ตรวจ‘ดีเอ็นเอ’หลักฐานวิทยาศาสตร์ พิสูจน์คนไทยตกหล่นในมาเลเซีย
การตรวจดีเอ็นเอบุคคลเพื่อหาความสัมพันธ์ทางสายเลือด ไม่ใช่เรื่องที่จะทำกันเล่นๆ แต่ต้องเป็นกรณีจำเป็นอย่างที่สุด หนึ่งในนั้นคือคนไทยที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎรที่ต้องการพิสูจน์หาหลักฐานบ่งบอกว่า พวกเขาก็คือคนไทยมีสิทธิมีเสียงเท่าคนไทยคนอื่นทุกประการ ซึ่งวิธีการทางวิทยาศาสตร์อย่างการตรวจดีเอ็นเอช่วยพวกเขาได้
สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู โดยภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ ร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ร่วมกันจัดโครงการตรวจสารพันธุกรรม (ดีเอ็นเอ) เพื่อช่วยเหลือคนไทยในมาเลเซียที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร ระหว่างวันที่ 28-29 พ.ค. ที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู
กสญ. ภาษิต เผยว่า โครงการนี้เริ่มมาแล้วเจ็ดปี ตั้งแต่ปี 2560 วัตถุประสงค์ของการตรวจดีเอ็นเอก็เพื่อพิสูจน์ว่าเป็นคนไทย แก้ไขปัญหาคนไทยในมาเลเซียโดยเฉพาะในรัฐกลันตันที่ติดกับ จ.นราธิวาสที่มีสถานะตกหล่นทางทะเบียนราษฎร กล่าวคือคนไทยส่วนใหญ่เดินทางมาทำงานรับจ้างตัดยาง ทำสวนในมาเลเซีย หลายคนอยู่นานจนมีครอบครัว มีลูกแล้วไม่ไปแจ้งเกิด ไม่มีเอกสาร กลายเป็นปัญหาสะสม เช่นเดียวกับคนไทยในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหาไม่มีเอกสารยืนยันตัวตน ซึ่งศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ได้ตรวจดีเอ็นเอในฝั่งไทยไปแล้วมากกว่า 2,000 ราย ดังนั้นวิธีการที่จะช่วยประชาชนเหล่านี้ให้มีตัวตน มีเอกสารยืนยันว่าเป็นคนไทย ต้องใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือการตรวจดีเอ็นเอ
โครงการตรวจดีเอ็นเอที่สถานกงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารูทำร่วมกับ ศอ.บต. มีผู้ลงทะเบียนร่วมโครงการมากขึ้นเป็นลำดับ ปี 2560 มีประชาชนมาลงทะเบียน 74 คน ปี 2561 จำนวน 90 คน ปี 2562 จำนวน 92 คน (ปี 2563-2565 ไม่มีโครงการเนื่องจากโควิด-19 ระบาด) ปี 2566 จำนวน 97 คน และปีนี้ตัวเลขพุ่งเป็น 235 คน
“นี่เป็นโครงการตามภารกิจหลักของกระทรวงการต่างประเทศในการดูแล คุ้มครอง รักษาผลประโยชน์ของคนไทยในต่างประเทศอย่างเป็นรูปธรรม จับต้องได้ ให้บริการแก่คนไทยทุกกลุ่มโดยไม่แบ่งแยกศาสนาความเชื่อ ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ทำให้คนไทยได้สัญชาติไทย ได้เป็นคนไทยอย่างสมบูรณ์” นั่นคือการได้รับเอกสารเพื่อนำไปสู่การรับสิทธิขั้นพื้นฐานในการเข้าถึงระบบสวัสดิการ การบริการภาครัฐ เช่น การรักษาพยาบาล การเข้าเรียน ได้ศึกษาหาความรู้ในฐานะพลเมืองไทย
ยิ่งไปกว่านั้น กงสุลใหญ่ระบุว่า การได้รับสถานะคนไทย ทำให้คนกลุ่มนี้สามารถมีเอกสาร เช่น หนังสือเดินทาง ซึ่งเป็นเอกสารสำคัญทำให้พวกเขาสามารถพำนักอยู่ในมาเลเซียได้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และถ้าอยากกลับไปจังหวัดชายแดนภาคใต้ก็สามารถทำได้
