ASML-TSMC พบวิธีชัตดาวน์ 'เครื่องผลิตชิป'จากระยะไกล หาก ‘จีน’ บุกไต้หวัน
ASML และ TSMC ค้นพบ ‘สวิตช์นิรภัย’ ชัตดาวน์เครื่องจักรผลิตชิป EUV ขั้นสูงจากระยะไกล หลังสหรัฐกังวลจีนบุกศูนย์ผลิตชิปใน ‘ไต้หวัน’ อาจกระทบต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก
สำนักข่าวบลูมเบิร์กรายงานว่า ตามที่แหล่งข่าวของ บริษัท เอเอสเอ็มแอล โฮลดิ้ง เอ็นวี (ASML) และ บริษัทไต้หวัน เซมิคอนดักเตอร์ แมนูแฟกเจอริง โค (TSMC) ได้เปิดเผยว่า ทั้ง 2 บริษัทมีวิธี “ปิดใช้งานเครื่องจักรผลิตชิป”ที่ซับซ้อนที่สุดในโลกจากระยะไกล กรณีที่จีนรุกรานไต้หวัน
ก่อนหน้านี้เจ้าหน้าที่ของรัฐบาลสหรัฐ ได้แสดงความกังวลต่อทั้งรัฐบาลเนเธอร์แลนด์และไต้หวัน เกี่ยวกับผลที่ตามมาหาก “จีน” เพิ่มความรุนแรงของการกระทำและโจมตีไต้หวัน ซึ่งเป็นผู้ผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงส่วนใหญ่ของโลก แหล่งข่าวสองคนเปิดเผยข้อมูลนี้โดยไม่ขอเปิดเผยชื่อ
ไต้หวันเป็นประเทศที่มีผู้ผลิตชิปเซมิคอนดักเตอร์ขั้นสูงรายใหญ่ของโลก ซึ่งเรียกว่าชิป EUV (Extreme Ultraviolet Lithography) ที่ถูกนำไปใช้ในอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท รวมถึงสมาร์ทโฟน คอมพิวเตอร์ และรถยนต์ ดังนั้นการโจมตีไต้หวันอาจส่งผลร้ายแรงต่อห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ทั่วโลก อาจนำไปสู้การขาดแคลนสินค้าและราคาสินค้าอิเล็กทรอนิกส์พุ่งสูงขึ้น
เจ้าหน้าที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้เข้าประชุมหารือกับบริษัท ASML ผู้ผลิตเครื่องจักรผลิตชิปขั้นสูง EUV ตามที่แหล่งข่าวสองคนได้เปิดเผยว่า ในการประชุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ได้รับการยืนยันจาก ASML ว่า บริษัทมีความสามารถในการปิดการทำงานเครื่องจักรเหล่านี้จากระยะไกล
กระบวนการนี้เปรียบเหมือนกับ “สวิตช์นิรภัย” ช่วยให้ ASML สามารถควบคุมเครื่องจักร EUV ของตน เพื่อป้องกันการโจมตีหรือขโมย และมั่นใจว่าเครื่องจักรจะใช้งานได้อย่างปลอดภัย ซึ่งระบบนี้จะช่วยให้ ASML และ TSMC สามารถปิดเครื่องจักรผลิตชิปทั้งหมดในไต้หวันได้ทันที จากสำนักงานใหญ่ในเนเธอร์แลนด์
นอกจากนี้ ASML ในเนเธอร์แลนด์ยังได้ดำเนินการจำลองสถานการณ์การรุกรานที่อาจเกิดขึ้น เพื่อประเมินความเสี่ยงจากการโจมตีของจีนต่อไต้หวัน ทั้งนี้โฆษกประจำบริษัท ASML, TSMC และกระทรวงการค้าของเนเธอร์แลนด์ ปฏิเสธที่จะให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้
บริษัท ASML ซึ่งตั้งอยู่ที่เมือง Veldhoven ในเนเธอร์แลนด์ เป็นผู้ผลิตเครื่องจักรขนาดใหญ่ราวกับรถบัสคันโต ประเภทนี้เพียงรายเดียวในโลก โดยแต่ละเครื่องมีราคาราว 217 ล้านดอลลาร์ หรือประมาณ 7.8 พันล้านบาท
สหรัฐกดดันเนเธอร์แลนด์ ควบคุมส่งออกเครื่องผลิตชิปไปจีน
เทคโนโลยีของ ASML ถูกกำกับโดยรัฐบาลต่างๆ เพื่อป้องกันไม่ให้ตกไปอยู่ในมือที่ “ไม่พึงประสงค์”อยู่เสมอ ตัวอย่างเช่น รัฐบาลเนเธอร์แลนด์ห้ามมิให้บริษัทขายเครื่องจักร EUV ให้กับจีน เนื่องจากสหรัฐกังวลว่าเทคโนโลยีเหล่านี้อาจทำให้จีนมีขีดความสามารถ “เหนือกว่า” ในสงครามชิประดับโลก
