Google เผชิญวิกฤติศรัทธาจาก ‘คนใน’ พนง.ข้องใจกำไรพุ่งติดจรวด แต่ทำไม ‘เลย์ออฟ’ เพียบ
พนักงงานกูเกิล หมดกำลังใจจนต้องเปิดประเด็นถามซีอีโอ บริษัทโตเร็วสุดในรอบ 2 ปี แต่ทำไมยังเดินหน้า ‘ลดต้นทุน-เลิกจ้างอื้อ’ กระทบขวัญและกำลังใจคนทำงาน พร้อมถกปมเงินเดือนผู้บริหารยังสูงลิ่ว
“อัลฟาเบท” (Alphabet) บริษัทแม่ของ “กูเกิล” (Google) ประสบความสำเร็จอย่างมากในไตรมาสแรกของปี 2567 โดยรายงานผลประกอบการแข็งแกร่ง มีรายได้รวม 8.05 หมื่นล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 15% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน และมีกำไรสุทธิ 2.36 หมื่นล้าน
ตัวเลขนี้แสดงให้เห็นถึงอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในรอบ 2 ปี แม้ว่าบริษัทสั่งปลดพนักงานไปกว่า 12,000 คนในปีที่แล้วตามแผน “ลดต้นทุน” ซึ่งหนึ่งในนั้นคือแผนก"คลาวด์"ของกูเกิล ที่ตอนนี้กลายเป็นธุรกิจทำกำไรในไตรมาสนี้ แต่ทว่าพนักงานผู้เป็นฟันเฟืองในการขับเคลื่อนรายได้กลับถูกกดดันให้ทำงานแข่งกับเวลา เพราะทรัพยากรที่น้อยลง
พนักงานกูเกิลกำลัง "ขาดกำลังใจ"
ในการประชุมการประชุม All-hands Meeting ครั้งล่าสุดของกูเกิลในสัปดาห์ที่แล้ว พนักงานทั้งหมดมารวมกันพร้อม “ตั้งคำถาม” ถึงฝ่ายบริหารอย่าง “ซุนดาร์ พิชัย” ซีอีโอของอัลฟาเบทและ “รูธ โพรัท” ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงินที่เข้าร่วมประชุม โดยเหล่าพนักงานเปิดประเด็นว่า
“เหตุใดผลงานที่ยอดเยี่ยมดังกล่าว ไม่ได้ส่งผลต่อการปรับเงินเดือนที่สูงขึ้น และมาตรการลดต้นทุนของบริษัทจะมีผลไปอีกนานแค่ไหน?”
ก่อนการประชุมมีหลายความเห็นที่ถูกโพสต์บนฟอรัมภายในบริษัท ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึง “ความกังวล” ของพนักงานต่อสถานการณ์ของบริษัทในปัจจุบัน ทั้ง "พนักงานรู้สึกขาดกำลังใจอย่างมาก", "ความไว้วางใจต่อฝ่ายบริหารลดลง" และ "เกิดช่องว่างระหว่างฝ่ายบริหารกับพนักงาน"
Google บริษัทเทคยักษ์ใหญ่ แต่ทำไมพนักงานไม่เชื่อใจองค์กร
อย่างที่ทุกคนให้ความสนใจกับผลประกอบการไตรมาสแรกอันน่าทึ่งของอัลฟาเบทที่ออกมาดีเกินคาด โดยบริษัทได้ประกาศจ่ายเงินปันผลครั้งแรก รวมถึงการซื้อหุ้นคืนมูลค่า 70,000 ล้านดอลลาร์ แต่กลับมีความขัดแย้งเกิดขึ้นภายในองค์กร ซึ่งอาจเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
แต่ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาทีมผู้บริหารระดับสูงของบริษัท กลับต้องเผชิญกับแรงกดดันจาก"พนักงาน" เนื่องจากความไม่พอใจในนโยบายต่างๆ เช่น การลดต้นทุนในหลายด้าน ซึ่งเริ่มตั้งแต่ภาวะเศรษฐกิจถดถอยในปี 2565 สู่นโยบายการกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศหลังสถานการณ์โควิดคลี่คลาย และสวัสดิการที่ลดลง รวมไปถึงการปลดพนักงานจำนวนมาก รวมกว่า 12,000 คนในปีที่แล้ว
รวมทั้งเรื่องของ “ความไว้วางใจ”ภายในองค์กรซึ่งเป็นเรื่องสำคัญมากสำหรับบริษัทระดับโลกแบบนี้ แต่ตอนนี้กูเกิลกำลังเจอปัญหานี้ เพราะพนักงานกลับมีความกังวลเกี่ยวกับความไว้วางใจ เนื่องจากแรงกดดันที่ต้องทำงานภายใต้กรอบเวลาที่น้อยลง ซึ่งทรัพยากรมีจำกัด และโอกาสในการเติบโตภายในองค์กรที่ลดลง
เมื่อไรเงินเดือนของพนักงานจะสะท้อนถึงความสำเร็จของบริษัทอย่าง"ยุติธรรม" ?
