ไข้หวัดนกข้ามสายพันธุ์จาก 'วัว' สู่ 'คน' ทำไมเรื่องนี้อาจน่ากลัวกว่าที่คิด

ไข้หวัดนกข้ามสายพันธุ์จาก 'วัว' สู่ 'คน' ทำไมเรื่องนี้อาจน่ากลัวกว่าที่คิด

สื่อชี้กรณีที่ชาวอเมริกันติดเชื้อ 'ไข้หวัดนก' H5N1 จาก 'วัว' เป็นครั้งแรก อาจเป็นเรื่องน่ากังวลมากกว่าที่คิด ทั้งความเสี่ยงที่เชื่อไวรัสจะกลายพันธุ์ และการที่อุตสาหกรรมฟาร์มวัวสหรัฐเลือกที่จะเงียบ ซึ่งอาจทำให้ 'เท็กซัส' กลายเป็น 'อู่ฮั่น' ในอนาคต

KEY

POINTS

  • สหรัฐตรวจพบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ใน "วัว" ที่ฟาร์มโคนมรัฐเท็กซัส และขยายไปยังอีก 9 รัฐ ในปีนี้
  • การสุ่มตรวจนมจากร้านค้าทั่วประเทศพบว่ามีนมประมาณ 20% ที่พบร่องรอยของเชื้อไข้หวัดนก (แต่เชื้อถูกฆ่าโดยการพาสเจอร์ไรซ์แล้ว)
  • สหรัฐเพิ่งยืนยันการพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกรายที่ 2 ที่เกี่ยวข้องกับวัว
  • มีความกังวลว่าการระบาดที่แท้จริงของไข้หวัดนกในอุตสาหกรรมฟาร์มโคนมสหรัฐอาจแย่กว่าที่คิด จากการปกปิดเพราะกลัวเสียรายได้

การระบาดของโรคไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 ในปัจจุบันอาจจะไม่ได้อยู่ในห้วงวิกฤติเหมือนช่วงประมาณ 20 ปีก่อน ที่มีรายงานพบผู้ติดเชื้อและเสียชีวิตเป็นหลักร้อยต่อปีโดยเฉพาะในแถบเอเชีย แต่ก็ใช่ว่ามันจะกลายเป็นเรื่องปกติไปแล้ว ในทางตรงกันข้าม ความน่ากังวลของไข้หวัดนกในวันนี้ไม่ใช่เรื่องตัวเลขผู้ติดเชื้อหรือเสียชีวิต แต่เป็นการที่พบกรณีมีผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกมาจาก 'วัว' เป็นครั้งแรกในโลกต่างหาก 

นิตยสารดิอีโคโนมิสต์รายงานว่าเมื่อวันที่ 22 พ.ค. 2567 ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคของสหรัฐ (CDC) ได้ยืนยันพบผู้ติดเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์อันตราย H5N1 ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโรคนี้อย่างรวดเร็วในฟาร์มโคนมหลายแห่งของสหรัฐ และเป็นผู้ติดเชื้อรายที่ 2 ที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับการระบาดของไข้หวัดนกในวัว โดยทั้งคู่เป็นแรงงานในฟาร์มโคนมที่พบการระบาดของ H5N1 และมีประวัติการสัมผัสโดยตรงกับวัวที่ติดเชื้อ

แม้ว่าทั้งคู่จะมีอาการแค่เล็กน้อยและยังไม่มีหลักฐานของการแพร่เชื้อจากคนสู่คน แต่บรรดาหน่วยงานด้านสาธารณสุขของสหรัฐก็เฝ้าระวังอย่างเข้มงวด ถึงขั้นที่เตรียมพร้อมปล่อยคลังวัคซีน H5N1 ครึ่งหนึ่งจากที่สต็อกไว้ทั้งหมดเพื่อให้พร้อมนำไปใช้งาน

โดยปกติแล้วไวรัสไข้หวัดสามารถแพร่ระบาดในสัตว์หลายสายพันธุ์ และในบางครั้งไวรัสก็จะข้ามสปีชีส์ไประบาดยังสายพันธุ์ที่ไม่เฉพาะเจาะจง ซึ่งเหตุการณ์เช่นนี้อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตสำหรับพาหะสายพันธุ์ใหม่ ในขณะที่ H5N1 ซึ่งเป็นไวรัสไข้หวัดนกสายพันธุ์อันตรายที่แพร่ระบาดไปยังสัตว์ปีกจำนวนมากและสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมบางสายพันธุ์ ถือเป็นหนึ่งในไวรัสที่มีความเสี่ยงต่อการระบาดใหญ่ได้ เนื่องจากไม่มีภูมิคุ้มกันในมนุษย์ 

