มนต์เสน่ห์ลาตินอเมริกา เปิดฟ้าการค้าการลงทุน
ภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนมีความน่าสนใจตรงที่ ประชากร 600 ล้านคนพอๆ กับอาเซียน อีกทั้งผู้คนยังนิสัยใจคอคล้ายกัน การทำมาค้าขายหากต่อยอดไปให้มากขึ้นกว่าเดิมย่อมเป็นเรื่องดี
ในงานสัมมนาไทย-ลาตินอเมริกา ครั้งที่ 4 “Flavors of Opportunities: Nourishing Trade and Investment between Thailand and Latin America” ที่กรมอเมริกาและแปซิฟิกใต้ กระทรวงการต่างประเทศ ร่วมกับสถานเอกอัครราชทูตลาตินอเมริกาและแคริบเบียนประจำประเทศไทย 9 ประเทศ ได้แก่ อาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลอมเบีย คิวบา กัวเตมาลา เม็กซิโก ปานามา และเปรู จัดขึ้นเมื่อวันก่อน World Pulse มีโอกาสคุยกับเอกอัครราชทูตถึงลู่ทางขยายการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ได้มุมมองน่าสนใจ
โจเซ่ บอร์เจส โดส ซันโตส จูเนียร์ เอกอัครราชทูตบราซิลประจำประเทศไทย กล่าวว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างบราซิลกับไทยเติบโตขึ้นอย่างต่อเนื่อง มูลค่าการนำเข้าส่งออกกว่า 5,000 ล้านดอลลาร์ แต่ติดขัดที่ระบบราชการในสองประเทศทำให้ไปไม่ไกลมากกว่านี้ ทั้งๆ ที่มีหลายด้านที่เราสามารถส่งเสริมกันได้ เช่น ไทยแข็งแกร่งมากด้านอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งต้องการวัตถุดิบมาก ขณะที่บราซิลมีอุตสาหกรรมชั้นนำและก้าวหน้าสามารถจัดหาบายโปรดัคจากสัตว์ป้อนประเทศไทยสำหรับขยายการผลิตและส่งออกได้ ถือว่าได้ประโยชน์กันทั้งสองฝ่าย ซึ่งเร็วๆ นี้รัฐมนตรีจากไทยจะนำทีมไปเยือนบราซิลเพื่อหาช่องทางส่งออกและนำเข้าสินค้าจากไทยด้วย
เมื่อสอบถามถึงอุปสรรคใหญ่สุดด้านการค้าการลงทุน ทูตตอบอย่างไม่รีรอ
"อย่างแรกเลยคือภาษีค่อนข้างสูง ซึ่งเรากำลังหารือกันในเรื่องนี้ ในภูมิภาคลาตินอเมริกา ไทยมีข้อตกลงการค้าเสรีกับชิลีและเปรู เราเข้าใจว่าเราเป็นประเทศผลิตสินค้าอาหารรายใหญ่ ซึ่งไทยอาจมีข้อกังวล เราจึงควรเจรจาผ่านตลาดร่วมอเมริกาใต้ตอนล่าง (MERCOSUR: เมร์โกซูร์) ที่บราซิลเป็นสมาชิก ซึ่งบราซิลต้องทำงานร่วมกับสมาชิกเมร์โกซูร์รายอื่นๆ ทั้งอาร์เจนตินา ปารากวัย และอุรุกวัยด้วย" ทูตบราซิลกล่าวพร้อมย้ำว่า ระยะห่างคนละซีกโลกไม่เป็นอุปสรรคระหว่างบราซิลกับไทย
"ไม่เป็นอุปสรรคเลยครับ การขนส่งสมัยนี้ดีมาก เพียงแต่เราต้องรู้จักกันให้เพิ่มขึ้น เพราะการทำตลาดใหม่คุณก็ต้องการตลาดที่ไว้ใจได้ เราคือคนที่คุณไว้ใจได้ บุคลิกของคนบราซิลกับคนไทยคล้ายกันหลายอย่าง ให้ความสำคัญกับครอบครัว ไว้เนื้อเชื่อใจเชื่อมั่นกันและกัน เพราะฉะนั้นแม้ห่างไกลกันเราก็ค่อยๆ ทำความรู้จักกันได้"
ในประเด็นนี้ทูตเล่าถึงการส่งเสริมความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ด้วยวิธีการง่ายๆ แต่สำคัญมากเมื่อบราซิลเริ่มสอนภาษาโปรตุเกสบราซิลให้กับนักศึกษาไทย เริ่มจากกลุ่มเล็กๆ แล้วค่อยขยายต่อไป รวมถึงส่งเสริมนักเรียนนักศึกษาแลกเปลี่ยนระหว่างสองประเทศ
