เกมบัลลังก์ ‘เวียดนาม’ มีเพียง ‘จีน’ ใกล้ชิดอยู่ประเทศเดียวหรือไม่
“เวียดนาม” อาจมีอำนาจมืด คอยเป็นกัปตันถือหางเสือเรืออีกคน ร่วมกำหนดทิศทางอนาคตประเทศ โดยนักวิเคราะห์พูดถึง ”จีน“ เมื่อถูกถามถึงผู้นำประเทศคนใหม่
“พลตำรวจเอกโต เลิม” ได้สาบานตนเข้ารับตำแหน่งประธานาธิบดีเวียดนามไปแล้วเมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา ก่อนหน้านี้เขาได้เคยขอคำแนะนำจากรัฐบาลปักกิ่ง เรื่องการเสริมสร้างความมั่นคงภายในประเทศ
ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายต่างประเทศเชื่อว่า ฮานอยจะยังคงดีลอำนาจกับประเทศเพื่อนบ้านที่ทรงอิทธิพล ทางตอนเหนือของเวียดนาม
เลิม เคยเป็นอดีตหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงระดับสูง ได้เข้ารับตำแหน่งท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงผู้นำครั้งใหญ่ ซึ่งเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ ถือเป็นครั้งที่สามในรอบไม่ถึง 18 เดือน
ประธานาธิบดีเวียดนามทั้งสองคนก่อนหน้านี้ ได้ก้าวลงจากตำแหน่งภายใน 18 เดือน หลังตรวจพบเชื่อมโยงกับการกระทำผิด แม้ไม่ได้ระบุรายละเอียด แต่เกี่ยวข้องการปราบปรามคอรัปชัน
เลิม วัย 66 ปี ได้เข้ามาแทนที่ “โว แวน ทอง” ซึ่งได้ลาออกจากตำแหน่งเมื่อเดือน มี.ค. หลังถูกกล่าวหาว่าละเมิดกฎพรรค หลังอยู่ในตำแหน่งแค่หนึ่งปีกว่า
แม้เมื่อเร็วๆนี้ เวียดนามได้ยกระดับความสัมพันธ์กับสหรัฐ ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย แต่ส่วนใหญ่ยังคงรักษาความสัมพันธ์กับจีนอย่างสมดุล ซึ่งนักวิเคราะห์ชี้ในระหว่างการเยือนอย่างเป็นทางการของประธานาธิบดีสี จิ้นผิง เมื่อเดือน ธ.ค. จะเห็นว่าทั้งสองประเทศได้ให้คำมั่นจะเปิด “เวทีความร่วมมือใหม่” เพื่อกระชับความสัมพันธ์ทวิภาคี และยกระดับความร่วมมือระหว่าง 2 ประเทศ
“ฮวินห์ เติม สาง” อาจารย์ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศมหาวิทยาลัยสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ของเวียดนามกล่าวว่า หากตอนนี้จะให้เปลี่ยนแปลงแนวทางนโยบายต่างประเทศ ก็คงไม่ส่งผลดีต่อรัฐบาลฮานอย
“ปัจจุบันนโยบายเวียดนามมีแนวโน้มจะยังคงไม่เปลี่ยนแปลง” ฮวินห์กล่าว และเสริมว่า นโยบายต่างประเทศของเวียดนามได้รับการตัดสินใจ และกำหนดโดยการปรึกษาหารือระหว่างสมาชิกโปลิตบูโรของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนาม แทนที่จะอิงกับบุคคลสำคัญคนใดคนหนึ่ง
เวียดนามจะยังคงปกป้องตนเองจากความเสี่ยงต่ออิทธิพลของประเทศมหาอำนาจ ซึ่งฮวินห์ อ้างถึงแนวทางนโยบายต่างประเทศฮานอย ตามที่เลขาธิการใหญ่พรรคคอมมิวนิสต์ เคยพูดถึงไว้ครั้งแรกเมื่อปี 2021 ว่าเป็น “การทูตไผ่ลู่ลม”
