ความต้องการทองคำ ยังคงพุ่งแรงในเอเชีย แม้ราคาทอง ใกล้แตะจุดสูงสุดอีกครั้ง
แม้ “ราคาทอง” ใกล้แตะจุดสูงสุดอีกครั้ง แต่ความต้องการทองคำ ในเอเชียกลับพุ่งสวน มาจากผู้คนกังวลความเสี่ยงภูมิรัฐศาสตร์ ภาวะเงินอ่อนค่า และมีความเชื่อมั่นในสินทรัพย์อื่นๆ ลดลง
สำนักข่าวรอยเตอร์ส รายงานว่า แม้ ราคาทอง ในปัจจุบัน ใกล้แตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ทำไว้ในเดือนพฤษภาคม แต่ “ความต้องการทองคำในเอเชีย” กลับยังคงพุ่งสูงขึ้น เนื่องจากผู้ซื้อมองว่า “ทองคำ” เป็นสินทรัพย์ที่ดีในการป้องกันความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และเศรษฐกิจ
ราคาทองคําสปอต ตอนนี้ (12 มิ.ย.2567) อยู่ที่กว่า 2,300 ดอลลาร์ต่อออนซ์ ซึ่งเพิ่มขึ้นประมาณ 12% ตั้งแต่ต้นปี และห่างจากราคาสูงสุดเป็นประวัติการณ์เมื่อเดือนที่แล้วเพียง 6% เท่านั้น
นักวิเคราะห์มองว่า ความเชื่อมั่นในตัวเลือกการลงทุนอื่นๆ เช่น อสังหาริมทรัพย์และหุ้นที่ลดลง ก็เป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ความต้องการทองคำเพิ่มขึ้นด้วย
"เมื่อภาพรวมเศรษฐกิจกลับสู่ภาวะปกติ อสังหาริมทรัพย์ และหุ้นกลับมาน่าสนใจอีกครั้ง ผมคิดว่า ผู้คนจะกลับมาคำนึงราคาทองคำที่สูงลิ่วเช่นนี้” รูธ โครเวลล์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของสมาคมค้าทองในกรุงลอนดอน
ส่วน บรูซ อิเคมิซุ หัวหน้ากรรมการผู้จัดการสมาคมตลาดทองคำญี่ปุ่นมองว่า แม้ราคาทองคำจะพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ แต่ในญี่ปุ่น นักลงทุนสายกระทิง (มองทองคำขาขึ้น) กลับมีจำนวนมากกว่านักลงทุนสายหมี (มองทองคำขาลง)
ในประเทศจีน เหล่านักลงทุนกำลังเผชิญกับภาวะเงินหยวนอ่อนค่า ตลาดอสังหาริมทรัพย์ซบเซา และความตึงเครียดทางการค้า นั่นทำให้พวกเขามองเห็นว่า ทองคำเป็นการลงทุนที่ทรงคุณค่า จนทำให้การซื้อขายทองคำแท่ง และทองรูปพรรณของจีน เพิ่มขึ้นถึง 27% ในไตรมาสแรกของปีนี้
อัลเบิร์ต เช็ง ซีอีโอของสมาคมตลาดทองคำสิงคโปร์ เผยบนเวทีการประชุม Asia Pacific Precious Metals Conference ว่า “เทรนด์ในตลาดตอนนี้คือ ผู้บริโภคที่ต้องการซื้อทองคำ จะซื้อโดยไม่คำนึงถึงราคา”
ในภูมิภาคอื่นๆ ของเอเชีย นักลงทุนรายย่อยต่างกำลังเทเงินลงทุนในทองคำ เพราะมองว่าเป็นสินทรัพย์ปลอดภัย โดยได้รับความนิยมมากขึ้นในกลุ่มผู้ซื้อรุ่นเยาว์
ส่วนในประเทศไทย ณัฐพงศ์ หิรัณยศิริ ประธานบริหารกลุ่มบริษัทในเครือ MTS Gold แม่ทองสุก เผยว่า เพียงมีข่าวพาดหัวเรื่องราคาทองคำปรับตัวสูงขึ้น ก็เกิดปรากฏการณ์คนไทยต่อคิวยาวหน้าร้านทองทันที
ขณะที่ในเวียดนาม เกิดภาพนักลงทุนแห่กันไปซื้อทองคำสะสม แม้ว่าราคาทองคำในประเทศจะสูงกว่าราคาทองคำตลาดโลกอย่างมากก็ตาม
ในทางกลับกัน อินเดีย และออสเตรเลียยังคงอ่อนไหวต่อราคาทองคำที่สูงขึ้น โดยราคาทองคำอินเดียซื้อขายต่ำกว่าราคาทองคำตลาดโลกมาเป็นเวลา 5 สัปดาห์ติดต่อกัน สะท้อนถึงความต้องการซื้อที่ไม่คึกคัก แม้เป็นประเทศที่บริโภคทองคำอันดับ 2 ของโลกก็ตาม
ขณะที่ยอดขายผลิตภัณฑ์ทองคำของโรงกษาปณ์เมืองเพิร์ท ออสเตรเลียในเดือนพฤษภาคม ลดลง 30% เมื่อเทียบเป็นรายเดือน
อ้างอิง: reuters
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์