ตลอดทั้งปี BOJ ขายเงินเยนเพื่อสกัดกั้นความแข็งค่า
- 2537 - 2538 BOJ ร่วมกับสหรัฐ และยุโรป แทรกแซงตลาดเพื่อหนุนดอลลาร์
ญี่ปุ่นร่วมกับสหรัฐและยุโรป แทรกแซงตลาดเพื่อหนุนดอลลาร์ หลังจากที่ค่าเงินดอลลาร์ อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดเป็นประวัติการณ์และอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดหลังสงครามโลกครั้งที่สองเทียบกับเงินเยน ทำให้สหรัฐเข้าแทรกแซงตลาดหลายครั้ง โดยมักร่วมมือกับธนาคารกลางญี่ปุ่นและยุโรป เพื่อหนุนดอลลาร์
- 2540 - 2541 BOJ ร่วมกับสหรัฐ ซื้อเงินเยน
วิกฤตการณ์ทางการเงินในเอเชีย ส่งผลให้เงินเยนอ่อนค่าลง แตะเกือบ 148 เยนต่อดอลลาร์ ในเดือนสิงหาคม 2541 ถึงแม้ว่าทางการสหรัฐจะร่วมมือกับ BOJ เข้าซื้อเยนก็ตาม
- 2542 - 2543 BOJ เทขายเงินเยน 18 ครั้ง
BOJ เทขายเงินเยนอย่างน้อย 18 ครั้ง รวมถึงการขายผ่านธนาคารกลางสหรัฐ(Fed) 1 ครั้ง และธนาคารกลางยุโรป (ECB) 1 ครั้ง เนื่องจากกังวลว่าความแข็งค่าของเงินเยนจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ แต่เงินเยนก็ยังคงแข็งค่าขึ้น
- 2544 ทาง ECB และ Fed แทรกแซงแทน BOJ
BOJ เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อขายเงินเยน หลังจากเหตุการณ์วินาศกรรม 11 กันยายนในสหรัฐอเมริกา ECB และเฟดสาขานิวยอร์กได้ดำเนินการแทรกแซงแทน BOJ
- 2545 ทาง BOJ ขายเงินเยน โดยมีสหรัฐและ ECB สนับสนุน
BOJ เข้าแทรกแซงตลาดเพื่อขายเงินเยน โดยมักได้รับการสนับสนุนจากเฟดและ ECB ถึงแม้ว่าเงินเยนจะยังคงแข็งค่าขึ้น
- 2547 ญี่ปุ่นยุติการแทรกแซงตลาดเพื่อสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินเยน หลังจากที่ใช้เงินไปแล้ว 35 ล้านล้านเยน หรือกว่า 3 แสนล้านดอลลาร์ในช่วง 15 เดือน
- กันยายน 2553 BOJ ขายเงินเยนในรอบ 6 ปี
ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเป็นครั้งแรกในรอบ 6 ปี โดยขายเงินเยน เพื่อสกัดกั้นการแข็งค่าของเงินเยนหลังจากดอลลาร์อ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 ปีที่ อยู่ที่ 82.87 เยนต่อดอลลาร์
- 2554 BOJ ร่วมกับ G7 แทรกแซงตลาดเพื่อหยุดยั้งความแข็งค่าของเงินเยน
กลุ่ม G7ร่วมมือกันแทรกแซงตลาดเพื่อหยุดยั้งความแข็งค่าของเงินเยน หลังจากเงินเยนพุ่งแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์หลังเหตุการณ์แผ่นดินไหว
- 2554 BOJ แทรกแซงตลาดเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินเยน
ญี่ปุ่นเข้าแทรกแซงตลาดเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินเยน ซึ่งเจ้าหน้าที่กังวลว่าจะส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจจากภาวะเศรษฐกิจตกต่ำที่เกิดจากเหตุการณ์แผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิขนาดใหญ่เมื่อวันที่ 11 มีนาคม 2554
- 10 มิถุนายน 2565 รัฐบาลญี่ปุ่นและ BOJ ออกแถลงการณ์ร่วมกันแสดงความกังวลเกี่ยวกับเงินเยนอ่อนค่า
รัฐบาลญี่ปุ่นและธนาคารกลางญี่ปุ่น ออกแถลงการณ์ร่วมกันเป็นกรณีพิเศษ โดยระบุว่าพวกเขาวิตกกังวลเกี่ยวกับการอ่อนค่าลงอย่างรวดเร็วของเงินเยนในช่วงที่ผ่านมา หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงทะลุ 134 เยนต่อดอลลาร์
- 7 กันยายน 2565 ฮิโรคาสึ มัตสึโนะ โฆษกรัฐบาลระดับสูงของญี่ปุ่น ได้แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเคลื่อนไหว ‘อย่างรวดเร็วในลักษณะด้านเดียว’ (One-Sided) หลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงหลุด 143 ต่อดอลลาร์สหรัฐ พร้อมทั้งกล่าวว่า รัฐบาลอาจต้องการใช้ ‘ขั้นตอนที่จำเป็น’ หากการอ่อนค่าดังกล่าวยังดำเนินต่อไป นับเป็นการแสดงความคิดเห็นอย่างชัดเจนที่สุดในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา
- 22 กันยายน 2565 กระทรวงการคลังของญี่ปุ่นแถลงว่าได้ทำการแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ โดยการซื้อเงินเยน จนส่งผลให้ค่าเงินเยนกลับมาแข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว หลังจากก่อนหน้านี้ในวันเดียวกัน เงินเยนของญี่ปุ่นได้อ่อนค่าลงต่อดอลลาร์สหรัฐมากที่สุดในรอบ 24 ปี โดยลงไปเกือบ 146 เยนต่อดอลลาร์สหรัฐ หลังจากที่เฟดประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยแรงอีก 0.75% ในวันก่อนหน้า
- ตุลาคม 2565 ครั้งล่าสุดที่ BOJ ใช้เงินกว่า 1.6 ล้านล้านบาท เพื่อพยุงค่าเงินเยน
ค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่าลงมากกว่า 7 เยน ภายในวันเดียวในวันที่ 21 ต.ค. ซึ่งแหล่งข่าวระบุว่าเป็นผลมาจากการที่ทางการเข้าซื้อเยน แต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังญี่ปุ่น ชุนอิชิ ซูซูกิ ปฏิเสธที่จะยืนยันว่ารัฐบาลได้เข้าแทรกแซงตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ
และล่าสุดในปี 2567 ทาง BOJ และ กระทรวงการคลัง และ FSA ประชุมกันเพื่อหารือเกี่ยวกับเงินเยนอ่อนค่า
เมื่อ 27 มีนาคม 2567 ธนาคารกลางญี่ปุ่น กระทรวงการคลัง และสำนักงานบริการทางการเงินของญี่ปุ่น ได้ประชุมกันหลังจากเงินเยนอ่อนค่าลงแตะระดับต่ำสุดในรอบ 34 ปี เทียบกับดอลลาร์และส่งสัญญาณว่าพวกเขาพร้อมที่จะเข้าแทรกแซง
อ้างอิง reuters