ชุมชนชาวสยามในมาเลเซีย ก้าวข้ามอดีต'รักษาอัตลักษณ์'
คนไทยทุกคนรู้ดีว่า ประเทศของเราเดิมเคยชื่อ “สยาม” มาก่อน แล้วเปลี่ยนชื่อประเทศเป็นไทยใน พ.ศ.2482 สมัยรัฐบาลจอมพล ป. พิบูลสงคราม แม้แต่ชาวสยามที่ยังหลงเหลือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศมาเลเซียก็เรียกตนเองว่าคนไทยตามยุคสมัย กระนั้นพวกเขายังคงอัตลักษณ์ชาวสยามไว้ให้เห็น
กระทรวงการต่างประเทศโดยณัฐพล ขันธหิรัญ รองปลัดกระทรวง พร้อมด้วยเจ้าถิ่น ภาษิต จูฑะพุทธิ กงสุลใหญ่ ณ เมืองโกตาบารู นำคณะสื่อมวลชนไทยเยี่ยมชุมชนชาวสยาม ที่วัดพิกุลทองวราราม บ้านบ่อเสม็ด อ.ตุมปัต รัฐกลันตัน มาเลเซีย เมื่อวันก่อน ร่วมพูดคุยกับพระครูสุวรรณวรานุกูล เจ้าอาวาส และพิม อุตรพันธ์ รองประธานสมาคมสยาม รัฐกลันตัน ถึงอดีตที่เชื่อมโยงมาถึงปัจจุบัน ได้ทราบว่า คนสยามในมาเลเซียมีประมาณ 80,000 คน ถือเป็นชนพื้นเมืองกลุ่มหนึ่ง พบบันทึกประวัติศาสตร์การมีอยู่ของคนสยามตั้งแต่ศตวรรษที่ 14 (สมัยอาณาจักรมะละกา) สังเกตได้จากชื่อสถานที่หลายแห่งมาจากภาษาไทย เช่น Rambong Batu Tawang (ท่าวัง) Bersut (บ้านสุดหมายถึงหมู่บ้านท้ายสุด) Changlun (ช้างหล่น) Menora Tunnel (อุโมงค์มโนรา รัฐเปรัก) Alor Siam (สายน้ำสยาม)
เจ้าอาวาสวัดพิกุลทอง เล่าเพิ่มเติมว่า คนสยามคือคนไทยดั้งเดิมตั้งแต่ยังเป็นสยามประเทศ สมัยนั้นกลันตัน เคดาห์ เปรัก ปะลิส เคยเป็นของไทย
“เมื่อเกิดการแบ่งเขตทางการเมืองเราจึงกลายเป็นคนมาเลเซีย” เจ้าอาวาสกล่าวและว่า วัดพิกุลทองมีมาตั้งแต่สมัยอยุธยาตอนปลาย คนที่นี่ยังใช้ภาษาเก่า เช่น ร่มเรียกกลด รองเท้าเรียกเกือก บันไดเรียกกะได กางเกงเรียกสนับเพลา พูดเรียกแหลง (มาจากคำว่าแถลง)
ภาษาที่ชาวสยามในกลันตันพูดเรียกว่า ภาษาเจ๊ะเห (ภาษาถิ่นที่พูดกันในบางส่วนของ จ.ปัตตานีและนราธิวาส) เจ้าอาวาสเล่าว่า เป็นภาษาที่รับมาจากภาคกลาง ภาคเหนือ
“ภาษาสยามไม่มีวิวัฒนาการเหมือนเราถูกปิดจากมาตุภูมิเลยพูดแบบเก่า” เจ้าอาวาสกล่าว
ความผูกพันกับแผ่นดินเกิดเป็นอีกหนึ่งประเด็นที่น่าสนใจ ชะตากรรมของชาวสยามในกลันตัน เคดาห์ เปรัก เปอร์ลิส เป็นผลจากสนธิสัญญาปักปันเขตแดนระหว่างอังกฤษกับสยามในปี 1909 ดินแดนสี่รัฐตกเป็นของมาเลเซีย ลูกหลานรุ่นหลังเกิดในดินแดนที่เป็นมาเลเซียไปแล้ว
"เรารักมาเลเซียเพราะเป็นแผ่นดินเกิด เราจะไม่ไปไหน ชาวบ้านไม่เคยยุ่งการเมือง ขอให้เรามีที่ทำกิน ดำเนินชีวิตแบบคนไทยได้" เจ้าอาวาสเผยถึงความรู้สึกพร้อมย้ำว่า คนสยามมีไม่ถึง 1% ของประชากรมาเลเซีย ดังนั้นต้องพยายามรักษาจุดแข็ง ได้แก่ ภาษา วัฒนธรรม และพุทธศาสนาเอาไว้ ถึงจะสามารถรักษาอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ได้ ไม่ว่าจะอยู่ที่ใดก็ตาม