ตลอดเวลาเกือบ 30 ปีนับตั้งแต่ตรวจพบ H5N1 เป็นครั้งแรกในห่านที่ประเทศจีน ทั่วโลกพบการติดเชื้อในมนุษย์แล้วประมาณ 900 ราย ซึ่งโดยปกติเกิดจากการสัมผัสกับสัตว์ปีกที่ติดเชื้อโดยตรง ในจำนวนนี้เกือบครึ่งหนึ่งเสียชีวิต ทว่าสำหรับการติดเชื้อที่ไม่รุนแรงหรือไม่แสดงอาการจะตรวจไม่พบและมีอัตราการเสียชีวิตต่ำ

ไข้หวัดนกข้ามสายพันธุ์จาก \'วัว\' สู่ \'คน\' ทำไมเรื่องนี้อาจน่ากลัวกว่าที่คิด

จนกระทั่งในฤดูใบไม้ผลิปี 2567 นี้จึงมีการตรวจพบเชื้อ H5N1 ในฟาร์มโคนมที่รัฐเท็กซัส สหรัฐเป็นครั้งแรก และหลังจากนั้นก็ตรวจพบเชื้อในฝูงโคนมในอย่างน้อย 9 รัฐเมื่อช่วงต้นเดือน พ.ค. ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาสหรัฐ (FDA) พบว่าประมาณ 20% ของตัวอย่าง "นม" จากร้านค้าทั่วอเมริกามีร่องรอยเชื้อ H5N1 ปะปนอยู่ (แต่ถูกฆ่าแล้วโดยกระบวนการพาสเจอร์ไรซ์) ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการระบาดในฟาร์มโคนมสหรัฐนั้นขยายวงออกไปมากกว่าการทดสอบในสัตว์ที่จำกัด

ดิอีโคโนมิสต์ตั้งข้อสังเกตว่า เกษตรกรฟาร์มโคนมไม่กล้ารายงานการระบาดหรือทดสอบวัวเพราะกลัวสูญเสียรายได้ ส่วนการเฝ้าระวังการติดเชื้อคนงานในฟาร์มก็ยังห่างไกลมากจากมาตรฐานที่ผู้เชี่ยวชาญระบุและติดตามดูว่าการที่คนติดเชื้อ H5N1 จากวัวนั้นจะมีอาการแย่หรือต่างไปจากการติดเชื้อจากสัตว์ปีกหรือไม่

แต่ในความเป็นจริงแล้วการปิดเงียบอาจเลวร้ายยิ่งกว่าที่คิดเมื่อดูจากข้อเท็จจริงที่ว่า คนงานในฟาร์มจำนวนมากเป็นผู้อพยพที่ไม่มีเอกสาร ไม่พูดภาษาอังกฤษ และได้รับค่าจ้างเป็นรายวัน (ถ้าถูกกักตัวก็จะเสียรายได้) ดังนั้นการเข้าถึงข้อมูลและโน้มน้าวให้คนงานเข้ารับการทดสอบจึงเป็นเรื่องที่ท้าทาย ทำให้จนถึงวันที่ 22 พ.ค. มีผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ H5N1 เพียง 40 รายเท่านั้นที่ได้รับการตรวจหาเชื้อ

ทั้งหมดนี้ทำให้นักวิทยาศาสตร์ต้องพยายามรวบรวม "ข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์" หลายชิ้นเพื่อประเมินว่า H5N1 มีพัฒนาการไปอย่างไร สมาคมวิทยาศาสตร์ในอเมริกากำลังเริ่มมองหาเชื้อ H5N1 จากน้ำทิ้ง แต่วิธีการนี้สามารถแยกแยะได้เฉพาะบริเวณที่พบไวรัสจำนวนมากไหลเวียนอยู่เท่านั้น และไม่สามารถระบุแหล่งที่มาได้ว่ามาจากวัว คน นมที่ถูกทิ้ง หรือนกป่าที่ติดเชื้อ 

ไข้หวัดนกข้ามสายพันธุ์จาก \'วัว\' สู่ \'คน\' ทำไมเรื่องนี้อาจน่ากลัวกว่าที่คิด

เจนนิเฟอร์ นุซโซ นักระบาดวิทยาจากมหาวิทยาลัยบราวน์กล่าวว่าสิ่งเดียวที่ชัดเจนในขณะนี้ก็คือ เราจะรับรู้ได้ก็ต่อเมื่อมีการแพร่ระบาดจากคนสู่คนแล้ว ซึ่งหมายถึงการระบาดได้ขยายวงลุกลามไปแล้ว และสิ่งที่นุซโซกังวลในขณะนี้ก็คือ มีคนงานจำนวนมากในฟาร์มที่ติดเชื้อจากการสัมผัสกับสัตว์ป่วยโดยไม่รู้ตัว เนื่องจากแทบไม่มีการดำเนินมาตรการป้องกันการระบาดของโรคไข้หวัดนกในวัว

