สงครามกลางเมืองฉุด ‘เมียนมา’ วินาศ จีดีพีหดตัว การค้าชะงัก กัดกินความยากจน
‘เวิลด์แบงก์’ ชี้ สงครามกลางเมืองฉุดรั้งเศรษฐกิจ GDP หดตัว 1% หลังเงินเฟ้อพุ่ง - ของแพง เหตุการค้าชายแดนกับจีน - ไทยหยุดชะงัก ภาคธุรกิจเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน กัดกินความยากจนฝังรากลึก
KEY
POINTS
-
สงครามกลางเมืองเมียนมากระทบการค้าชายแดน และตลาดแรงงาน ฉุดรั้งเศรษฐกิจ
- เศรษฐกิจแย่ ไม่มีงานทำ ค่าแรงน้อย กดความยากจนเมียนมาร่วงลงสู่ระดับเดียวกับปี 2558
- นักลงทุนชาวเอเชียเปลี่ยนทิศทางการค้าผ่านเมียนมาไปสู่การค้าทางเรือ
สำนักข่าวนิกเคอิเอเชีย รายงานว่า เวิลด์แบงก์ปรับลดคาดการณ์ การเติบโตของเศรษฐกิจ(GDP)เมียนมาลงเหลือเพียง 1% ในช่วงปีงบประมาณปัจจุบัน (สิ้นสุดมีนาคม 2568) จากเดิมที่คาดการณ์ไว้ 2% เมื่อเดือนธันวาคม ที่ผ่านมา จากในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา จนถึงเดือนมีนาคม 2567 เศรษฐกิจเมียนมาขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น
การชะลอตัวของเศรษฐกิจเมียนมามีสาเหตุหลักมาจากภาวะเงินเฟ้อในเมียนมาพุ่งสูงอย่างต่อเนื่อง โดยส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของครัวเรือน และภาคธุรกิจ ความขัดแย้งภายในประเทศ และการอพยพของแรงงาน ส่งผลให้เกิดภาวะขาดแคลนแรงงาน รวมทั้งการขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต
‘เศรษฐกิจเมียนมา’ เปราะบาง
เศรษฐกิจเมียนมาเผชิญกับ “ภาวะถดถอยรุนแรง” นับตั้งแต่ "มิน อ่อง หล่าย" ยึดอำนาจรัฐบาลพลเรือนจาก “นางอองซาน ซูจี” ในปี 2564 สะท้อนว่า รัฐบาลทหารยังไม่สามารถฟื้นฟูเศรษฐกิจให้กลับมาเดินหน้าได้ เศรษฐกิจของประเทศหดตัวลงเกือบหนึ่งในห้า หลังจากการยึดอำนาจของกองทัพ
รายงานของเวิลด์แบงก์ ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบเพิ่มเติมของสงครามกลางเมืองเมียนมาต่อเศรษฐกิจ
- การค้าชายแดน โดยการค้าชายแดนทางบกกับจีน และไทยได้รับผลกระทบอย่างหนักจากความขัดแย้ง ทำให้ห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศหยุดชะงัก ซึ่งส่งผลต่อธุรกิจ
- ตลาดแรงงาน การประกาศเกณฑ์ทหารภาคบังคับในเดือนกุมภาพันธ์ 2567 ทำให้แรงงานอพยพไปยังพื้นที่ชนบท และต่างประเทศมากขึ้น ส่งผลให้บางอุตสาหกรรมเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน
รวมทั้ง เวิลด์แบงก์ยังรายงานถึงสถานการณ์เศรษฐกิจเมียนมาที่น่ากังวล ได้แก่ ค่าเงินจ๊าดอ่อนค่าลงอย่างมาก ทำให้เงินเฟ้อพุ่งสูงขึ้น และสินค้าจำเป็นที่ต้องนำเข้าขาดแคลน รวมทั้งการขาดแคลนสกุลเงินต่างประเทศ ทำให้ธุรกิจมีปัญหาในการนำเข้าสินค้า