กูเฮง ยาวอหะซัน เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กล่าวเสริมว่า ในประเทศไทยมีคนไร้สัญชาติกว่า 9 แสนคน ความแตกต่างอยู่ที่ในภาคอื่นเป็นการไหลทะลักเข้ามาของแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่คนในสามจังหวัดเข้าไปทำงานในมาเลเซียแล้วอยู่แบบหลบๆ ซ่อน ซึ่งเมื่อก่อนไปเพราะเหตุผลด้านความมั่นคงและการเมือง แต่วันนี้เป็นการเข้ามาด้วยเหตุผลด้านเศรษฐกิจปากท้อง ทุกคนเข้ามาเพื่อหารายได้ให้ครอบครัว
“ศอ.บต.ก็พยายามนำเสนอกับคนที่ขาดสถานะเหล่านี้ว่า การไม่มีบัตรประชาชนจะขาดโอกาสหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นการศึกษา การทำมาหากิน การเข้าถึงระบบพยาบาล” กูเฮงกล่าว
ขณะที่ น.พ. สมหมาย บุญเกลี้ยง ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ในฐานะแพทย์ในพื้นที่ก่อนโอนไปทำงาน ศอ.บต. ขยายความว่า กลุ่มบุคคลไร้สัญชาติที่ยังคงไปๆ มาๆ ระหว่างกลันตันกับนราธิวาสมีปัญหาเด็กขาดการเข้าถึงวัคซีนมากที่สุด
“ในฐานะแพทย์ในพื้นที่ เวลาประชุมเรื่องตัวชี้วัดการฉีดวัคซีน มักมีการกล่าวโทษว่า คนไทยไปอยู่มาเลเซีย โดยไม่ได้มองว่าต้องมีการอำนวยความสะดวกให้กับชาวไทยที่อยู่ในมาเลเซีย” น.พ.สมชายกล่าวและว่า คนไทยที่มาทำงานในมาเลเซียนำเงินกลับบ้านเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก ถ้าตอนนี้สามารถทำบัตรประชาชนให้กับคนไทยกลุ่มนี้ได้จะแก้ปัญหาได้ทุกเรื่องในมิติของความไม่เข้าใจกันระหว่างภาครัฐกับชาวบ้าน รวมถึงเรื่องสิทธิและสวัสดิการต่างๆ เบื้องต้นรัฐควรปลดล็อกให้สามารถทำบัตรประชาชนใบแรกได้ที่กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู โดยไม่ต้องกลับไปทำในประเทศไทย ซึ่งจะเป็นการ “ลดความเหลื่อมล้ำ ให้ทุกคนเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน”
วรวีร์ ไวยวุฒิ รองผู้อำนวยการสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ เผยว่า ผู้ไร้สถานะทางทะเบียนราษฎรมีมากถึง 9.9 แสนคนทั่วประเทศ แบ่งเป็นกลุ่มต่างๆ เช่น แรงงานต่างด้าว กลุ่มชาติพันธุ์ กลุ่มคนไทยตกหล่นทางทะเบียนราษฎร กลุ่มคนไทยพลัดถิ่น เป็นต้น กระทรวงยุติธรรมจึงมองว่านี่คือปัญหาหลักที่กระทรวงต้องแก้ไข
“เรื่องสิทธิของบุคคล เขาต้องมีสถานะทางทะเบียนราษฎรก่อนถึงจะได้สิทธิตามรัฐธรรมนูญ” วรวีร์กล่าวพร้อมอธิบายเสริมว่า กระทรวงยุติธรรมมอบหมายสามกรมบูรณาการตามความเชี่ยวชาญ ได้แก่ กรมคุ้มครองสิทธิทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์สิทธิที่คนไทยจะได้รับ, กรมสอบสวนคดีพิเศษแก้ไขปัญหาบุคคลที่จะใช้สิทธิการเป็นคนไทยตามหลักดินแดนซึ่งต้องใช้การสืบสวนสอบสวน สอบปากคำพยานแวดล้อม เพื่อบ่งบอกว่าบุคคลนั้นอยู่ในประเทศไทยตั้งแต่เกิดจริง และสถาบันนิติวิทยาศาสตร์ใช้หลักสายโลหิต ใช้การตรวจดีเอ็นเอซึ่งพิสูจน์ได้สามชั้นลำดับ ตั้งแต่ทวดถึงเหลนมาแก้ไขปัญหา
ส่วนกระทรวงยุติธรรมจะทำหน้าที่ออกกฎหมายทำให้คนไทยไร้สถานะทางทะเบียนราษฎรที่มีปัญหาด้านกฎหมายมีกฎหมายรองรับ เพื่อให้คนไทยมีสถานะทางทะเบียนราษฎรทุกคน คาดว่าปัญหาจะทุเลาลงได้ภายในสามปีและหมดลงภายในห้าปี