กระนั้น คำถามที่เจ้าอาวาสและคนในชุมชนเจอบ่อยๆ คือ จะกลับไปประเทศไทยหรือไม่ เรื่องนี้เจ้าอาวาสตอบชัด
“อยู่ที่นี่เราก็เป็นคนไทย ภาครัฐให้สิทธิเต็มที่ รับราชการก็ได้ และเคยมีตัวแทนเป็น ส.ว.” ตัวอย่างการให้สิทธิแก่ชาวสยาม เช่น รัฐบาลมาเลเซียอนุญาตให้หยุดงานในวันที่ 13 เม.ย. มีเสรีภาพในการนับถือศาสนาเห็นได้จาก ทั่วประเทศมาเลเซียมีวัด/สำนักสงฆ์เกือบ 100 แห่ง รัฐกลันตันมีวัด 22 แห่ง อ.ตุมปัตมี 12 แห่ง พระจำพรรษา 120 รูป
สำหรับวัดพิกุลทองวรารามนอกจากเป็นศูนย์กลางชุมชนแล้ว ยังเป็นศูนย์กลางสอนภาษาไทย เดิมทีการสอนภาษาไทยมีเฉพาะเด็กผู้ชายมาเรียนเพราะต้องบวชในพระพุทธศาสนา ซึ่งการบวชต้องขานนาคเป็นภาษาไทย พอถึงยุคใหม่มีครูอาจารย์จากเมืองไทยมาเยี่ยมเห็นว่าที่นี่ยังขาดพัฒนาการด้านภาษา จึงนำสมุดหนังสือของกระทรวงศึกษาธิการมาให้เรียนที่วัด ต่อมาพัฒนาเป็นโรงเรียน ตลอดเวลาของการพูดคุย สังเกตได้ว่า เจ้าอาวาสเน้นย้ำถึงสามจุดแข็งของชุมชนชาวสยามคือภาษา วัฒนธรรม และศาสนา แต่สิ่งที่น่าคิดต่อคือเด็กยุคนี้ชอบเล่นติ๊กต็อกแถมหลายคนประกาศตัวไม่นับถือศาสนา แล้วอัตลักษณ์สยามจะหลงเหลือได้อย่างไร
เจ้าอาวาสกล่าวว่า เด็กเล่นติ๊กต็อกก็จริง แต่เวลาอยู่ในชุมชนจะใช้ภาษาท้องถิ่นโดยอัตโนมัติ ซึ่งประเพณีวัฒนธรรมและศาสนาได้รวมอยู่ในภาษา และพระสงฆ์ต้องแสดงบทบาทให้เด็กสนใจภาษา วัฒนธรรม ประเพณี และอัตลักษณ์ไทยด้วยการชี้ให้เห็นว่าคนเชื้อชาติอื่น เช่น จีน อินเดีย มลายูสามารถรักษาอัตลักษณ์ไว้ได้ เราก็ต้องทำให้ได้
“ก็พยายามปลูกฝังว่าหากวันหนึ่งวันใดเราไม่รักษาอัตลักษณ์ของเรา พวกเธอรู้มั้ยว่าเราจะถูกกลืนอัตลักษณ์ เมื่อนั้นความเป็นไทยของเราจะหมดไป คือพยายามเตือนให้เด็กฉุกคิด ไม่ประมาท ว่าเรามีจำนวนน้อย สักวันหนึ่งเราจะโดนกลืน แต่หากเราเข้มแข็งด้านภาษา วัฒนธรรม ศาสนา อนาคตข้างหน้าพวกเธอจะรักษาความเป็นไทยของเราไว้ได้”
เรื่องดินแดนอาณานิคมในอดีตเป็นจุดหนึ่งที่สร้าง “ประวัติศาสตร์บาดแผล” ให้กับหลายคนต่อเนื่องมาถึงทุกวันนี้ แต่ชาวสยามในมาเลเซียก้าวข้ามเรื่องพวกนี้ไปนานแล้ว ด้วยคำสอนของพระพุทธเจ้าที่สอนไม่ให้ยึดติด ไม่ยึดถืออดีต ไม่พะวงอนาคต
“เราทำปัจจุบันให้ดีที่สุด เรื่องประวัติศาสตร์คือเรื่องที่ผ่านมาแล้ว ไม่ต้องไปยึดถือว่าดินแดนนี้เคยเป็นของไทย เคยเป็นของบรรพบุรุษ เราไม่ต้องไปเคลมเรื่องนั้น เอาปัจจุบันเป็นที่ตั้งแล้วอนาคตจะดีเอง เมื่อเราปฏิบัติตามคำสอนของพระพุทธเจ้าปัญหาการเหยียดชาติพันธุ์ ดูถูกดูแคลนกันจะไม่มี" เจ้าอาวาสวัดพิกุลทองวรารามกล่าวทิ้งท้าย ด้วยหลักคิดง่ายๆ ทางพุทธศาสนา แต่เป็น "อกาลิโก" ให้ผลได้ไม่จำกัดกาล ที่ชาวสยามในกลันตันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้ว