“คนไทยที่เคยไปใช้ชีวิตในบราซิลก็เข้าใจวัฒนธรรม หลงรักและมีความผูกพันกับบราซิลเป็นพิเศษ” ทูตย้ำถึงกลไกการแลกเปลี่ยนระหว่างประชาชนกับประชาชน ที่ส่งผลต่อการค้าการลงทุนในภาพกว้าง
ด้านเซซิเลีย ซูนิลดา กาลาร์เรตา บาซัน เอกอัครราชทูตเปรูประจำประเทศไทย กล่าวว่า ดีใจที่ข้อตกลงการค้าเสรีไทย-เปรูเต็มรูปแบบคาดว่าจะบรรลุได้ภายในสิ้นปีนี้ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการค้าการลงทุนระหว่างกัน และอีกเรื่องหนึ่งที่น่ายินดีคือสินค้าส่งออกจากเปรูมายังไทยเป็นสินค้าเพิ่มมูลค่าไม่ใช่วัตถุดิบแบบเดิมๆ อีกต่อไป
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ ระบุว่า ในปี 2566 การค้าระหว่างไทยและเปรู มีมูลค่า 486.93 ล้านดอลลาร์ ขยายตัว 9.40% จากปีก่อนหน้า โดยไทยส่งออกไปเปรู มูลค่า 290.99 ล้านดอลลาร์ และไทยนำเข้าจากเปรู มูลค่า 195.94 ล้านดอลลาร์ สินค้าส่งออกสำคัญ ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป เครื่องซักผ้าและเครื่องซักแห้งและส่วนประกอบ และผลิตภัณฑ์ยาง สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ สัตว์น้ำสด แช่แข็ง แปรรูปและกึ่งสำเร็จรูป สินแร่โลหะ เศษโลหะและผลิตภัณฑ์ ผัก ผลไม้และของปรุงแต่งที่ทำจากผักผลไม้ และเคมีภัณฑ์
นอกเหนือจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ ทูตเปรูเป็นอีกคนหนึ่งที่มองว่าความสัมพันธ์ระหว่างประชาชนกับประชาชนเป็นปัจจัยสำคัญ สถานทูตเปรูจัดกิจกรรมมากมายเพื่อเชื่อมคนสองประเทศเข้าด้วยกัน เช่น กิจกรรมทางวิชาการ กิจกรรมด้านวัฒนธรรม เช่น เผยแพร่อาหารเปรูให้คนไทยได้รู้จัก และล่าสุด สถานเอกอัครราชทูตสาธารณรัฐเปรูประจำประเทศไทย เตรียมจัดงานแสดงภาพถ่าย “Qhapaq Ñan - The Great Inca Trail Exhibition” ระหว่างวันที่ 25 มิ.ย.-21 ก.ค. ที่ชั้น 5 สยามดิสคัฟเวอรี ซึ่งความเข้าใจกันระหว่างประชาชนกับประชาชนจะต่อยอดไปถึงความสัมพันธ์ด้านการเมือง เศรษฐกิจ การค้า ระหว่างไทยกับเปรู
นี่เป็นเพียงตัวอย่างสองประเทศจากอีกหลากหลายประเทศในภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียน ซึ่งถ้ารู้จักกันมากขึ้นก็ยิ่งเข้าใจกันมากขึ้น เวิลด์พัลส์ได้ข่าวมาว่า หลังจากนี้กรมอเมริกาฯ วางแผนขยายโอกาสทางการค้าการลงทุนระหว่างไทยกับภูมิภาคลาตินอเมริกาและแคริบเบียนตามนโยบายการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก นำคณะนักธุรกิจไทยเยือนลาตินอเมริกา (ชิลี เปรู และบราซิล) ภายใต้โครงการ Latin Link ในเดือน ส.ค.2567 เพื่อขยายตลาดสินค้าไทยไปยังลาตินอเมริกา รวมถึงการเตรียมการเข้าร่วมการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งเปรูจะเป็นเจ้าภาพในเดือน พ.ย.2567 ความคืบหน้าจะนำมารายงานให้ทราบต่อไป