นั่นชวนให้นึกถึงรากต้นไผ่ที่แข็งแรง ลำต้นเหนียวแน่น และกิ่งก้านที่ยืดหยุ่น ซึ่งได้อธิบายถึงยุทธศาสตร์ที่ละเอียดอ่อนของเวียดนาม ท่ามกลางภูมิรัฐศาสตร์ได้อย่างชัดเจนว่า เวียดนามรักษาความเป็นอิสระ และได้ประโยชน์จากความร่วมมือระหว่างประเทศในหลายรูปแบบ โดยไม่ตกอยู่ในอำนาจใดอำนาจหนึ่ง
ประธานาธิบดีเลิมเพิ่งเยือนจีน เมื่อเดือน ก.ย.ปีที่แล้ว ในระหว่างนั้นมีกระทรวงความมั่นคงสาธารณะเวียดนาม ได้ร่วมมือกับจีนในหลายด้าน โดยเฉพาะมาตรการต่อต้านการก่อการร้าย และปราบปรามกลุ่มก่อการจลาจล
นอกจากนี้ เลิมยังขอคำแนะนำทั้งทางทฤษฎีและปฏิบัติจากหัวหน้าฝ่ายความมั่นคงของจีนเกี่ยวกับการรักษาความเป็นหนึ่งเดียวของพรรคคอมมิวนิสต์ เพื่อสามารถคุมอำนาจและความเป็นผู้นำประเทศโดยสมบูรณ์
สิ่งนี้อาจทำให้ จีนรู้ดีว่าสามารถพึ่งพาประธานาธิบดีเวียดนามคนใหม่ได้ ซึ่ง “แซคารี อาบูซา” ศาสตราจารย์ด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงของวิทยาลัยการสงครามแห่งชาติในกรุงวอชิงตัน มองว่า ผู้นำเวียดนามมองโลกผ่านเลนส์ที่คล้ายกับจีนมาโดยตลอด
“ดังนั้นจะเห็นว่าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามนำกลยุทธ์หลายอย่างของจีนมาใช้ในการรักษาอำนาจการปกครองของพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามให้คงอยู่รอดได้” อาบูซา
"พวกเขากลัวการปฏิวัติสี (Color revolution) หรือการต่อต้านรัฐบาล หากให้เลิมเรียงลำดับความสำคัญของนโยบายก็ยังเชื่อว่า สิ่งแรกที่เลิมต้องการคือการอยู่รอดของระบอบการปกครอง เพราะการปกครองที่มีความมั่นคง ถือเป็นความมั่นคงของชาติ" โดยอาบูซา อ้างถึงเหตุการณ์เคลื่อนไหวเพื่อประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลายครั้ง ซึ่งได้เปลี่ยนแปลงประเทศในเครือสหภาพโซเวียตหลายแห่ง ในช่วงต้นทศวรรษ 2000
นอกจากนี้ฮานอยยังเรียนรู้จากปักกิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกฎหมายความมั่นคงทางไซเบอร์ การใช้กฎหมายภาษีเพื่อจัดการกับฝ่ายตรงข้าม
“เวียดนาม จะยังคงรักษาสมดุลความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐกับจีนต่อไป เนื่องจากเวียดนามมีความจำเป็นด้านเศรษฐกิจ ขณะเดียวกันยังต้องต่อสู้กับปัญหาต่างๆ เช่น แหล่งพลังงานไฟฟ้าไม่เพียงพอ และโครงสร้างพื้นฐานที่ยังไม่สมบูรณ์” อาบูซากล่าว
พร้อมย้ำว่า ความไม่มั่นคงทางการเมืองที่เกิดขึ้นอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อนในช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา ประกอบกับคดีฉ้อโกงทางการเงินครั้งใหญ่ส่งผลให้อดีตมหาเศรษฐีด้านอสังหาริมทรัพย์ถูกตัดสินประหารชีวิตในเดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ได้ตอกย้ำความไม่เชื่อมั่นและหวาดกลัวให้กับนักลงทุน
