'ทุเรียนไทย' เสี่ยงหลุดแชมป์ หลายชาติมุ่งส่งออกทุเรียนตีตลาดจีน

'ทุเรียนไทย' เสี่ยงหลุดแชมป์ หลายชาติมุ่งส่งออกทุเรียนตีตลาดจีน

สื่อจีนเผย หลายชาติกำลังเร่งส่งออกทุเรียนตีตลาดจีน 'ทุเรียนไทย' เสี่ยงหลุดแชมป์ เหตุเพาะปลูกในครัวเรือน-หมู่บ้าน ขณะเพื่อนบ้านปลูกในระดับอุตสาหกรรมเน้นส่งออก เวียดนามตามติด ขณะที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซียตามมาห่างๆ

สำนักข่าวซินหัว (Xinhua) รายงานว่า ด่านโหย่วอี้กวนหรือด่านมิตรภาพบนพรมแดนจีน-เวียดนาม ณ เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วง ทางตอนใต้ของจีน ได้รับรองการนำเข้าทุเรียนสดในไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.) ของปีนี้รวม 48,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 1.85 พันล้านหยวน (ราว 9.25 พันล้านบาท)

ปริมาณการนำเข้าทุเรียนสดข้างต้นแบ่งเป็นนำเข้าจาก "เวียดนาม" 35,000 ตัน เพิ่มขึ้น 48.1% เมื่อเทียบปีต่อปี คิดเป็นมูลค่า 1.28 พันล้านหยวน (ราว 6.4 พันล้านบาท) และนำเข้าจาก "ไทย" 13,000 ตัน คิดเป็นมูลค่า 570 ล้านหยวน (ราว 2.85 พันล้านบาท) ซึ่งลดลง 63.5% เมื่อเทียบปีต่อปี

ทั้งนี้ ด่านโหย่วอี้กวนของกว่างซี จัดเป็นด่านบกขนาดใหญ่ที่สุดในการนำเข้าทุเรียนและเป็นจุดสังเกตกระแสการบริโภคทุเรียนของตลาดจีน โดยศุลกากรนครหนานหนิงระบุว่า มูลค่าการนำเข้าทุเรียนสดผ่านด่านแห่งนี้ในปี 2023 รวมอยู่ที่ 2.25 หมื่นล้านหยวน (ราว 1.12 แสนล้านบาท) เพิ่มขึ้น 353% เมื่อเทียบปีต่อปี

ด้านสำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่า จีนนำเข้าทุเรียนสดในปี 2566 ราว 1.42 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่า 6.71 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 2.47 แสนล้านบาท) โดยปริมาณทุเรียนที่นำเข้าผ่านด่านโหย่วอี้กวนคิดเป็นเกือบครึ่งหนึ่งของปริมาณทุเรียนนำเข้าทั้งหมดของจีน

\'ทุเรียนไทย\' เสี่ยงหลุดแชมป์ หลายชาติมุ่งส่งออกทุเรียนตีตลาดจีน

ทุเรียนไทยเสี่ยงตกแชมป์

บรรดาคนวงในอุตสาหกรรมมองว่า ปริมาณทุเรียนสดนำเข้าจาก "ไทย" ผ่านด่านโหย่วอี้กวนที่ลดลงในไตรมาสแรกปีนี้ ส่วนหนึ่งเป็นผลจากทุเรียนไทยเข้าสู่ตลาดจีนล่าช้ากว่าปกติ ประกอบกับสภาพภูมิอากาศในท้องถิ่นไทยส่งผลกระทบต่อผลผลิตทุเรียน

ทั้งนี้ ข้อมูลการบริโภคทุเรียนของตลาดจีนชี้ว่า สถานะ "ผู้นำ" ของทุเรียนไทยในตลาดจีนกำลังสั่นคลอน เนื่องด้วยผลกระทบจากการส่งออกทุเรียนสู่จีนของแหล่งผลิตทุเรียนที่พัฒนามาทีหลังอย่าง "เวียดนามและฟิลิปปินส์" ทำให้ทุเรียนไทยในตลาดจีนต้องเผชิญกับการแข่งขันอันดุเดือดยิ่งขึ้น

ช่ายเจิ้นอวี่ ผู้จัดการของบริษัท กว่างซี โอวเหิง อินเตอร์เนชันแนล โลจิสติกส์ จำกัด เผยว่าช่วงก่อนปี 2566 บริษัทนำเข้าทุเรียนจากประเทศไทยเท่านั้น แต่พอปี 2566 ทุเรียนที่นำเข้ามากกว่า 2,000 ตู้คอนเทนเนอร์ แบ่งเป็นทุเรียนไทยและทุเรียนเวียดนามอย่างละครึ่ง โดยบริษัทเลือกแหล่งผลิตตามความต้องการของผู้บริโภคทั่วประเทศจีน

ช่ายกล่าวว่า การปลูกทุเรียนในไทยมักปลูกโดยครัวเรือนทั่วไปหรือกลุ่มหมู่บ้าน แต่การปลูกทุเรียนของเวียดนามมุ่งเน้นการเพาะปลูกขนานใหญ่ รวมถึงใช้ข้อได้เปรียบจากระยะทางขนส่งสั้น ความเป็นอุตสาหกรรมระดับสูง และต้นทุนต่ำกว่า ทำให้ทุเรียนเวียดนามมีโอกาสรุกเข้าท้าชิงส่วนแบ่งตลาดจีน

