อนาคตแรงงานในอุตฯ แฟชั่น กับระบบจ้างงานที่ซับซ้อน

อนาคตแรงงานในอุตฯ แฟชั่น กับระบบจ้างงานที่ซับซ้อน

การนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ และการเกิดขึ้นของ Creator Economy กำลังทำให้อุตสาหกรรมแฟชั่นเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ และเปลี่ยนไปถึง "การจ้างงาน" ที่จะซีบซ้อนมากขึ้นด้วย

อุตสาหกรรมแฟชั่นกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ อันเนื่องมาจากการพัฒนาทางเทคโนโลยี โดยเฉพาะการนำปัญญาประดิษฐ์ (AI) มาใช้ในกระบวนการต่าง ๆ ส่งผลให้วิถีการทำงานและโครงสร้างของแรงงานในอุตสาหกรรมนี้เปลี่ยนไปอย่างมาก

นอกจากนี้ การตอบสนองต่อเป้าหมายด้านความยั่งยืน และการเกิดขึ้นของ Creator Economy ยังเป็นปัจจัยสำคัญที่กำหนดทิศทางใหม่ของอุตสาหกรรมแฟชั่น
 

แนวโน้มที่ 1 การนำ AI เข้ามาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่น ไม่ว่าจะนำมาใช้เพื่อการออกแบบผลิตภัณฑ์ การจัดการคลังสินค้า หรือแม้กระทั่งการตลาด AI ไม่เพียงแต่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน แต่ยังมีส่วนช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในตลาด จากรายงานของ WGSN Insight พบว่า 73% ของผู้นำในอุตสาหกรรมแฟชั่นระบุว่าการนำ AI มาใช้เป็นสิ่งสำคัญในธุรกิจของพวกเขา

อย่างไรก็ตาม แม้ขณะนี้มีเพียง 4% เท่านั้นที่ใช้ AI เป็นประจำและต่อเนื่อง แต่ AI ก็ยังคงถูกมองว่าเป็นตัวร้าย เพราะอาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงานทั่วโลกได้ถึง 300 ล้านตำแหน่ง โดยเฉพาะตำแหน่งของผู้หญิง ซึ่งคาดว่าจะได้รับผลกระทบมากกว่าผู้ชาย

การนำ AI มาใช้ในอุตสาหกรรมแฟชั่นยังเปิดโอกาสใหม่ ๆ ให้กับแบรนด์ด้วยการผสมผสานระหว่างความคิดสร้างสรรค์ของมนุษย์กับความสามารถของ AI ช่วยเสริมสร้างนวัตกรรมในอุตสาหกรรมได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น

  • Collina Strada: แบรนด์แฟชั่นจากนิวยอร์กใช้ AI ในกระบวนการสร้างสรรค์คอลเลคชั่น S/S 24 ทีมงานได้ป้อนดีไซน์จากซีซั่นก่อน ๆ เข้าไป จากนั้น AI ก็ได้สร้างดีไซน์ใหม่ที่มีลักษณะคล้ายกัน เพื่อสร้างเสื้อผ้าสำหรับคอลเลคชั่นล่าสุด
  • Revolve: อีคอมเมิร์ซในสหรัฐฯ ร่วมมือกับ AI studio Maison Meta เพื่อเปิดตัวบิลบอร์ดที่สร้างโดย AI เป็นครั้งแรกในปี 2023 นอกจากนี้ยังได้จัดการแข่งขันออกแบบด้วย AI และนำไอเดียที่ชนะสามอันดับแรกมาผลิตเป็นสินค้าและจำหน่ายบนเว็บไซต์ของตน
  • Zalando: ร้านค้าออนไลน์ในเยอรมนีใช้ผู้ช่วย AI ที่สนับสนุนข้อมูลจาก ChatGPT เพื่อให้คำแนะนำสินค้าและตอบคำถามที่ซับซ้อน ผู้ช่วยนี้ได้เปิดตัวเป็นครั้งแรกในสหราชอาณาจักรและไอร์แลนด์

อนาคตแรงงานในอุตฯ แฟชั่น กับระบบจ้างงานที่ซับซ้อน

แนวโน้มที่ 2 ให้ความสำคัญกับ DE&I (Diversity, Equity and Inclusion) ผู้บริโภคต้องการเห็นบริษัทต่าง ๆ สนับสนุนความหลากหลาย ความเสมอภาค และการยอมรับความแตกต่าง DE&I เป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยเสริมสร้างความยั่งยืนในอุตสาหกรรมแฟชั่น บริษัทต่าง ๆ ควรมีการกำหนดนโยบายและเป้าหมายที่ชัดเจน รวมถึงจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม ตัวอย่างกรณีศึกษา

  • ในสัปดาห์แฟชั่นนิวยอร์ก แบรนด์สัญชาติอเมริกัน Batsheva ใช้นางแบบที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไปทั้งหมด และที่สัปดาห์แฟชั่นลอนดอนสำหรับคอลเลกชั่นฤดูใบไม้ผลิ/ฤดูร้อน 2024 หรือ แบรนด์ Chopova Lowena และ Karoline Vitto ประสบความสำเร็จในการใช้นางแบบเป็นสาว Plus size เกือบ 100%
  • Raul Lopez ผู้ก่อตั้งแบรนด์แฟชั่นสัญชาติอเมริกัน Luar เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้มีพรสวรรค์ “BIPOC” ย่อมาจาก Black, Indigenous, and People of Color หรือ ผู้มีพื้นเพเป็นชนกลุ่มน้อยหรือชนพื้นเมือง ซึ่งมีสมาชิกเป็นนักออกแบบที่มีชื่อเสียงคนอื่น ๆ อย่าง Maximilian Davis แห่ง Ferragamo และ Pharrell Williams แห่ง Louis Vuitton การจ้างงานกลุ่มนักออกแบบ BIPOC จะช่วยสร้างความหลากหลายในไอเดียให้กับวงการแฟชั่น ก่อให้เกิดภาพลักษณ์ที่ดีในมุมมองของผู้บริโภค

แนวโน้มที่ 3 สานสัมพันธ์กับกลุ่มคอนเทนต์ครีเอเตอร์และอินฟลูเอนเซอร์ ปฏิเสธได้ยากถึงความสำคัญของ Creator Economy ด้วยเพราะระบบเศรษฐกิจปัจจุบันขับเคลื่อนด้วยคอนเทนต์ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานในอุตสาหกรรมแฟชั่น การสร้างความสัมพันธ์กับผู้ทำงานในกลุ่มนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของบริษัท สร้างความน่าสนใจให้กับแบรนด์และดึงดูดผู้บริโภคได้

ตัวอย่างเช่น TikTok เป็นผู้สนับสนุนหลักงาน Met Gala 2024 ได้เปิดตัวบริการใหม่ให้ผู้ใช้สามารถเข้าถึงข้อมูลงานได้โดยการค้นหาคำสำคัญ นอกจากนี้ TikTok ยังได้จัดตั้งกลุ่ม TikTok Collective ประกอบด้วยนักสร้างสรรค์ด้านแฟชั่น 33 คน ซึ่งสามารถนำเสนอตัวเองในงานร่วมกับแบรนด์ที่เป็นพาร์ทเนอร์ด้วย