มีหลายคำถามที่ได้รับการโหวตในการประชุม ซึ่งคำถามที่ได้รับการโหวตสูงจากพนักงานคือ “แม้ผลประกอบการของบริษัทจะโดดเด่นและทำลายสถิติ แต่พนักงานกูเกิลจำนวนมากยังไม่ได้รับการปรับเงินเดือนอย่างเหมาะสม” หรือ "เมื่อไหร่ที่เงินเดือนของพนักงานจะสะท้อนถึงความสำเร็จของบริษัทอย่างยุติธรรม ?” และ “มีการตัดสินใจสำหรับการตึงค่าแรงขั้นต่ำในภาวะตลาดแรงงานที่ชะลอตัวหรือไม่?”
“รูธ โพรัท” หยิบไมหยิบไมโครโฟนขึ้นเพื่อตอบคำถาม โดยเน้นย้ำว่า "เป้าหมายของเราคือการลงทุนเพื่อการเติบโต ดังนั้นรายได้ควรเติบโตเร็วกว่าค่าใช้จ่าย"
นอกจากนี้ ยังยอมรับความผิดพลาดในการบริหารการลงทุน ซึ่งถือเป็นการยอมรับผิดที่ค่อนข้างแปลกประหลาดสำหรับตำแหน่งผู้บริหาร "ปัญหาเริ่มต้นจากเมื่อสองปีที่แล้ว เราบริหารจัดการการลงทุนกลับด้าน ทำให้รายจ่ายเติบโตเร็วกว่ารายได้ ซึ่งนั่นไม่ใช่แนวทางที่ยั่งยืน"
พราบาคาร์ แรกฮาแวน หัวหน้าฝ่ายค้นหา เผยให้เห็นถึงความท้าทายที่เพิ่มขึ้นของธุรกิจหลักของกูเกิลในการประชุมภายในเมื่อเดือนที่แล้ว โดยบอกว่า "ทุกอย่างไม่ได้เป็นเหมือนเมื่อ 15-20 ปีที่แล้ว" และกระตุ้นให้พนักงานทำงานได้เร็วขึ้น เขากล่าวกับทีมว่า "ชีวิตไม่ได้ราบรื่นตลอดไปหรอกนะ"
เอาใจผู้ถือหุ้นมากกว่าใส่ใจพนักงาน?
ไม่ใช่เพียงแค่เรื่องของพนักงานที่กำลังหมดกำลังใจเท่านั้น แต่ยังมีความขับข้องใจในประเด็นของ “การบริหารทรัพยากรของบริษัท” ซึ่งหนึ่งในคำถามที่ได้รับความสนใจในการประชุมคือ บริษัทจะเลือกใช้เงินหลายพันล้านในการซื้อหุ้นคืนและจ่ายปันผล หรือนำเงินไปลงทุนใน AI และการฝึกอบรมพนักงานกูเกิลซึ่งมีความสำคัญไม่แพ้กัน
ด้านโพรัท กล่าวก่อนการประชุมเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า มีคำถามมากมายจากพนักงานเกี่ยวกับการซื้อหุ้นคืนของบริษัท โดยเมื่อไตรมาสที่แล้ว อัลฟาเบทมีเงินสดในบัญชีคงเหลือมากกว่า 1 แสนล้านดอลลาร์ แต่ไม่สามารถนำเงินทั้งหมดออกมาใช้ได้ ไม่เช่นนั้นบริษัทจะกลับไปตกอยู่ในสถานการณ์เดียวกับปี 2565
“การจ่ายเงินสดให้กับผู้ถือหุ้นนั้นไม่ถือเป็นค่าใช้จ่ายในงบดุล เนื่องจากคณะกรรมการบริษัทมีหน้าที่รับผิดชอบความไว้วางใจแก่ผู้ถือหุ้น ซึ่งการซื้อหุ้นคืนและการปันผล ไม่สามารถเทียบได้กับการลงทุนในปัญญาประดิษฐ์”
ซีอีโอชี้แจงข้อคับข้องใจ
จากนั้น “ซุนดาร์ พิชัย” ขึ้นพูดปิดท้ายการตอบคำถามของโพรัท โดยพูดแบบติดตลกว่า ฝ่ายบริหารควรจัด Ted Talk เรื่อง “การเงิน 101" ให้กับพนักงาน
รวมทั้งตอบคำถามประเด็นเรื่องขวัญกำลังใจที่ลดลงของพนักงาน จากที่พนักงานได้ตั้งคำถามว่า “ผู้นำมีแผนอย่างไรที่จะแก้ไขปัญหาเหล่านี้? และจะนำพาความไว้ใจ ขวัญกำลังใจ และความสามัคคี ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของความสำเร็จของบริษัทกลับคืนมาได้อย่างไร?"