เนเธอร์แลนด์เริ่มดำเนินการตามมาตรการควบคุมการส่งออกที่จำกัดการส่งออกเครื่องจักรผลิตชิปขั้นสูง EUV ของบริษัท ASML ไปยังจีน มาตรการนี้มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2567 และคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อยอดขายของ ASML ในจีนประมาณ 15%
การควบคุมการส่งออกครั้งนี้เกิดขึ้นภายใต้แรงกดดันจากสหรัฐ ซึ่งกังวลว่าเทคโนโลยีของ ASML จะถูกใช้เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของจีน และอาจส่งผลต่อความมั่นคงของชาติ
แม้จะมีการประกาศห้ามส่งออกอย่างเป็นทางการ แต่รายงานจาก Bloomberg News ระบุว่า เจ้าหน้าที่สหรัฐเคยขอให้ ASML ยกเลิกการจัดส่งเครื่องจักรบางส่วนที่กำหนดส่งไปยังลูกค้าจีนก่อนหน้านี้ และแม้จะมีข้อจำกัดเหล่านี้ แต่ก็มีหลักฐานชี้ให้เห็นว่ามันอาจจะสายเกินไปที่จะหยุดยั้งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีของจีน
รายงานจาก Bloomberg News เมื่อเดือนตุลาคม 2566 เผยผลการวิเคราะห์ชิปในสมาร์ทโฟน Huawei รุ่นล่าสุดที่ผลิตเพื่อแข่งขันกับ iPhone ของ Apple ผลการวิเคราะห์พบว่า ชิปเหล่านี้ผลิตด้วยเทคโนโลยีผสมผสาน ด้วยเครื่องพิมพ์รุ่นเก่าของ ASML และเครื่องมือจากบริษัทสหรัฐอีกสองแห่ง
กรุงปักกิ่งให้ความสำคัญกับการพึ่งพาตนเองด้านเทคโนโลยีเป็นวาระแห่งชาติ ทำให้ความพยายามของ Huawei ในการพัฒนาการออกแบบและผลิตชิปภายในประเทศ ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน
ความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวัน
จีน อ้างมานานแล้วว่าเกาะไต้หวันเป็นดินแดนของตนเอง ซึ่งประธานาธิบดี สี จิ้นผิง สนับสนุนการรวมชาติโดยไม่ตัดโอกาสใช้กำลังทหาร โดยจีนกำลังสร้างกองทัพและคลังแสงนิวเคลียร์อย่างรวดเร็ว ซึ่งเป็นระดับที่ไม่เคยเห็นมาตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งพลเรือเอกสหรัฐฯ คาดการณ์ว่าจีนอาจรุกรานไต้หวันภายในปี 2570
ย้อนไปในอดีต จีนและไต้หวันแยกออกจากกันตั้งแต่ปี 2492 หลังจากสงครามกลางเมืองจีน ในขณะที่จีนยึดถือหลักการ "จีนเดียว" หมายความว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีนมาโดยตลอด แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมาความสัมพันธ์ระหว่างจีนกับไต้หวันตึงเครียดได้ทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทางการจีนเพิ่มการคุกคามทางทหารต่อไต้หวันอย่างต่อเนื่อง ซึ่งสหรัฐเองก็มีพันธสัญญาที่จะปกป้องไต้หวัน ดังนั้นความตึงเครียดระหว่างจีนกับไต้หวันเป็นประเด็นสำคัญในความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีน
สหรัฐเองก็ไม่นิ่งนอนใจ เพราะเมื่อเดือนที่แล้ว สภาคองเกรสได้อนุมัติเงิน 8 พันล้านดอลลาร์เพื่อยกระดับการป้องกันของไต้หวัน รวมทั้งรัฐบาลไบเดนมีการกระตุ้นการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในสหรัฐอย่างต่อเนื่อง ด้วยเงินอุดหนุน 3.9 หมื่นล้านดอลลาร์แก่ผู้ผลิตชิป เพื่อป้องกันการหยุดชะงักของห่วงโซ่การผลิตในอนาคต
อ้างอิง bloomberg