อาเซียนและโครงสร้างตลาดทุเรียนจีน

คนวงในอุตสาหกรรมเผยว่าในช่วงไม่กี่ปีมานี้ หลายประเทศในอาเซียนได้รับอนุญาตส่งออกทุเรียนสดสู่จีน ทำให้ "โครงสร้างตลาดทุเรียนของจีน" เปลี่ยนแปลงไป

ก่อนหน้านี้ "ทุเรียนไทย" ครองส่วนแบ่งตลาดจีนมากที่สุดเสมอ จนกระทั่งเวียดนามสามารถส่งออกทุเรียนสดสู่จีนในเดือน ก.ย. 2565 ทำให้ทุเรียนไทยครองส่วนแบ่งตลาดจีนลดลง

สำนักงานศุลกากรทั่วไปของจีนระบุว่าปี 2565 จีนนำเข้าทุเรียน 825,000 ตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทยมากกว่า 780,000 ตัน หรือคิดเป็นเกือบ 95% ทว่าต่อมาในปี 2566 จีนนำเข้าทุเรียน 1.42 ล้านตัน ซึ่งเป็นทุเรียนไทย 929,000 ตัน และทุเรียนเวียดนาม 493,000 ตัน ทำให้ทุเรียนเวียดนามครองส่วนแบ่งตลาดจีนเพิ่มขึ้นกว่า 30% ภายในหนึ่งปี และยังคงมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น

ขณะเดียวกันแม้ปริมาณทุเรียนสดส่งออกจาก "ฟิลิปปินส์" สู่จีนจะไม่ได้สูงมากแต่ก็มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยศุลกากรนครหนานหนิงระบุว่า ปริมาณการขนส่งทุเรียนด่วนผ่านท่าอากาศยานนานาชาติหนานหนิง อู๋ซวี ในไตรมาสแรกของปีนี้ รวมอยู่ที่ 1,201 ตัน ซึ่งมาจากไทย ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม โดยการนำเข้าทุเรียนฟิลิปปินส์เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบปีต่อปี

\'ทุเรียนไทย\' เสี่ยงหลุดแชมป์ หลายชาติมุ่งส่งออกทุเรียนตีตลาดจีน

สวี่เฉียง รองผู้จัดการบริษัทที่ให้บริการขนส่งทุเรียนทางอากาศ เผยว่ามีการนำเข้าทุเรียนจากฟิลิปปินส์ทางอากาศทุกวัน คิดเฉลี่ยราว 4 ตันต่อเที่ยวบิน โดยต้นทุนการขนส่งไม่สูงเพราะเป็นเที่ยวบินขากลับ และการขนส่งทางอากาศช่วยการันตีรสชาติสดใหม่ด้วย

นอกจากเวียดนามและฟิลิปปินส์แล้ว ทุเรียน "มาเลเซีย" ก็กำลังบุกตลาดจีนเช่นกัน โดยมาเลเซียส่งออกผลิตภัณฑ์ทุเรียนแช่แข็งสู่จีนตั้งแต่ปี 2554 และส่งออกทุเรียนแช่แข็งทั้งลูกสู่จีนในปี 2562

ข้อมูลจากหอการค้าแห่งประเทศจีนเพื่อการนำเข้าและส่งออกอาหาร ผลผลิตพื้นเมือง ผลผลิตพลอยได้จากสัตว์ ระบุว่าปริมาณการส่งออกทุเรียนมาเลเซียแช่แข็งสู่จีนในปี 2566 อยู่ที่ 25,000 ตัน หรือมีปริมาณเพิ่มขึ้น 47% เมื่อเทียบปีก่อน และคิดเป็นมูลค่า 270 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 9.96 พันล้านบาท) หรือเพิ่มขึ้น 34%

ฟาทิล อิสมาอิล กงสุลใหญ่มาเลเซียประจำนครหนานหนิง กล่าวว่า จีนกลายเป็นตลาดแห่งสำคัญของทุเรียนมาเลเซียหลังจากพัฒนามานานหลายปี โดยปัจจุบันมาเลเซียและจีนกำลังทำงานร่วมกันเพื่อการส่งออกทุเรียนสดจากมาเลเซียสู่จีน

คนวงในอุตสาหกรรมกล่าวทิ้งท้ายกับซินหัวว่า ตลาดผู้บริโภคทุเรียนของจีนมีขนาดใหญ่และความต้องการทุเรียนไทยจะยังคงเพิ่มขึ้น แต่ทุเรียนไทยกำลังเผชิญการแข่งขันกับอีกหลายประเทศ ทำให้ไทยต้องเร่งรักษาข้อได้เปรียบทางการแข่งขัน โดยนอกจากควบคุมคุณภาพอย่างเข้มงวด ต้องเพิ่มประสิทธิภาพของระบบขนส่งและโลจิสติกส์ ทุกภาคส่วนต้องทำงานร่วมกันเพื่อลดผลกระทบต่อสถานะ "ผู้นำ" ในตลาดจีน