IMF ย้ำเหตุผลทำไม ‘ธนาคารกลาง' ต้องอิสระ - มีความเป็นกลาง’
นี่จะทำให้เข้าใจเพิ่มขึ้นว่า “อิสระ” เป็นอำนาจเหนือกว่า ช่วยเอาชนะการต่อสู้ “ภาวะเงินเฟ้อ“ และบรรลุเศรษฐกิจระยะยาวอย่างไร ท่ามกลางแทรกแซงทางการเมืองยังมีอยู่
"คริสตาลินา จอร์เจียวา" ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) ได้เขียนบทความเรื่อง "การเสริมสร้างความเป็นอิสระของธนาคารกลาง เพื่อปกป้องเศรษฐกิจโลก" ลงใน IMF Blog เมื่อวันที่ 21 มี.ค.ที่ผ่านมา โดยมองว่า ปัจจุบันธนาคารกลางในหลายประเทศเผชิญความท้าทายมากมายต่อ "การดำเนินงานที่เป็นอิสระ" โดยเฉพาะเสียงเรียกร้องให้ลดอัตราดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นก่อนเวลาอันควร
มีแนวโน้มว่าสถานการณ์เช่นนี้จะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ รวมไปถึง "ความเสี่ยงถูกแทรกแซงทางการเมือง" ที่มีผลต่อการตัดสินใจเชิงนโยบาย และการแต่งตั้งบุคคลในตำแหน่งสำคัญๆในธนาคารกลาง
นี่เป็นเหตุผลว่า ทำไมรัฐบาลและธนาคารกลาง ต้องร่วมต่อต้านแรงกดดันเหล่านี้
ก็เพราะเรื่องนี้มีความสำคัญ หากพิจารณาในสิ่งที่ธนาคารกลางที่มีความเป็นอิสระได้ดำเนินการประสบความสำคัญในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เช่น ธนาคารกลางได้ออกมาตรการผ่อนคลายทางการเงินเชิงรุก เพื่อช่วยป้องกันผลกระทบทางการเงินที่ส่งทอดต่อไปทั่วโลก และเร่งฟื้นตัวทางการเงินที่รวดเร็ว
ขณะที่การมุ่งเน้นการฟื้นฟูเสถียรภาพด้านราคา ธนาคารกลางได้ปรับนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นอย่างเหมาะสม แม้ในช่วงเวลาที่ต่างกัน ซึ่งการดำเนินนโยบายของธนาคารกลางที่ตอบสนองได้ช่วยรักษาความคาดหวังระดับเงินเฟ้อในประเทศ แม้ราคาจะเพิ่มขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบหลายทศวรรษก็ตาม
ความสำเร็จในการลดอัตราเงินเฟ้อเมื่อเร็วๆนี้ จะเห็นว่า ขัดแย้งต่อสิ่งที่เคยดำเนินงานในสถานการณ์เศรษฐกิจในช่วงทศวรรษปี 1970 ที่ได้เกิดภาวะเงินเฟ้อสูง
หากย้อนกลับไปตอนนั้น ธนาคารกลางไม่มีคำสั่งชัดเจน ในการจัดลำดับความสำคัญของเสถียรภาพด้านราคา หรือไม่มีกฎหมายที่ชัดเจน เพื่อปกป้องธนาคารให้ดำเนินงานที่เป็นอิสระ นั่นเป็นเหตุผลว่า ทำไมธนาคารกลางมักถูกกดดันจากนักการเมืองให้ลดอัตราดอกเบี้ยลง เมื่ออัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง
อย่าลืมว่า ทุกคนต่างบาดเจ็บจากภาวะเงินเฟ้อ และภาวะเศรษฐกิจที่ตกต่ำเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่ดำรงชีวิตด้วยรายได้คงที่ และเงินฝากก็ยังได้รับผลกระทบด้วย
แต่ความสำเร็จในการลดอัตราเงินเฟ้อเกิดขึ้นในช่วงกลางทศวรรษที่ 1980 เนื่องจาก "ธนาคารกลางได้รับการสนับสนุนทางการเมือง" เพื่อต่อสู้กับภาวะเงินเฟ้ออย่างจริงจัง
วัดความสำเร็จ ธนาคารกลางที่มีอิสระ
มีรายงานศึกษา รวมถึงผลสำรวจของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) แสดงให้เห็นถึงความสำคัญอย่างยิ่งที่ "ธนาคารกลางต้องมีความเป็นอิสระ"
รายงานของไอเอ็มเอฟฉบับหนึ่ง ได้ทำการศึกษาธนาคารกลางหลายสิบแห่งตั้งแต่ปี 2007 - 2021 แสดงให้เห็นว่า ธนาคารที่มีคะแนนความเป็นอิสระสูง มักประสบความสำเร็จมากกว่าการควบคุมการคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อของประชาชน ซึ่งช่วยให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำ
"ความเป็นอิสระถือมีความสำคัญอย่างยิ่ง และเป็นเครื่องมือที่เหนือกว่า ซึ่งประเทศที่ประสบความสำเร็จให้คุณค่าในเรื่องนี้"
รายงานการศึกษาของไอเอ็มเอฟอีกฉบับได้ติดตามการดำเนินงานของธนาคารกลางในละตินอเมริกา 17 แห่ง ในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา เพื่อสำรวจปัจจัยต่างๆ : ความเป็นอิสระในการตัดสินใจ หน้าที่อาณัติชัดเจน ภาวะกดดันให้ปล่อยเงินกู้ให้กับรัฐหรือไม่ ถึงอย่างไร ภายใต้สถานการณ์ต่างๆ พบว่า ความเป็นอิสระที่มากขึ้น กลับมีความสัมพันธ์ที่ส่งผลลัพธ์จัดการเงินเฟ้อได้ดีมากขึ้น
