Red Lobster สืบ 'ไทยยูเนี่ยน' ปม'บุฟเฟต์กุ้ง' ขาดทุน 11 ล้านดอลลาร์ หลังยื่นล้มละลาย

Red Lobster สืบ 'ไทยยูเนี่ยน' ปม'บุฟเฟต์กุ้ง' ขาดทุน 11 ล้านดอลลาร์ หลังยื่นล้มละลาย

‘Red Lobster’ สืบสวน ‘ไทยยูเนี่ยน’ อาจเป็นสาเหตุที่ทำให้บริษัทขาดทุนจากแคมเปญ ‘บุฟเฟต์กุ้ง’ สร้างหนี้ 11 ล้านดอลลาร์ ทำพิษบริษัทจนต้อง'ยื่นล้มละลาย'

จากกรณีบริษัท “เรด ล็อบสเตอร์” (Red Lobster)  เชนร้านอาหารทะเลยักษ์ใหญ่ในสหรัฐได้ “ยื่นล้มละลาย” โดยยื่นเรื่องขอฟื้นฟูกิจการภายใต้กฎหมายล้มละลายมาตราที่ 11 ในสหรัฐ เมื่อวันที่ 20 พ.ค. ที่ผ่านมา

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานอ้างเอกสารที่ยื่นต่อศาลเผยว่า บริษัทกำลังสืบสวน “บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป“ (Thai Union) ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ เกี่ยวกับบทบาทในการริเริ่มแคมเปญ "บุฟเฟต์กุ้ง" (Endless Shrimp) ที่ส่งผลให้บริษัทขาดทุนถึง 11 ล้านดอลลาร์ (ราว 400 ล้านบาท)

เรด ล็อบสเตอร์ ร้านอาหารซีฟู้ดสไตล์อเมริกันที่มีสาขากว่า 550 แห่งในสหรัฐได้เผชิญ “ปัญหาขาดแคลนกุ้ง” ปัญหานี้เกิดขึ้นหลังจากทางร้านเปิดตัวเมนูกุ้งไม่อั้นมูลค่า 20 ดอลลาร์ โดยกล่าวว่า “หายนะ” ของบริษัทครั้งนี้เป็นส่วนหนึ่งของ ”การบริหารจัดการที่ผิดพลาด”ของไทยยูเนี่ยนบริษัทอาหารทะเลระดับโลก ซึ่งเป็นหุ้นส่วนใหญ่ของเรด ล็อบสเตอร์ และเป็น “ผู้จัดหากุ้ง” ให้กับร้านอาหารของบริษัทด้วย

“บุฟเฟต์กุ้ง” เปิดตัวครั้งแรกในโปรโมชั่น“ชั่วคราว”  แต่ต่อมา “พอล เคนนี” อดีตซีอีโอของเรด ล็อบสเตอร์ ตัดสินใจให้เมนูนี้กลายเป็น “เมนูประจำ” ตลอดทั้งปีในเดือนพฤษภาคม 2566  แม้จะได้รับเสียงคัดค้านจากฝ่ายบริหารคนอื่นๆ 

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจดังกล่าวนำไปสู่ปัญหาการ “ขาดแคลนกุ้ง” อย่างรุนแรง ร้านอาหารบางแห่งของเรด ล็อบสเตอร์ ไม่มีกุ้งให้บริการเพียงพอต่อความต้องการของลูกค้า ขณะเดียวกัน ไทยยูเนี่ยน ยกเลิกสัญญากับซัพพลายเออร์กุ้ง 2 ราย ทำให้บริษัทมีข้อตกลงพิเศษกับทางไทยยูเนี่ยนซึ่งนำไปสู่ราคาต้นทุนที่ “สูงขึ้น”

ปัญหาเหล่านี้ส่งผลกระทบต่อผลประกอบการของเรด ล็อบสเตอร์ โดย “โจนาธาน ทิบัส” ซีอีโอคนปัจจุบันของบริษัท ระบุในเอกสารที่ยื่นต่อศาลว่า สถานการณ์การขาดแคลนกุ้ง "ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อยอดขายและผลกำไร" ของบริษัท

“ไทยยูเนี่ยนใช้อิทธิพลอย่างมากต่อการซื้อกุ้งของบริษัท ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างตรวจสอบสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้นเพื่อการตัดสินใจ” ทิบัส กล่าว

อย่างไรก็ตาม รอยเตอร์สระบุว่าบริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ปซึ่งเข้าควบคุมกิจการในปี 2563 ได้เปิดเผยแผนการการถอดหุ้นออกจากร้านอาหารดังกล่าวไปเมื่อต้นปี 2567 โดยระบุว่า “ข้อบังคับด้านการเงินของทั้งสองบริษัท ไม่สอดคล้องกับลำดับการจัดสรรเงินทุนของบริษัทไทยยูเนี่ยน” และรอยเตอร์ไม่สามารถติดต่อไทยยูเนี่ยนได้เพื่อขอความคิดเห็นเพิ่มเติมต่อรายงานข่าวนี้

ปัจจุบัน  เรด ล็อบสเตอร์  แบกรับภาระหนี้สินของบริษัท 294 ล้านดอลลาร์ โดยวางแผนที่จะปิดร้านอาหารที่มีผลการดำเนินงานไม่ดีบางแห่ง และขายส่วนที่เหลือให้กับกลุ่มเจ้าหนี้ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ  Fortress Investment Group

เรด ล็อบสเตอร์  เป็นหนึ่งในร้านอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดในสหรัฐ ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2506 ปัจจุบันมีสาขามากกว่า 750 สาขาในสหรัฐอเมริกา แคนาดา และเม็กซิโก และมีสาขา 54 แห่งนอกสหรัฐอเมริกา และมีพนักงานประมาณ 36,000 คน ซึ่งเป็นหนึ่งในร้านอาหารที่ซื้อหางก้ามปูมากถึง 20% ของตลาดในอเมริกาเหนือ และเป็นผู้ซื้อกุ้งมังกรมากถึง 16% ของทั่วโลก

ปัจจุบัน เรด ลอบสเตอร์ ยอมรับว่าบริษัทกำลังประสบปัญหาทางธุรกิจ จากการตัดสินใจบริหารจัดการที่ผิดพลาด ภาวะเงินเฟ้อที่สูง ค่าเช่าแพงและการแข่งขันที่รุนแรง ส่งผลให้บริษัทขาดทุนสุทธิ 76 ล้านดอลลาร์ ในปี 2566 ซึ่งเมื่อไม่นานมานี้เพิ่งปิดสาขาไป 93 แห่งเพื่อลดต้นทุน

ที่ผ่านมา เรด ล็อบสเตอร์ ประสบปัญหาทางการเงินจากการขาดทุนสะสมมานานหลายปี โดยบริษัทได้พยายามหาวิธีปรับโครงสร้างหนี้สินและหลีกเลี่ยงการล้มละลาย แต่สุดท้ายก็ไม่สามารถต้านทานแรงกดดันทางการเงินได้อีกต่อไป จนต้องประกาศยื่น “ล้มละลาย” เพื่อดำเนินการตามแผนฟื้นฟูกิจการต่อไป

 

อ้างอิง reuters