แม้จะขาดการทดสอบที่มากพอ แต่ก็ต้องถือเป็นข่าวดีที่จนถึงขณะนี้มีผู้ป่วยเพียงแค่ 2 รายเท่านั้น ที่ได้รับการยืนยันว่าเชื่อมโยงกับการระบาดในวัว เพราะปกติแล้วคนงานในฟาร์มมักจะต้องสัมผัสกับวัวที่ติดเชื้อ และนมจากวัวที่ติดเชื้อนั้นก็เต็มไปด้วยไวรัส H5N1 ดังนั้นการรีดนมวัวจึงมักจะนำไปสู่การติดเชื้อในมนุษย์ด้วย 

ไมเคิล โวโรบี นักชีววิทยาเชิงวิวัฒนาการจากมหาวิทยาลัยแอริโซนากล่าวว่า ปัจจุบันคนงานในฟาร์มที่ติดเชื้อทั้งสองคนมีอาการเพียงอาการเดียวคือ เยื่อบุตาอักเสบ เพราะโดยปกติเซลล์ในดวงตาของมนุษย์มีตัวรับเฉพาะ (specific receptors) ที่มีอยู่ในเซลล์นกเช่นกัน ซึ่งเป็น "สถานีเชื่อมต่อ" ที่ไวรัสเข้ามา ซึ่งหมายความว่าเชื้อไวรัสสามารถแพร่สู่คนได้เมื่อมันเข้าตาโดยไม่ต้องพัฒนาการกลายพันธุ์ก่อน เหมือนกับเซลล์ในปอดของมนุษย์ซึ่งเป็นเหตุให้ไวรัสทำให้เกิดการติดเชื้อในปอดอย่างรุนแรงในหลายๆ คนในการระบาดที่ผ่านมาซึ่งติดมาจากนก

แต่เซลล์ในระบบทางเดินหายใจส่วนบนของมนุษย์ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญเมื่อไวรัสแพร่กระจายระหว่างคนผ่านการไอและจามนั้นไม่มีตัวรับเหล่านี้ ดังนั้นเพื่อให้แพร่กระจายระหว่างคนได้ง่าย เชื้อไวรัสจึงจำเป็นต้อง "กลายพันธุ์" เพื่อทำให้มันสามารถแพร่เชื้อไปยังเซลล์เหล่านั้นในทางเดินหายใจส่วนบนได้ แต่จนถึงขณะนี้ การวิเคราะห์จีโนมของตัวอย่าง H5N1 จากฟาร์มโคนมในสหรัฐยังไม่พบว่ามีการกลายพันธุ์ ในขณะที่ผ้าเช็ดจมูกจากคนงานในฟาร์มที่ติดเชื้อก็ไม่พบไวรัส 

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ในอเมริกาก็ยังถือว่าน่าเป็นห่วง เพราะการพบเชื้อเป็นวงกว้างในวัวที่มีมนุษย์จำนวนมากสัมผัสใกล้ชิดเพิ่มโอกาสที่เชื้อไวรัสจะกลายพันธุ์ได้ เช่น การกลายพันธุ์จากการที่มนุษย์รับทั้งเชื้อไข้หวัดนก H5N1 มาจากวัว และเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ตามฤดูกาล ซึ่งอาจเกิดการกลายพันธุ์ทำให้ไข้หวัดใหญ่ระบาดได้ง่ายขึ้นหรือรุนแรงขึ้น 

แม้จะไม่มีทางรู้ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต แต่การพบเชื้อไข้หวัดนกล่าสุดในสหรัฐก็ไม่ได้ช่วยอะไรมากนักต่อการป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต โวโรบีกล่าวว่าเป็นเรื่องน่ากังวลที่การระบาดครั้งนี้อยู่แค่ใต้จมูกโดยที่เราไม่รู้ตัวมาหลายเดือนก่อนที่จะถูกตรวจพบ การใช้ระบบเฝ้าระวังที่สามารถตรวจจับ ติดตาม และจำกัดการแพร่กระจายของโรคใหม่ๆ ในฟาร์มเป็นวิธีที่สามารถป้องกันการระบาดใหญ่ในอนาคตได้

แต่หากไม่มีสิ่งนั้น การแพร่ระบาดครั้งต่อไปก็สามารถเริ่มต้นได้อย่างง่ายดายใน "เท็กซัส" ที่อาจไม่ต่างอะไรกับ "อู่ฮั่น" ในประเทศจีน

 

ที่มา: The Economist