สิ่งชัดเจนที่สุด ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง จะมีความสำคัญต่อเสถียรภาพด้านราคา ซึ่งเสถียรภาพด้านราคาจะมีความสำคัญต่อการเติบโตในระยะยาวที่สม่ำเสมอ
หากแต่การใช้อำนาจในประเทศประชาธิปไตย "ความไว้วางใจ" เป็นกุญแจสำคัญ ซึ่งธนาคารจะต้องได้รับความไว้วางใจในทุกๆวัน ผ่านการกำกับดูแลการดำเนินงานที่เข้มงวด ความโปร่งใส และความรับผิด ตลอดจนการส่งมอบความรับผิดชอบหลัก
"ธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งช่วยให้มั่นใจได้ว่า นโยบายการเงินสามารถคาดการณ์ได้ และอยู่บนพื้นฐานของการบรรลุเป้าหมายในระยะยาว แทนที่จะเป็นผลประโยชน์ทางการเมืองในระยะสั้น"
อย่างไรก็ตาม เริ่มต้นได้ด้วยการให้อำนาจทางกฎหมายที่ชัดเจน ซึ่งกำหนดเสถียรภาพด้านราคาเป็นวัตถุประสงค์หลัก ทั้งนี้ ผู้ออกกฎหมายจะต้องตระหนักดีว่า เสถียรภาพด้านราคา ช่วยรักษาเสถียรภาพของเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งท้ายที่สุดแล้วจะช่วยสนับสนุนการจ้างงาน
เมื่อถามถึงธรรมาภิบาลที่เข้มแข็งและความเป็นอิสระ นั่นมีความหมายว่า ธนาคารกลางควรสามารถควบคุมงบประมาณและบุคลากรตนเองได้ และไม่ถูกแทรกแซงได้โดยง่าย บนพื้นฐานการดำเนินการภายใต้อำนาจทางกฎหมาย
"ธนาคารกลางต้องมีความรับผิดชอบ และควรมีความโปร่งใส เพื่อแลกมาด้วยความเป็นอิสระ เนื่องจากการตัดสินใจของธนาคารกลางจะส่งผลกระทบกับทุกคน"
ขณะเดียวกัน รัฐบาลและธนาคารกลางต้องให้ความรู้ประชาชน เพื่อให้พวกเขาสามารถเป็นส่วนหนึ่งเกี่ยวกับนโยบาย เพราะในท้ายที่สุด ความไว้วางใจจะมีขึ้นได้ก็ขึ้นอยู่กับความสำเร็จ ในการสร้างเสถียรภาพด้านราคา และการทำให้ระบบการเงินมีเสถียรภาพ
เคารพต่อความเป็นอิสระ
รัฐบาลมีความรับผิดชอบที่ต้องช่วยเหลือธนาคารกลางให้ดำเนินงานบรรลุวัตถุประสงค์ที่ได้รับคำสั่ง และผ่านพ้นอุปสรรคข้างหน้า รวมถึงไม่เพียงแต่การออกกฎหมายเท่านั้น แต่ยังต้องปฏิบัติตามรายละเอียดของกฎหมาย และเจตนารมณ์ของกฎหมายดังกล่าวด้วย
เช่น การออกนโยบายการคลังอย่างรอบคอบ ช่วยความเสี่ยงของ "การครอบงำทางการคลัง" ซึ่งจะเป็นแรงกดดันต่อธนาคารกลาง ในการจัดหาเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำแก่รัฐบาล ในท้ายที่สุดจะกระตุ้นให้เกิดภาวะเงินเฟ้อ นอกจากนี้ ความรอบคอบทางการคลังยังช่วยเพิ่มงบประมาณเพื่อรองรับเศรษฐกิจครั้งที่มีความจำเป็น ซึ่งจะช่วยหนุนเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ความรับผิดชอบของรัฐบาลอีกประการหนึ่ง มักต้องแบ่งปันให้กับธนาคารกลางนั่นคือ การรักษาระบบการเงินที่แข็งแกร่ง และมีการควบคุมอย่างดี เพราะเสถียรภาพทางการเงินเป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจโดยใจ และลดความเสี่ยง กรณีธนาคารกลางไม่เต็มใจขึ้นอัตราดอกเบี้ย เพราะเกรงว่าทำให้เกิดการล่มสลายทางการเงิน
"เมื่อธนาคารกลางและรัฐบาลต่างรักษาบทบาทตนเอง เราจะได้เห็นการควบคุมอัตราเงินเฟ้อที่ดีขึ้น ผลลัพธ์การเติบโตและการจ้างงานที่ดี รวมถึงความเสี่ยงด้านเสถียรภาพทางการเงินที่ลดลง"
ไอเอ็มเอฟพร้อมให้ความช่วยเหลือผู้กำหนดนโยบายเผชิญกับความท้าทายเหล่านี้ และเราสนับสนุนความเป็นอิสระของธนาคารกลางอย่างยิ่ง ด้วยการให้ความช่วยเหลือทางเทคนิค นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับประเทศสมาชิก สำหรับปรับปรุงกรอบการกำกับและกฎหมาย เพื่อให้ความเป็นอิสระเป็นเสาหลักที่ชัดเจน ในการบรรลุเป้าหมายทางเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ
ที่มา : IMF.org