นอกจากนี้ ปัญหาไฟฟ้าดับบ่อยทำให้ภาคธุรกิจต้องแบกรับภาระในการใช้เครื่องปั่นไฟสำรองที่มีราคาแพงซึ่งเพิ่มต้นทุนการผลิต จากผลสำรวจบริษัทในเมียนมาพบว่า 33% ระบุว่าไฟฟ้าดับเป็นอุปสรรคสำคัญในตอนนี้
สงครามทำ 'การค้าชายแดน’ ซบเซา
ธนาคารโลกรายงานตัวเลขการค้าของเมียนมาช่วง 6 เดือนแรกของปี 2567 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2566 พบว่าลดลงอย่างมาก นำโดยการส่งออกสินค้า (ไม่รวมก๊าซธรรมชาติ) ลดลง 13% การนำเข้าสินค้า ลดลง 20% ส่วนการค้าชายแดน มีการส่งออกลดลง 44% และนำเข้า ลดลง 50% และภาพรวมการนำเข้าลดลง 71%
การค้าชายแดนระหว่างไทย และเมียนมา หดตัวลงอย่างมาก เพราะการปิดด่านพรมแดนชั่วคราวในด่านท่าขี้เหล็ก และด่านแม่สาย ซึ่งสาเหตุหลักมาจากความวุ่นวายที่ด่านการค้าชายแดนหลัก ในปฏิบัติการ 1027 ซึ่งเป็นการสู้รบระหว่างกองทัพทหารเมียนมา และกลุ่มชาติพันธุ์ จึงทำให้การขนส่งสินค้าติดขัด
ด่านสำคัญหลายแห่งถูกปิด ทำให้กิจกรรมทางการค้าเปลี่ยนทิศทาง ส่งผลกระทบต่อการค้ากับ “จีน และ ไทย” ทำให้นักลงทุนชาวเอเชียในย่างกุ้งมองว่า "การค้าชายแดนผ่านเมียนมา ไม่ใช่ทางเลือกที่เหมาะสมอีกต่อไปเนื่องมาจากความไม่ปลอดภัย และความไม่น่าเชื่อถือ ทำให้ธุรกิจบางแห่ง หันไปพึ่งพาการขนส่งทางเรือ”
ความยากจนฝังรากลึก
บางอุตสาหกรรมประสบปัญหาการ “ขาดแคลนแรงงาน” เนื่องจากพนักงานลาออกเพื่อหนีออกนอกประเทศเพราะความเสี่ยงที่จะถูกเกณฑ์ทหาร รวมถึงค่าแรงที่ลดลง กับแนวโน้มความขัดแย้งที่ทำให้คนในประเทศต้องอพยพ จะยิ่งส่งผลกระทบต่อทุกภาคส่วน
คิม เอ็ดเวิร์ดส์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโส และหัวหน้าโครงการเมียนมา ธนาคารโลก กล่าวว่า สภาพแวดล้อมทางธุรกิจที่ยากลำบากในเมียนมา เป็นอุปสรรคสำคัญต่อการผลักดันโครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่
มาเรียม เชอร์แมน ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำเมียนมา อธิบายว่า สถานการณ์เศรษฐกิจของเมียนมายังคง “เปราะบาง” ครัวเรือนเมียนมาเผชิญความยากลำบากอย่างมาก และโอกาสที่จะบรรเทาความยากจนในระยะสั้นถึงปานกลางนั้นยังมีข้อจำกัด
“การพลัดถิ่น การสูญเสียงาน และการสูญเสียรายได้ ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความพยายามลดความยากจนในเมียนมา ทำลายความก้าวหน้าที่เคยเกิดขึ้นในอดีต”
รวมทั้งอัตราความยากจนสำหรับปี 2566-2567 อยู่ที่ 32.1% ซึ่งเป็นระดับความยากจนปี 2558 เพราะกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ซบเซา ราคาสินค้าที่สูง และตลาดแรงงานที่อ่อนแอ ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนอย่างหนัก
"ความรุนแรงของความยากจนเลวร้ายลงในปีช่วงปีที่ผ่านมา ซึ่งหมายความว่าขณะนี้ความยากจนฝังรากลึกมากกว่าช่วงเวลาใดในรอบ 6 ปีที่ผ่านมา"
พิสูจน์อักษร....สุรีย์ ศิลาวงษ์