พิชัยยอมรับว่า “ผู้นำมีความรับผิดชอบมากมายที่นี่ ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่อง"
พร้อมอธิบายว่า บริษัทได้ว่าจ้างพนักงานจำนวนมากเกินไปในช่วงโควิดระบาด และหลังจากนั้นเราก็มีการปรับแผน
จำนวนพนักงานประจำของ Alphabet เพิ่มขึ้นเป็นกว่า 190,000 คน ณ สิ้นปี 2565 เพิ่มขึ้นเกือบ 22% จากปีก่อนหน้าและเพิ่มขึ้นกว่า 40% เมื่อเทียบกับปลายปี 2563
‘ลดต้นทุน’แต่ทำไมเงินเดือน CEO ยังสูงลิ่ว?
ซุนดาร์ พิชัย เข้ารับตำแหน่งซีอีโอในปี 2562 แทนที่แลร์รี่ เพจ ผู้ร่วมก่อตั้ง Google ในการเข้ารับตำแหน่งในปีแรก พิชัยได้รับเงินเดือน 2 ล้านดอลลาร์ต่อปี และได้รับชุดผลตอบแทนทั้งหมดมูลค่ากว่า 226 ล้านดอลลาร์ ซึ่งรวมถึงรางวัลหุ้นด้วย
ถัดมาในปี 2566 ได้รับชุดผลตอบแทนทั้งหมดซึ่มรวมมูลค่าหุ้นเป็นเงินกว่า 218 ล้านดอลลาร์ และล่าสุดในปี 2567 ค่าตอบแทนรวมทั้งปีอยู่ที่ 8.8 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเพิ่มขึ้นจากปี 2567
เงินเดือนและสวัสดิการที่สูงลิ่วของซีอีโอถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าไม่สอดคล้องกับผลงานของบริษัท โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่บริษัทกำลังลดต้นทุนและปลดพนักงาน
กูเกิลเลย์ออฟไม่จบไม่สิ้น
อย่างไรก็ดี พนักงานที่เข้าร่วมการประชุมยังคาใจกับเรื่อง “การปลดพนักงาน” ที่ยังเกิดขึ้นทั้งๆ ที่ผลประกอบการก็แข็งแกร่ง ทำให้พนักงานถามว่า "บริษัทคาดว่าเมื่อไรจะยุติความไม่แน่นอนและผลกระทบที่เกิดจากการปลดพนักงาน"
พิชัยตอบว่าบริษัทกำลัง "อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านขององค์กร" ซึ่งรวมถึงการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มประสิทธิภาพ ซึ่งเราต้องการดำเนินการอย่างต่อเนื่องในระยะยาว"
พร้อมชี้แจงว่า "บริษัทมีการใช้เงินเพิ่มขึ้นในปีนี้ แต่เราจะบริหารจัดการให้เติบโตอย่างเหมาะสม เรามีโอกาสที่จะปรับโยกย้ายพนักงานไปยังแผนกที่จำเป็นเพื่อบรรลุเป้าหมาย"
ทั้งนี้ โฆษกของกูเกิลยืนยันกับซีเอ็นบีซีว่า บริษัทกำลังลงทุนในแผนงานสำคัญ โดยจะมีการรับพนักงานใหม่ในแผนกเหล่านั้น ซึ่งพนักงานส่วนใหญ่จะได้รับการปรับเงินเดือนในปีนี้ รวมถึงเงินเดือนที่เพิ่มขึ้น เงินปันผล หุ้น และโบนัส ทางฝ่ายบริหารได้ชี้แจงในการประชุมว่า พนักงานที่ได้รับการปรับเงินเดือนในปีที่แล้ว จะได้รับเงินเดือนที่เพิ่มขึ้นน้อยกว่าปกติ
พิชัยกล่าวว่า บริษัทจะดำเนินการปลดพนักงานส่วนใหญ่เสร็จสิ้นภายในครึ่งแรกของปี 2567
"โดยคาดการณ์จากสถานการณ์ปัจจุบัน การปลดพนักงานในช่วงครึ่งปีหลังจะมีจำนวนน้อยกว่ามาก และบริษัทจะยังคง บริหารจัดการการเพิ่มจำนวนพนักงานอย่างเคร่งครัดตลอดทั้งปี"
นั่นหมายความว่า บริษัทจำเป็นต้องตัดสินใจอย่างยากลำบากเกี่ยวกับการลงทุนในโครงการใหม่ๆ “ในอดีตเหล่าพนักงานจะเสนอไอเดียใหม่ๆ ซึ่งโดยปกติแล้วบริษัทมักจะตอบสนองด้วยการเพิ่มจำนวนพนักงานทันที แต่ในช่วงเวลาของเปลี่ยนผ่านนี้ บริษัทไม่สามารถทำแบบนั้นได้"