“อเล็กซานเดอร์ วูวิง” ศาสตราจารย์ศูนย์ศึกษาความมั่นคงแห่งเอเชียแปซิฟิกของฮาวาย คาดว่าความวุ่นวายทางการเมืองของเวียดนามจะดำเนินต่อไปอย่างน้อยๆ ไปจนถึงต้นปี 2026 หรือจนกว่าพรรคคอมมิวนิสต์เวียดนามจะจัดการประชุมระดับชาติครั้งต่อไป และเลือกหัวหน้าพรรคคนใหม่
“ฮานอยไม่ได้เพิ่มความใกล้ชิดกับจีนมากขึ้น ในทางกลับการเวียดนามกลับยึดมั่นในแนวทางการทูตไผ่ลู่ลม อย่างสมดุลย์ ซึ่งทำให้เวียดนามสามารถรักษาความสัมพันธ์ที่ดีทั้งกลับสหรัฐสหรัฐ จีน รวมถึงรัสเซีย ตลอดจนหลีกเลี่ยงการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งท่ามกล่างความขัดแย้ง” วูวิง
ทั้งนี้ เวียดนามและสหรัฐ ยกระดับความเป็นหุ้นส่วนขึ้น สู่การมียุทธศาสตร์ที่ครอบคลุมร่วมกัน ขณะที่เมื่อปีที่แล้วรัสเซียยังคงเป็นพันธมิตรทางทหารและแหล่งพลังงานที่สำคัญให้กับเวียดนาม โดยที่ประเทศทั้งสองมีความผูกพันทางประวัติศาสตร์ ย้อนหลังไปถึงยุคโซเวียต ยังจะเห็นว่าเวียดนามไม่เต็มใจจะประณามรัสเซียที่รุกรานยูเครน ส่วนหนึ่งก็มาจากความสัมพันธ์อันยาวนานที่มอสโก เคยให้การสนับสนุนในช่วงหลายปีหลังสงครามเวียดนามสิ้นสุดลงเมื่อปี 1975
"เกมบัลลังก์เวียดนามจะยังดำเนินต่อไป หากจะมีการปรับนโยบายต่างประเทศ ก็น่าจะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพแวดล้อมทางยุทธศาสตร์เท่านั้น อย่างการที่จีน ล่วงล้ำอธิปไตยเวียดนามในทะเลจีนใต้ หรือความสัมพันธ์กัมพูชาเวียดนามที่เสื่อมถอยอย่างรวดเร็ว ทั้งสองเหตุการณ์นี้ จะทำให้เวียดนามมีแนวโน้มโน้มเอียงไปหาประเทศอื่น แต่แน่นอนจะไม่ใช่จีน" ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงกล่าวย้ำ
ความสัมพันธ์เวียดนามกับกัมพูชาค่อนข้างตึงเครียดในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมาเนื่องจากเหตุการณ์คลองฟูนัน เตโช อภิมหาโปรเจคของฮุน เซนที่ได้ทำลายระบบนิเวศ ซึ่งรัฐบาลฮานอยแสดงความกังวลเกี่ยวกับผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมที่อาจเกิดขึ้นเป็นระยะทาง 180 กิโลเมตร อย่างไรก็ตามนักวิเคราะห์บางคนเชื่อว่า การแสดงความกังวลของเวียดนามมาจากที่เวียดนามเริ่มจะไม่เกรงอิทธิพลกัมพูชา ขณะที่อิทธิพลจีนในภูมิภาคลุ่มน้ำโขงได้แผ่ขยายมากขึ้นเรื่อยๆ
อย่างไรก็ตามในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมากัมพูชาได้กระชับความสัมพันธ์ทางการเมือง เศรษฐกิจ การทหาร และความมั่นคงกับจีนอย่างแข็งแกร่ง แต่เมื่อพิจารณาความใกล้ชิดทางภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ที่มีร่วมกับเวียดนาม เวียดนามมองว่าทั้งกัมพูชาและลาวอยู่ภายใต้อิทธิพลของตนเอง
ที่มา : SCMP