ส.ส.ญี่ปุ่นตั้งคณะทำงานศึกษา UFO คุกคามความมั่นคง
ส.ส.ญี่ปุ่นเตือน ไม่ควรเพิกเฉยการมองเห็นยูเอฟโอ เพราะจริงๆ แล้วอาจเป็นโดรนสอดแนมหรืออาวุธ จึงตั้งกลุ่มตรวจสอบเรื่องนี้โดยเฉพาะ
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงาน ส.ส.ญี่ปุ่นกว่า 80 คนตั้งกลุ่มแบบไม่แบ่งฝักฝ่ายมีอดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมรวมอยู่ด้วย โดยจะกระตุ้นให้ญี่ปุ่นเพิ่มขีดความสามารถในการตรวจจับและวิเคราะห์ปรากฏการณ์ผิดปกติที่ไม่สามารถระบุได้ (ยูเอพี) หรือที่รู้จักกันทั่วไปว่า ยูเอฟโอ
นายยาสุกาซู ฮามาดะ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมญี่ปุ่น หนึ่งในสมาชิกกล่าวก่อนเปิดตัวกลุ่ม
“เป็นความไม่รับผิดชอบอย่างที่สุดสำหรับเราหากเพิกเฉยกับข้อเท็จจริงที่ว่า มีบางสิ่งที่เราไม่รู้แล้วยังทำไม่รู้ไม่ชี้ไม่ระบุหาที่มา”
เมื่อเร็วๆ นี้ กระทรวงกลาโหมญี่ปุ่นต้องอับอาย เมื่อคลิปแอบถ่ายเรือพิฆาตถูกเผยแพร่บนโซเชียลมีเดียจีน เห็นได้ชัดว่าเป็นการถ่ายจากโดรน
ปีก่อนกระทรวงเคยแถลง “สันนิษฐานอย่างหนักแน่น” ว่า วัตถุบินได้ที่เห็นเหนือฟากฟ้าญี่ปุ่นช่วงไม่กี่ปีมานี้เป็นบอลลูนสอดแนมของจีน
นายโยชิฮารุ อาซากาวะ ส.ส.ฝ่ายค้าน สมาชิกคนสำคัญของกลุ่มกล่าวว่า ในญี่ปุ่นยูเอฟโอถูกมองมาตลอดว่าเป็น “เรื่องลี้ลับไม่เกี่ยวข้องอะไรกับการเมือง แต่หากพบว่าพวกมันเป็นอาวุธลับล้ำสมัย หรือโดรนสอดแนมแอบแฝงเข้ามา ก็อาจเป็นภัยคุกคามใหญ่หลวงต่อความมั่นคงแห่งชาติเราได้”
บ่อยครั้งที่ปรากฏการณ์บนท้องฟ้าชวนจินตนาการถึงชายร่างเล็กสีเขียว แต่กลายเป็นประเด็นการเมืองร้อนในสหรัฐ
ปี 2566 รัฐบาลวอชิงตันกล่าวว่า กำลังตรวจสอบรายงานยูเอฟโอ 510 ฉบับ สูงกว่าเมื่อปี 2564 ถึงกว่าสามเท่า ในเดือน ก.ย.ปีเดียวกัน องค์การบริหารอวกาศและการบินสหรัฐ (นาซา) กล่าวว่าต้องการเปลี่ยนการสนทนาเกี่ยวกับยูเอฟโอ “จากเน้นอารมณ์ความรู้สึกมาเป็นวิทยาศาสตร์”
ปี 2565 กระทรวงกลาโหมสหรัฐตั้งสำนักงาน All-Domain Anomaly Resolution Office หรือเอเออาร์โอ เพื่อสอบสวนเรื่องยูเอพี
รายงานฉบับหนึ่งในปี 2566 ของเอเออาร์โอ กำหนดให้พื้นที่ตั้งแต่ตะวันตกของญี่ปุ่นไปจนถึงจีนเป็น “พื้นที่สำคัญ”เห็นยูเอพีบ่อยครั้ง ตามแนวโน้มระหว่างปี 2539-2546
ต่อมาเอเออาร์โอสรุปเป็นรายงานความยาว 60 หน้าตามคำสั่งของสภาคองเกรสว่า ไม่มีหลักฐานเทคโนโลยีจากนอกโลก หรือเป็นความพยายามของรัฐบาลสหรัฐเพื่อปกปิดไม่ให้สาธารณชนทราบ
สำหรับ ส.ส.ญี่ปุ่น พยายามผลักดันให้ประเทศตั้งหน่วยงานเทียบเท่าเอเออาร์โอของเพนตากอน และเพื่อส่งเสริมความร่วมมือด้านข่าวกรองกับสหรัฐเพิ่มเติม โดยนายคริสโตเฟอร์ เมลลอน ผู้เชี่ยวชาญด้านยูเอพีและอดีตเจ้าหน้าที่หน่วยข่าวกรองสหรัฐจะสนทนาออนไลน์กับกลุ่ม ส.ส.ญี่ปุ่นในวันนี้ (6 มิ.ย.)